รายงานพิเศษ : “มจร” ในวันวานกับวันนี้!! “มจร” หรือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์สังกัดฝ่าย “มหานิกาย” ที่เพิ่งได้รับการจัดอันดับจากองค์กรต่างประเทศให้อยู่ในอันดับที่ 29 จาก 123 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทย กำลังจะมีงานประสาทปริญญาขึ้นระหว่างวันที่ 9 -10 ธันวาคม 2566 นี้ ทุกปีเทศกาลสำคัญแบบนี้ “มจร” บรรยากาศจะคึกคักเป็นพิเศษเพื่อจัดเตรียมงานสำคัญแบบนี้ตั้งแต่อธิการบดี รองอธิการบดี คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ลงมือช่วยกันเต็มที่ เพื่อรองรับงานการจัดงาน และทุกปีจะมีพระสงฆ์ทั้งไทยและนานาชาติรวมทั้งประชาชน มาร่วมงาน 1-2 หมื่น รูป/คน สำหรับนิสิตผู้สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2566 นี้ รวมทั้งสิ้น 4,628 รูป/คน จำแนกเป็นปริญญาตรี 3,177 รูป/คน ปริญญาโท 990 รูป/คน และปริญญาเอก 461รูป /คน ใน 4,628 รูป/คนนี้ มีผู้ลงทะเบียนเข้ารับประทานปริญญาบัตรทิ้งสิ้น 3,108 รูป/คน แยกเป็นบรรพชิต 1,671 รูป และคฤหัสถ์ 1,437 คน อันนี้ไม่นับรวมผู้มีชื่อเสียงทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ที่สภา “มจร” อนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เข็มเกียรติคุณ ซึ่งมาจากทั่วโลกอีก 117 รูป/คน โดยแบ่งเป็นปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 74 รูป/คน และเข็มเกียรติคุณ 43 รูป/คน “ผู้เขียน” เพิ่งทราบครั้งแรกว่าประเภท “เข็มเกียรติคุณ” ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมอบให้กับผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์เพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม มันคือ “ทองคำแท้” และเป็นหนึ่งเดียวในมหาวิทยาลัยไทยที่ให้เกียรติมอบให้แบบนี้ ทุกปี “มจร” จะจัดงาน 3 วันเป็นอย่างน้อย คือ วันซ้อม 1 วันและวันรับจริง 2 วัน คือ แบ่งออกเฉพาะปริญญาตรี 1 วัน และอีกวันเป็นจำพวกปริญญาโท-ปริญญาเอก และสถาบันสมทบ สำหรับปีนี้ลดเหลือ 2 วัน คือ วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2566 เป็นวันซ้อมใหญ่ทั้งภาคเช้าและบ่าย ส่วนวันที่ 10 ธันวาคม 2566 ภาคเช้าผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโทและอภิธรรมบัณฑิต จะรับจากผู้แทนสมเด็จพระสังฆราช คือ “สมเด็จพระมหาธีราจารย์” ส่วนภาคบ่าย “สมเด็จพระสังฆราช” จะเสด็จมาประทานปริญญาบัตรให้แก่กลุ่มผู้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เข็มเกียรติคุณ ปริญญาเอก และสถาบันสมทบ สถานที่จัดงานคาดว่า “พรึบ” เหมือนเดิมทั้งจาก มจร ส่วนกลาง ภูมิภาค สถาบันสมทบ และรวมทั้ง “ซุ้มสีสัน” ของพระนิสิตนานาชาติ ซึ่งบางชาติพันธุ์นำนักร้อง เครื่องดนตรีประจำชาติมา “จัดเต็ม” สีสันสนุกสนานยิ่งกว่าหน่วยงาน “ภาครัฐ” บางแห่งจัด เพราะหากจะว่าไปแล้วสิ่งเหล่านี้คือ “Soft Power” ที่มาจากแก่นแท้ของหัวใจ ทั้งการประดับซุ้ม ทั้งการแต่งกายของชาติพันธุ์ที่มาร่วมงานรับปริญญา หรือแม้กระทั้งการร้องรำทำเพลง ตามซุ้มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งคิดว่ามหาวิทยาลัยอื่น นอกจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยแล้ว..