วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน 2564 เครือข่ายนักสันติวิธีโดยวิถีศาสนาและประเพณี (The Network for Religious and Traditional Peacemakers) องค์กรนานาชาติของกลุ่มนักสันติวิธีในแวดวงศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี จัดการประชุมเกี่ยวกับนโยบายเสรีภาพในศาสนาและความเชื่อและแนวทางปฏิบัติ ตั้งแต่วันที่ 8-9 มิถุนายน 2564 เวลา 19.00 – 21.00 น. ตามเขตเวลา Indochina Time (GMT+7:00) การประชุมวาระสุดท้ายนี้ถือเป็นบทสรุปเพื่อเข้าสู่โครงการที่สนับสนุนทุนโดยสหภาพยุโรปในชื่อ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: การยกระดับการสนทนาข้ามศาสนา และเสรีภาพในศาสนาและความเชื่อ” (Southeast Asia: Advancing Inter-Religious Dialogue and Freedom of Religion or Belief: SEA-AIR) ภายใต้การดำเนินโครงการนี้ เครือข่ายนักสันติวิธีโดยวิถีศาสนาและประเพณีมุ่งส่งเสริมให้เกิดฉันทามติและสภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการปกป้องเสรีภาพในศาสนาและความเชื่อ ตลอดจนการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของกลุ่มคนและปัจเจกชนที่นับถือศาสนาแตกต่างกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หนึ่งในองค์ประกอบของงานวิจัยโครงการและแผนการทำงานของกลุ่มพันธมิตรคือการจัดกิจกรรมเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เพื่อดึงดูดบรรดาผู้มีส่วนร่วมที่สำคัญมาร่วมกัน สร้างทักษะและขีดความสามารถในการส่งเสริมเสรีภาพในศาสนาและความเชื่อในกลุ่มประเทศเป้าหมายและพื้นที่อื่น ๆ ในภูมิภาค ตลอดจนสนับสนุนชนกลุ่มน้อยทางศาสนาให้สามารถเรียกร้องเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสร้างสรรค์และเข้าถึงจิตใจผู้คน กิจกรรมเหล่านี้ยังดึงดูดผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด ผู้นำศาสนา และผู้กำหนดนโยบายคนสำคัญในระดับภูมิภาคให้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสร้างความั่นใจว่าคุณค่าและความสำคัญของเสรีภาพในศาสนาและความเชื่อจะเป็นที่รับรู้ในหมู่คนหลายระดับในทุกภาคส่วน
การประชุมในครั้งนี้จะเป็นการสานต่อภารกิจการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนาซึ่งรวมถึงเอกสารสรุปเนื้อหาเรื่องเสรีภาพในศาสนาและความเชื่อทั้งในระดับภูมิภาคและเฉพาะประเทศซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2019 และเอกสารสรุปเนื้อหานโยบายเสรีภาพในศาสนาและความเชื่อในแง่มุมเรื่องเพศ สิทธิชนกลุ่มน้อย การศึกษา และโซเชียลมีเดีย ตลอดจนนำเสนอแนวคิดเรื่องเสรีภาพในศาสนาและความเชื่อโดยตรง การสนับสนุนเชิงเทคนิคผ่านการทำงานร่วมกันให้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุม
การประชุมครั้งนี้เป็นการวมตัวของกลุ่มผู้กำหนดนโนบาย คณะผู้แทนของสหประชาชาติ และนักสร้างสันติจากทั่วภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งเพื่อการนำเสนอโครงการของกลุ่มสามัญชนและโครงการสร้างสันติระดับภูมิภาค การหารือเพื่อส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการมอบข้อเสนอแนะต่อนโยบายระดับภูมิภาค การประชุมจะจัดในรูปแบบเสมือนจริงและแบ่งเป็นการประชุมแบบอินเตอร์แอ็กทีฟ 2 ช่วงๆ ละ 2 ชั่วโมงตลอด 2 วัน
“เป้าหมายของการประชุมครั้งนี้คือการเน้นย้ำถึงข้อเสนอแนะแก่บรรดาผู้กำหนดนโยบาย” นายฟิลิป กัสเซิร์ต ผู้จัดการโครงการ กล่าว “การประชุมจะเป็นการพูดคุยในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การผลักดันกลุ่มคนสู่ชายขอบสังคมและการแบ่งแยกจากอัตลักษณ์บุคคล อัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรมและศาสนา ความท้าทายทางการศึกษา และหัวข้ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เราต้องการทบทวนแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดและบทเรียนที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อยกระดับการสร้างฉันทามติทางสังคมและเสรีภาพในศาสนาและความเชื่อทั่วภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
การประชุมวาระสุดท้ายครั้งนี้จะเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสนับสนุนจากพันธมิตรที่ร่วมดำเนินโครงการ SEA-AIR อาทิ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, World Council on Religion for Peace, Islamic Relief Worldwide และ World Faiths Development Dialogue
Leave a Reply