กมธ.ศาสนาฯ ลงพื้นที่โคราช “ปิดจ๊อบ” ข้อพิพาทที่ดิน “ระหว่างหน่วยงานรัฐกับวัด 4 แห่ง”

         เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เผยว่า หลังจากที่ได้ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยการนำของ ส.ส.ประเสริฐ จันทรรวงทอง ประธานที่ปรึกษา กมธ. ส.ส.พรเพ็ญ บุญศิริวัฒนกุล รองประธาน กมธ. ส.ส.ศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ และคณะได้เดินทางสู่จังหวัดนครราชสีมา โดยมาศึกษาข้อเท็จจริงของวัด 4 แห่ง ประกอบด้วย วัดเขาเขื่อนลั่น วัดเขาน้อยคงคาราม วัดน้ำพุ และวัดถ้ำเขาวง สำหรับกรณีของ วัดเขาเขื่อนลั่น มีปัญหาข้อพิพาทที่ดินของราชพัสดุที่กรมราชทัณฑ์ ถือครอง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ที่เป็นตัวแทนของจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัด นางปุญชรัสมิ์ สินศักดิ์ชัย ธนารักษ์พื้นที่นครราชสีมา นายวินัย ปุณยรัชตปรีดา ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครราชสีมา รวมถึง นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการ สตง.ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีประทรวงยุติธรรม นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

       ผลการประชุมได้มีมติร่วมกันว่า กรมราชทัณฑ์,กรมชลประทาน,การรถไฟ.และกรมป่าไม้ ควรยึดถือแนวเดิมของวัด เพราะวัดเป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศไทยเราต้องมีควบคู่กับสถาบันหลักของชาติ

          ทั้งนี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส กล่าวว่าแต่โบราณมา เมื่อผู้ประสงค์ได้ถวายที่ดินวัดแล้วจะไม่ขอคืนเพราะจะถือว่าเป็นกรรมหนัก อีกทั้งตนเคยเป็น ผู้ว่าฯ สตง.มาก่อนเห็นว่าควรยึดสิ่งที่ถูกต้อง หากให้ตนมารื้อเรื่องราวอีกเรื่องก็จะยาวไปมากกว่านี้ เพราะตนเป็นคนชอบรื้อ

         ด้าน นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สิ่งที่พวกเราทุกคนร่วมกันทำในวันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่ทุกฝ่ายได้ตกลงไปในทิศทางเดียวกัน โดยตนเห็นว่าวัดกับกรมราชทัณฑ์ เป็นของคู่กัน เป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้มาแก้ปัญหาด้านจิตใจกับผู้ต้องขัง ตนจึงเข้าใจว่าทำไมในอดีตกรมราชทัณฑ์ จึงมีแนวคิดที่จะสร้างวัดในสถานที่บริเวณเขาเขื่อนลั่น นี่เพราะจะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาจิตใจ ทั้งผู้ต้องขังและเจ้าพนักงาน โดยที่ดินก็ยังเป็นของแผ่นดินดังเดิมแต่นำมาช่วยกันมาพัฒนาประเทศ โดยขั้นตอนต่อไป ธนารักษ์พื้นที่นครราชสีมาจะมาทำการรังวัดแนวเขตต่อไป

       สำหรับประเด็นของ วัดเขาน้อยคงคาราม เป็นข้อพิพาทระหว่างวัดและกรมชลประทาน โดยในอดีตก่อนจะสร้างวัด พื้นที่ของวัดอยู่ในเขื่อนลำตะคอง จึงได้ย้ายวัดขึ้นมาอยู่ชายฝั่งโดยมีการแลกที่กัน แต่ภายหลังมีการอ้างสิทธิซึ่งเป็นที่ดินของราชพัสดุ โดยล่าสุดได้ตกลงกันด้วยดีและธนารักษ์พื้นที่นครราชสีมา จะมาทำการรังวัดแนวเขตต่อไป และวัดถัดไปคือวัดน้ำพุ มีการร้องเรียนเรื่องการตัดผ่านของ รถไฟฟ้ารางคู่ ในกรณีขอเวนคืนที่ดิน ซึ่งยังไม่ได้จัดสรรค่าผาติกรรม และการสร้างโบสถ์รวมถึงวิหาร แห่งใหม่การส่งมอบยังไม่เรียบร้อย จึงได้ให้แก้ไขให้สมบูรณ์ก่อนการส่งมอบ ซึ่งทุกฝ่ายก็ตกลงกันด้วยดี และวัดสุดท้ายคือวัด ถ้ำเขาวง เป็นวัดที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2484 ซึ่งมีมาก่อน พรบ.ป่าไม้ จึงได้ให้ชี้จุดของวัดตามความถูกต้องเพื่อออกโฉนดต่อไป ซึ่งทุกฝ่ายก็ตกลงพร้อมใจ โดยกรมที่ดินและกรมป่าไม้จะเข้ามาทำการรังวัดแนวเขตต่อไป นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล กล่าว

Leave a Reply