คงไม่มี ส่วน “โรงทานฟรี” ตลอดงาน เหมือนเดิม เจ้าภาพยืนพื้น คือ มี มูลนิธิร่วมกตัญญู แม่ชีทศพร วชิรบำเพ็ญ มูลนิธิโพธิวัณณา รับประทานได้ตลอด 24 ชั่วโมง “มจร” หรือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสถาปนาขึ้น เมื่อปีพุทธศักราช 2430 เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงสำหรับพระภิกษุ สามเณรและคฤหัสถ์ ต่อมา ในปีพุทธศักราช 2540 ได้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้มีสถานภาพเป็นนิติบุคคล และเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา วิจัย ส่งเสริมและให้บริการทางวิชาการพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ รวมทั้งการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มี พระพรหมวชิราธิบดี ดำรงตำแหน่ง นายกสภามหาวิทยาลัย พระพรหมบัณฑิต ดำรงตำแหน่ง อุปนายกสภามหาวิทยาลัย และมี “พระธรรมวัชรบัณฑิต” ดำรงตำแหน่งอธิการบดี จัดการศึกษาแบ่งออกเป็น 5 คณะ ประกอบด้วย บัณฑิตวิทยาลัย คณะพุทธศาสตร์ ครุศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์ มี 11 วิทยาเขต 30 วิทยาลัย 1 โครงการขยายห้องเรียน และ 1 หน่วยวิทยบริการ นอกจากนี้ ยังมีสถาบันสมทบในต่างประเทศ 5 แห่ง มีจำนวนทั้งหมด 293 หลักสูตร โดยจำแนกเป็น ปริญญาตรี 170 หลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิต 2 หลักสูตร ปริญญาโท 78 หลักสูตร ปริญญาเอก 43 หลักสูตร มีอาจารย์ทั้งหมด 1,351 รูป/คน จำแนกเป็นปริญญาโท 493 รูป/คน ปริญญาเอก 805 รูป/คน และมีตำแหน่งทางวิชาการ จำนวน 473 รูป/คน จำแนกเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ 348 รูป/คน รองศาสตราจารย์ 117 รูป/คน และศาสตราจารย์ 8 รูป/คน ผลิตผลงานวิชาการตีพิมพ์เผยแพร่ 1,276 เรื่อง มีนิสิตทั้งสิ้น 19,704 รูป/คน จำแนกเป็น ปริญญาตรี 14,246 รูป/คน ปริญญาโท 3,427 รูป/คน ปริญญาเอก 2,031 รูป/คน ในจำนวนนิสิตทั้งสิ้นมีนิสิตชาวต่างประเทศ 1,383 รูป/คน จาก 28 ประเทศ และใน 28 ประเทศนี้ โดยเฉพาะจากนิสิตจาก “ประเทศเมียนมา” มีชนชาติพันธุ์อีกหลายสิบชาติพันธุ์ที่มาเรียนที่ มจร เฉพาะชาติพันธุ์ “ไทใหญ่” มีผู้มาศึกษาที่ มจร มากกว่า 300 รูป/คน ส่วนชาติพันธุ์มอญของ “ผู้เขียน” รวมทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์มีแค่ 59 รูป/คน บทบาท “มจร” ยุคนี้ “เนื้อหอม” บันไดไม่แห้ง โดยเฉพาะ พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ ต้อนรับแขกนานาชาติทั้งพระสงฆ์ คฤหัสถ์ มีการจัดจัดงานทั้งงานของ มจร และภาคีข้างนอก โดยเฉพาะงานของ “มหาเถรสมาคม” รองอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศเดินสายไปต่างประเทศตามคำเชิญของคณะสงฆ์ ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ นานาชาติ ยิ่งกว่า “รัฐมนตรีต่างประเทศ” ของไทยเสียอีก เมื่อเรามองพัฒนาการของ “มจร” มีการแบ่งช่วงเวลา ตั้งแต่ พ.