ปลัดเก่งปลุก “คนสิงห์มหาดไทยรุ่นใหม่” พร้อมทำหน้าที่ในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดูแลทุกข์สุข ย้ำต้องทำตัวเหมือนรวงข้าวโน้มลงหาพระแม่ธรณียิ่งใกล้ชิดติดดินมากคือ การนอบน้อมต่อประชาชนดูแลดุจญาติมิตร
เมื่อเมื่อวันอังคารที่ 6 กันยายน 2565 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ป็นประธานเปิดโครงการปฐมนิเทศข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยที่อยู่ระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ และข้าราชการที่โอนมารับราชการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ปฐมบท คนมหาดไทย” ผ่านระบบออนไลน์ มีข้าราชการเข้ารับการอบรมจำนวน 76 ราย ระหว่างวันที่ 5 – 9 กันยายน 2565 ณ กระทรวงมหาดไทย และวิทยาลัยมหาดไทย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นหลักสูตรติวเข้ม “คนสิงห์มหาดไทยรุ่นใหม่” เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับข้าราชการให้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานราชการอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมด้วย ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายบุญธรรม ถาวรทัศนกิจ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ เป็นผู้กล่าวรายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของโครงการฯ
.
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับทุกท่านที่ได้เข้ามาสู่รั้วมหาดไทยและเป็นครอบครัวสิงห์มหาดไทย สิ่งที่เป็นจุดแข็งของคนไทย คือ วัฒนธรรมการเป็นพี่เป็นน้องกัน คำว่าพี่น้อง มีนัยยะที่สำคัญ หมายถึง ความสัมพันธ์ความรัก ความปรารถนาดีที่มีต่อกัน หากเราไม่มีความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน ก็จะอยู่ร่วมกันได้ยาก คำว่า “มหาดไทย” มีความหมายในอีกมุมหนึ่ง “ไทย คือ ใจ” “มหาด คือ ใหญ่” ดังนั้น คนมหาดไทยจะต้องมีความรัก ความปรารถนาดีต่อผู้คนทั้งหลายทั้งปวง และเป็นเป้าหมายที่เราจะต้องพัฒนาตัวเอง ทั้งในเรื่องของความประพฤติ การดูแลสุขภาพพลานามัย การทำงาน การหาวิชาความรู้ และต้องเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ
.
“ตำแหน่งแรกที่บรรจุเข้ารับราชการคือตำแหน่งที่สำคัญที่สุด” ดังนั้น ต้องทุ่มเท เพื่อแสดงออกถึงความรับผิดชอบ งานของกระทรวงมหาดไทยมีตลอด 24 ชั่วโมง คนมหาดไทยจะถูกสอนให้พร้อมปฏิบัติงานได้ทุกเวลา ควบคู่ไปกับการศึกษาเรียนรู้ในเรื่องของภูมิสังคม ตามที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงสอนหลักการทำงาน โดยภูมิสังคม ประกอบไปด้วย ภูมิศาสตร์ สภาพแวดล้อมของที่ทำงาน ที่ตั้งของที่ทำงาน ประการสำคัญต่อมา คือ สังคมศาสตร์ ซึ่งหมายถึง ผู้คน ความเชื่อความนิยม หรือบรรทัดฐาน ของที่ทำงานในแต่ละพื้นที่ ก็ต้องศึกษาเป็นเบื้องต้น สิ่งไหนดีก็ควรทำ สิ่งไหนไม่ดีก็ควรหลีกเลี่ยง ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเสริม
.
