โฆษกรัฐเข้าวัดร่วมถกฟื้นทวารวดีศึกษา หวังเป็นฐานช่วยลดยากจนเหลื่อมล้ำยั่งยืน

โฆษกรัฐเข้าวัดร่วมถกฟื้นชีวิตคืนจิตวิญญาณทวารวดี หวังเป็นฐานช่วยลดเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน ด้านพระพรหมบัณฑิตแนะใช้หลักฐานคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาอาทิ จามเทวีวงศ์ ชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นเครื่องมือ

เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2562 ที่ผ่านมา วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) จัดประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 2 เรื่อง “ฟื้นชีวิตคืนจิตวิญญาณทวารวดี” วัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นเวทีเผยแพร่ผลงานวิชาการ ผลงานวิจัย ที่เป็นองค์ความรู้ในสาขาพระพุทธศาสนา ปรัชญา ศิลปวัฒนธรรม สาขาสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ โบราณคดี มานุษยวิทยา และสาขาสหวิทยาการ ของอาจารย์ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่างๆทั่วประเทศ

พระพรหมเวที รักษาการเจ้าคณะภาค 15 เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ เป็นประธานเปิดงานและบรรยายพิเศษเรื่อง “ฟื้นชีวิตคืนจิตวิญญาณทวารวดี : จากสายใยพระพุทธศาสนาสู่คุณค่าวัฒนธรรมที่ไม่เลือนหาย” และปาฐกถาพิเศษโดย ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง “นโยบายรัฐกับการขับเคลื่อนประเทศเพื่อลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน” ตามด้วยการประชุมกลุ่มย่อย เพื่อนำเสนอผลงานทางวิชาการของอาจารย์ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา ที่ได้รับการคัดเลือก

จากนั้นพระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. รักษาการเจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เส้นทางพระพุทธศาสนา : ความเชื่อมโยงของพระพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ และคติความเชื่อโบราณ” ในการปาฐกถาครั้งนี้พระพรหมบัณฑิตได้เสนอประเด็นใหม่ในทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิหลายประการ โดยเน้นใช้หลักฐานคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่ประพันธ์โดยพระเถระชาวล้านนา ดังเช่น จามเทวีวงศ์ ชินกาลมาลีปกรณ์ เป็นต้น


กิจกรรมทางวิชาการปิดท้ายเป็นการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “ฟื้นชีวิตคืนจิตวิญญาณทวารวดี” คณะผู้ร่วมเสวนา ศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ นพ.บัญชา พงษ์พานิช และ ผศ.ดร.กังวล คัชฌิมา

ผู้ทรงคุณวุฒิมีความเห็นต่อประเด็นการประชุมครั้งนี้ ศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นำเสนอว่า “ทวารวดี” หมายถึงกลุ่มของนครรัฐ ไม่ใช่ราชอาณาจักร มีนครรัฐร่วมสมัยหลายแห่ง เช่น ละโว้ อู่ทอง คูบัว เป็นต้น และควรศึกษาธรรมจักรที่เป็นภูมิปัญญาที่เป็นจิตวิญญาณของทวารวดี ส่วน นพ.บัญชา พงษ์พานิช กล่าวว่า “ทวารวดี” ก่อตัวในลักษณะของนครรัฐ ที่มีชุมชน เมือง นคร และรัฐต่างๆ ยังไม่อาจรับรองได้ถึงขั้นว่าเป็นอาณาจักร ก่อตัวในลุ่มแม่น้ำท่าจีน และพบหลักฐานโดยกระจายอยู่ในลุ่มแม่น้ำต่างๆ หลักฐานที่บ่งบอกว่าทวารวดีกำลังรุ่งเรือง คือ ธรรมจักร ที่นครปฐม ถ้าจะฟื้นชีวิตคืนจิตวิญญาณ ต้องนิยามให้ได้ก่อน และความเห็นของศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ กล่าวว่า “ทวารวดี” ควรฟื้นฟูในมุมมองศิลปะ โดยการใช้หลักฐานทางโบราณคดีและศิลปกรรมในการกำหนดอายุ และตีความ เพื่อเป็นการศึกษาของคนรุ่นหลัง ต่อไป

นอกจากกิจกรรมทางวิชาการประเภทการบรรยาย การเสวนาทางวิชาการแล้ว ในงานมีการแสดงนิทรรศการลูกปัดสมัยทวารวดี อู่ทอง ละโว้ และศรีวิชัย ให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสสิ่งล้ำค่า โดยได้รับความอนุเคราะห์ลูกปัดโบราณจาก นพ.บัญชา พงษ์พานิช มูลนิธิสวนโมกข์กรุงเทพฯ

Leave a Reply