ศ. 2430 ซึ่งเป็น ยุคก่อตั้งมหาวิทยาลัย จนถึงปัจจุบันผ่านมาแล้วอย่างน้อย 7 ยุคสมัย คือ ยุคก่อตั้งมหาวิทยาลัย ยุคริเริ่มการจัดการศึกษา ยุคปรับปรุงและขยายการศึกษา ยุครับสถานะมหาวิทยาลัยและปริญญาบัตร ยุคมี พ.ร.บ.มหาวิทยาลัย ยุคเข้าสู่ศูนย์กลางมหาวิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ ยุคพัฒนาความรุ่งเรืองของการเป็นศูนย์กลางมหาวิทยาลัย และปัจจุบันภายใต้การนำของ “พระธรรมวัชรบัณฑิต” กำลังเข้าสู่ยุค “มหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาพระพุทธศาสนาบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่และสร้างพุทธนวัตกรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม” “ผู้เขียน” เข้าเรียนและจบจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในยุคที่คนในสังคมบางคนอาจจะตีตราว่า “มหาวิทยาลัยเถื่อน” ก็ว่าได้ เพราะเข้าเรียนในปี 2539 ตอนนั้นเรายังไม่มี พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยและหลักสูตรที่เรียนคือ “สาขารัฐศาสตร์” หน่วยงานภาครัฐอย่าง ก.พ. ก็ยังไม่รับรอง แต่เรียนเพราะ “ใจรัก” การเมือง ยุคก่อนฆราวาสมาเรียน “มจร” น้อยมากหรือแทบไม่มี ไม่เหมือนยุคนี้ จากสถิติรับปริญญาปี 2566 นี้เกือบเท่าเพศบรรพชิต แต่ยุคหลัง “มจร” มี พ.ร.บ.เป็นของตนเอง ได้รับงบสนับสนุนจากรัฐเต็มเม็ดเต็มหน่วย มีญาติโยมอุปถัมภ์ค้ำชูโดยเฉพาะ “นพ.รัศมี -คุณหญิงสมปอง วรรณิสสร” มอบที่ดินให้กับ “มจร” ที่วังน้อยแล้ว “มจร” ก็เหมือน “พยัคฆ์ติดปีก” พุ่งแบบก้าวกระโดด ยิ่งตอน “พระพรหมบัณฑิต” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จับงาน “วิสาขบูชาโลก” แล้วมาจัดกิจกรรมที่ประเทศไทยทุกปี นอกจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยโด่งดังกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาโลกแล้ว ประเทศไทยก็ถูกยกให้เป็น “ศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก” ด้วย หมายความว่าคณะสงฆ์นานาชาติ ทั้งเถรวาท มหายาน กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน ยกให้ประเทศไทย “ยืนหนึ่ง” ในการเป็นผู้นำชาวพุทธโลก ทุกวันนี้จึงไม่แปลกที่ คณะสงฆ์นานาชาติ ผู้นำประเทศอีกหลายประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา หรือแม้แต่ผู้นำศาสนาคริสต์ อิสลาม ประมุขสงฆ์บ้าง เอกอัครราชทูตบ้าง ทูต อุปทูตบ้าง มาเยี่ยมมาเยียนมาแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้กับ “มจร” แทบไม่ขาดสาย.. และปัจจุบัน “คณาจารย์” มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีหลายคณะ หลายรูปหลายคน จะสังเกตเห็นว่า เริ่มเป็น “นักการตลาด” มิใช่สอนหนังสืออยู่ในห้องอย่างเดียวเท่านั้น เดินสายแนะแนวคณะ แนะแนวหลักสูตร แนะนำ “มจร” ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น IBSC วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มีนักศึกษาหลายร้อยคนทั้งจากเวียดนามและเมียนมา หรือแม้แต่คณะมนุษยศาสตร์ ก็เริ่มตีตลาดประเทศเมียนมา และประเทศจีน อันนี้ “ผู้เขียน” ต้องขอชื่นชมว่าคณาจารย์เหล่านี้มี “วิสัยทัศน์” หาญกล้าที่ออกจากกรอบวิ่งหาลูกค้า คือ นักศึกษา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม “มจร” ตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งเรื่องสถานที่ ทั้งเรื่องงบประมาณ เงินเดือน หลักสูตรการศึกษา การเป็นอยู่ของคณาจารย์ และรวมทั้งพระนิสิต นิสิต ที่มีหอพักหลายหลัง รวมทั้งหอพักสำหรับอาจารย์ด้วย สมัยที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ หากจำไม่ผิดจ่ายค่าเทอมเพียงเทอมละประมาณ 1,700 บาท พวกเราไม่มี “รถเมล์ฟรี” บริการดังทุกวันนี้ หรือโอกาสนั่งรถเมล์เหมือนคนทั่วไป เพราะธรรมชาติรถเมล์เวลาเจอพระไม่ค่อยรับและยิ่งรถเมล์ที่มีแอร์ยิ่งไม่อยากรับ พระนิสิตรุ่นผู้เขียนสมัยนั้นต้องนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาไปลงที่ท่ารถไฟข้าง ๆ โรงพยาบาลศิริราช มีรถเมล์เก่า ๆ สีเหลืองอยู่ 2 คัน จะมาค่อยรับส่งพระนิสิตที่ท่าเรือแห่งนี้ ไปเรียน ณ “ศูนย์วัดศรีสุดาราม” เมื่อถึงเวลาค่ำ ๆ ก็นั่งรถกระเป๊าะคันเล็ก ๆ กลับมายังท่าเรือแห่งนี้และอาศัย “เรือด่วนเจ้าพระยาฟรี” เพื่อกลับวัด ยุคสมัยนั้น “หลักสูตรรัฐศาสตร์” ของ มจร ยังไม่ถูกรับรองจากรัฐบาล มักมีรุ่นพี่มาเล่าประสบการณ์ไปทะเลาะกับคนสำนักงาน ก.พ.ประจำ เพราะบางคนสึกออกไปแล้วไปสอบปลัดอำเภอบ้าง สอบเข้าราชการบ้าง “สาขารัฐศาสตร์” บางคนสอบติดแต่เวลาตรวจสอบวุฒิการศึกษาปรากฎว่า “หลักสูตร กพ.ไม่รับรอง” หน่วยงานรัฐก็ไม่สามารถรับเข้าทำงานได้ ถึงจะเก่งและมีความรู้ก็ตาม หรือแม้กระทั้งพระอาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของเราที่จบมาจาก ประเทศอินเดียหรือศรีลังกา ก็มักจะโดนดูถูกดูแคลนจากหน่วยงานของรัฐบางหน่วยงานว่า “ด้อยคุณภาพ” ไม่รับรองวุฒิให้ จะเข้าสมัครมหาวิทยาลัยที่พอมีเงินเดือนดีบ้างก็เปรียบเสมือนชีวิตพระภิกษุ-สามเณรจากต่างจังหวัดเมื่อ 30 – 40 ปีก่อน จะหาวัดอยู่เรียนหนังสือในกรุงเทพ “ห้องว่างแต่เจ้าอาวาสไม่ให้อยู่” ประมาณนั้น สถาบันการศึกษาอันทรงเกียรตินี้ผ่านการอุทิศและการเสียสละของพระเถระผู้ใหญ่มาแล้วรุ่นต่อรุ่น รวมทั้งคณาจารย์ยุคที่ไม่มีเงินเดือน บางท่านไม่มีเงินเดือนไม่พอ ยังต้องหาเงินจากภายนอกมาช่วยสนับสนุนด้วย ตอนนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้ว 136 ปี แกร่งขึ้น เข้มแข็งมากขึ้น เชี่ยวชาญยิ่งขึ้น และถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย “ผู้เขียน” ในฐานะศิษย์เก่าขอแสดงความยินดีและขอขอบคุณผู้บริหารทุกท่านที่ “ผลิตพวกเราออกมา” จนกล้าประกาศเลยว่า “พวกเรามีดีและมีองค์ความรู้ไม่แพ้สถาบันใด ๆ ” ในประเทศนี้ รวมทั้งขอแสดงความยินดีกับศิษย์รุ่นน้องที่จะเข้ารับปริญญาในวันที่ 9-10 ธันวาคมนี้ทุกรูป ทุกท่าน ส่วนหลังจบแล้วจะรับใช้พระพุทธศาสนาหรือจะลาสิกขาก็ไม่มีใครว่า เพราะในโลกข้างนอก “ความรู้และคุณธรรม” บวกกับความอดทน มีความรับผิดชอบ สู้งาน ที่เราได้รับมาจากสถาบันแห่งนี้ “คุ้มกะลาหัว” ได้เป็นอย่างดี!! จำนวนผู้ชม : 3,307 Leave a ReplyFacebook Comments More Articles By the same author มหาวิทยาลัยพุทธไทย-เกาหลีใต้ จับมือกระตุ้นประยุกต์ใช้สติตอบโจทย์สังคมโลก อุทัย มณี ส.