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ใจ” คนมหาดไทยต้องมี Passion หรือมีอุดมการณ์ในการที่จะทำหน้าที่ในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะช่วยกันดูแลทุกข์สุข บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชน ดังที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ให้พระบรมราโชวาท ว่า “…การทำงานทุกอย่างย่อมต้องมีปัญหาข้อขัดข้องเกิดขึ้นบ้างเป็นเรื่องปรกติธรรมดา แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะต้องรีบปฏิบัติแก้ไขไม่ปล่อยทิ้งไว้ให้เกิดความเสียหายแก่งานได้ ผู้ปฏิบัติบริหารงานจึงต้องเอาใจใส่ติดตามผลการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด จักได้ทราบถึงปัญหาสาเหตุที่เกิดขึ้นและปฏิบัติแก้ไขได้ถูกต้องทันท่วงที…” ซึ่งในการทำงานจะต้องมุ่งหวังที่จะแก้ไขในสิ่งที่ผิด เพื่อให้งานที่เรารับผิดชอบนั้นบังเกิดประโยชน์ต่อส่วนตนและส่วนรวม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวอีกว่า ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องประกอบไปด้วยความสามารถ (Ability) ความรู้ (Knowledge) และทัศนคติ (Attitude) หากมีความสามารถ มีความรู้ แต่ทัศนคติไม่ดีก็จะเกิดความสำเร็จไม่ได้ ซึ่งเป็นแนวคิดของ Dr.Kazuo Inamori บุคคลต้นแบบการพัฒนางานจากประเทศญี่ปุ่น ข้าราชการต้องมีทัศนคติที่พร้อมจะช่วยเหลือองค์กร แก้ไขปัญหา พัฒนางานให้ดียิ่งขึ้นไป ดังนั้น ทัศนคติคือเรื่องที่สำคัญในการพัฒนาตนเองและองค์กร ซึ่งเราสามารถพัฒนาทัศนคติได้ องค์ประกอบที่สำคัญต่อมา ที่จะช่วยให้เกิดความสำเร็จได้ คือ ความสามารถ (Ability) ความรู้ (Knowledge) ซึ่งทุกคนมีเหมือนกันหมดแตกต่างกันตรงที่มีมากหรือน้อยต่างกันไป แต่มนุษย์ทุกคนสามารถฝึกฝนพัฒนาได้ ดังภาษาบาลีว่า “อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ” ทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบภายในและภายนอกที่ถูกขับเคลื่อนโดย Passion ถ้าไม่มี Passion ก็จะขับเคลื่อนไม่ได้จึงจำเป็นต้องสร้างให้เกิดขึ้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้าราชการจำเป็นต้องทำตัวให้เป็นรวงข้าวโน้มลงหาพระแม่ธรณี รวงข้าวยิ่งใกล้ชิดติดดินมากเท่าไหร่ยิ่งหมายถึงรวงข้าวที่มีเมล็ดข้าวมากที่สุด คือ การนอบน้อมต่อพี่น้องประชาชน เข้าถึงพี่น้องประชาชน การดูแลประชาชนดุจญาติมิตร และข้าราชการต้องหมั่นศึกษาหาความรู้จากงานที่ได้เคยทำมาผ่านผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน เอกสารต่าง ๆ และสามารถหาอ่านได้จากหนังสือ “การเขียนหนังสือราชการ: ความรู้พื้นฐานในการเขียนหนังสือติดต่อราชการ” ของท่านประวีณ ณ นคร ผู้เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ. ไว้เพิ่มพูนความรู้ด้วย ซึ่งระบบราชการจะมีวงรอบของการทำงาน ตั้งแต่ 1 ตุลาคมถึง 30 กันยายน ปีถัดไป งานราชการจะมีลักษณะเป็นวัฏจักรสามารถศึกษาได้จะทำให้เรามีความรู้ (Knowledge) เพิ่มพูนขึ้น ดังเช่นที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้จัดตั้งคลังสมอง โดยนำความรู้จากผู้อาวุโสที่มีความรู้ในด้านต่าง ๆ มาทำงานด้วยจิตอาสา ให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ เพื่อที่จะให้เกิดการพัฒนา สิ่งดี ๆ ให้กับสังคม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงหน้าที่ที่สำคัญของคนมหาดไทย คือ การพัฒนาคน เพื่อให้มีความอยู่ดีกินดี สอนให้ประชาชนรู้จักเลี้ยงปลา หาปลา จับปลา ไม่ใช้การแจกปลา หมายถึง การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนมีความสามารถ (Ability) ทัศนคติ (Attitude) และความรู้ (Knowledge) เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งการจะทำให้ประสบความสำเร็จได้ ใจต้องมาก่อนกาย “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ต้องมีใจอยากบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เป็นราชสีห์ผู้จงรักภักดีต่อแผ่นดิน เป็นข้าราชการที่ดีของพระราชาที่จะทุ่มเทอุทิศกาย อุทิศใจ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขอย่างเต็มที่ ดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งที่กระทรวงมหาดไทยครบรอบ 100 ปี ความว่า “…หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยพูดอย่างรอบรัดคือการอำนวยความสุขสวัสดีแก่ทวยราษฎร์และการอำนวยความสุขสวัสดิ์ดีที่ทำอยู่นั้น อาจจำแนกตามประเภทงานได้เป็น 4 ด้าน คือ การอำนวยความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การพัฒนาอาชีพและฐานะความเป็นอยู่ การพัฒนาจิตใจให้อยู่ร่วมกันได้ ด้วยความสุขและความสามัคคีปรองดอง และการให้การศึกษาเพื่อสร้างอนาคตที่แจ่มใส…” ดังนั้น คนมหาดไทยต้องทำทั้งยาฝรั่งและยาไทย ยาฝรั่ง คือ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ยาไทย คือ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างยั่งยืนในระยะยาว ทั้งสองอย่างต้องดำเนินควบคู่กันไป นอกจากนั้น คนมหาดไทยยังมีหน้าที่เป็นโซ่ข้อกลาง เป็นผู้จัดการ เป็นผู้บริหาร ในการพัฒนาคนในด้านต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามความสามารถเพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลตนเองได้ ดังนั้น จงภาคภูมิใจที่ท่านเป็นคนมหาดไทย และขอให้พัฒนาตนเองให้เป็นคนที่มี Passion ที่จะทำสิ่งที่ดีที่จะ Change for Good ให้เกิดขึ้นต่อประเทศชาติ ต่อองค์กรต่อพี่น้องประชาชน
“ปัจจัยความสำเร็จในการทำงาน ข้าราชการต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ในการที่จะ Change for Good ทำให้มีอุดมการณ์ (Passion) ที่จะผลักดันขับเคลื่อนงาน และมีทัศนคติ (Attitude) ที่ดีในการทำงานเพื่อประชาชน นอกจากนั้นแล้ว ต้องอาศัยหลัก R-E-R เข้ามาใช้ในการบริหารงาน โดยสามารถแยกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1) งานประจำ (Routine Jobs) เนื่องจากผู้ปฏิบัติมีความคุ้นชินเป็นปกติ ทำให้ละเลยการพัฒนาในหน้าที่นั้นๆ ทำให้ไม่เกิดการพัฒนางาน ทำให้ดี ทำให้เสร็จ ทำให้ทันเวลา 2) งานพิเศษ/งานสำคัญ/งานเสริม (Extra Jobs) ซึ่งเป็นงานที่นอกเหนือจากงานประจำ เป็นงานที่ต้องอาศัยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งต้องใช้หัวใจในการทำงาน ผู้ปฏิบัติงานต้องมี อุดมการณ์ (Passion) และ ทัศนคติ (Attitude) เป็นสิ่งสำคัญ ต้องมีความตั้งใจที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับองค์กรและประชาชน เพื่อช่วยกัน Change for Good ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติ และ 3) การรายงาน (Report) ข้าราชการต้องทำหน้าที่สื่อสารให้เกิดการรับรู้ รับทราบถึงสิ่งที่ดีๆ สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่องค์กรและ 7 ภาคีเครือข่าย อันได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน ได้ร่วมกันทำ โดยสามารถทำได้ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ และสิ่งที่สำคัญคือ ทุกคนสามารถถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียได้ ทุกคนสามารถเป็นสื่อมวลชนได้ ร่วมกันประชาสัมพันธ์สิ่งที่ดีๆ ที่องค์กรเราได้ทำ และรวบรวมความเห็นของพี่น้องประชาชนนำกลับมาปรับปรุงกระบวนการการทำงานขององค์กรให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการสื่อสารสองทางระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับประชาชน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม และยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า
“เราต้องพร้อมที่จะยกย่องให้เกียรติคนอื่นและดึงดูดคนให้มาร่วมทำงานด้วยกัน มาร่วมกันช่วยเหลือพัฒนาสังคม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จะต้องมีทัศนคติ (Attitude) ที่ดี เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น สามารถทำให้ทั้ง 7 ภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วม (Participation) หากมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เราก็จะสามารถทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ (Impossible – I’m possible) ท้ายที่สุด หน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดีที่สุด คือ การทำให้ผู้บังคับบัญชาสามารถทำตามสิ่งที่เราอยากให้ทำได้ เราต้องเป็นคนที่มีแรงปรารถนาที่จะทำในสิ่งที่ดี รวมทั้งศึกษาหาแนวทางหาวิธีการอย่างเป็นระบบ เพื่อทำให้สิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับประเทศชาติและประชาชน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้าย
Leave a Reply