ค. 28, 2022 มหาวิทยาลัยพุทธไทย-เกาหลี จับมือจัดวิชาการนานาชาติภายใต้กรอบ… เจ้าอาวาสวัดเขียนเขตมอบทุนการศึกษาแบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจผู้ปกครอง อุทัย มณี ส.ค. 18, 2022 พระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต ปธ.อนุกรรมการโครงการวัด… วัดพระธรรมกายถวายสังฆทานออนไลน์แด่ “คณะสงฆ์ 323 วัดชายแดนใต้” อุทัย มณี พ.ย. 27, 2021 วันที่ 27 พ.ย. 64 คณะสงฆ์จังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส หน่วยงานภาครัฐ… พรรคถิ่นกาขาวชาววิไลได้เบอร์ 46 หวังชาวพุทธในไทยกว่า 95% หนุนทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา อุทัย มณี เม.ย. 04, 2023 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 ที่ลานพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร… ร.ร.แสงเหนือสวีเดนนิมนต์พระธรรมทูตบรรยายฝึกปฏิบัติสมาธิ อุทัย มณี พ.ย. 30, 2018 เมื่อวันที่30 พ.ย.2561คณะครูโรงเรียนแสงเหนือ (Norrskenets Friskolan)เมืองโบเดน… ด่วน!! สธ.ประกาศผู้ใดเดินทางมาจาก 9 ประเทศต้องกักตัว 14 วัน โดยไม่มีข้อยกเว้น อุทัย มณี มี.ค. 03, 2020 วันนี้ (3 มี.ค.63 ) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข… นิสิต’มจร-มมร.จัดโครงการ น้ำใจไทยอีสาน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม อุทัย มณี ก.ย. 24, 2019 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 พระปลัดอภิเชษฐ์ สุภทฺรวาที ประธานยุทธ์ศาสตร์โครงการน้ำใจไทอีสาน… ฝากถึง!! เจ้าอาวาสรูปใหม่ “วัดสระเกศ” อุทัย มณี มี.ค. 28, 2022 มหกรรมศึกวัน “ธงชัย” เรียบร้อยไปแล้ว เป็นไปตามเป้าหมายความต้องการของชนชั้นอำนาจเข้าไปยึด “ภูเขาทอง” ได้สำเร็จ… ครอบครัวสันติภาพสาธุดังๆ! “พระมหาไพรวัลย์-พระมหาสมปอง” สมัครเรียนออนไลน์ ป.เอก สันติศึกษา”มจร” อุทัย มณี มิ.ย. 18, 2020 วันที่ 18 มิ.ย.2563 พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา… Related Articles From the same category “พระพุทธรักขิตะ”จากยูกันดา เตรียมเข้ารับประทานปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย… กมธ.ศาสนาฯสภาฯจัดสัมมนา “ทิศทางการศึกษาร.ร.พระปริยัติธรรมภายใต้พรบ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2562” เมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ.2566 ณ ห้องประชุมโรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา… เปิดฉายา..พระสงฆ์ประจำปี’66 การตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปี หรือ การตั้งฉายานักการเมืองประจำรัฐสภาหรือแม้กระทั้งวงการ… แจกเหรียญฟรี!..ปลามหาลาภ เนื้อผงพุทธคุณปัดทอง วันที่ 9 เดือน 9 ณ ร้านก๋วยเตี๋ยว ลูกชิ้นปลานายเงี๊ยบ พุทธมณฑลสาย 4 พิธีสวดนพเคราะห์ตำรับหลวงพ่อพูล ณ ร้านก๋วยเตี๋ยว ลูกชิ้นปลานายเงี๊ยบ… ในหลวง-พระราชินี โปรดเกล้าฯ ให้เชิญดอกไม้ธูปเทียน – เครื่องไทยธรรมพระราชทานถวายแด่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วันที่ 22 ม.ค. 65 เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช…
Leave a Reply