ตำรวจพระ ข้อพิจารณาจากยุคสมัย ?

วันนี้อาจจะมีเรื่องร้อนๆ มาคุยกันบ้างเพราะมีกระแสเรื่องตำรวจพระที่กำลังจะมีการร่างระเบียบว่าด้วยเรื่องของตำรวจพระออกมาบังคับใช้ในกิจการของคณะสงฆ์ หลายคนหลายท่านก็เกิดความสงสัย ดังนั้น เพื่อให้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์บ้างเพื่อเป็นการบรรเทาความสงสัยของท่านหรือของผมเองบ้าง เรามาลอคุยกันหน่อยเป็นไรครับ

@ ตำรวจพระ…คืออะไร ? จับใคร ?

หลายคนสอบถามผมมาว่าผมคิดอย่างไรกับเรื่องตำรวจพระที่ มส.ท่านกำลังจะยกร่างระเบียบว่าด้วยตำรวจพระ ผมเองเมื่อถูกถามมาก็งงๆอยู่เหมือนกันว่าตำรวจพระคือใคร ? ต่อไปจะมีทหารพระไหม ? และถ้ามีตำรวจพระแล้วจะให้มีหน้าที่ไปจับใคร ถ้าตำรวจโยมจับผู้ร้าย แล้วตำรวจพระจะต้องมีหน้าที่จับพระผู้ร้ายใช่หรือไม่ ?

ความจริงตำรวจพระนี่เดิมก็คือ “พระวินยาธิการ” หมายถึงพระผู้เป็นใหญ่หรือผู้คุมกฎพระธรรมวินัยนั่นเอง แต่เดิมใช้คำๆนี้ มส.ตั้งพระวินยาธิการมาเพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหาพระที่กระทำผิดพระธรรมวินัย พบที่ไหนแจ้งได้

เมื่อพระวินยาธิการทราบก็จะออกตรวจสอบและเชิญตัวมาสอบสวนที่วัด ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจของบ้านเมือง ถ้าพบว่ากระทำผิดจริงก็ให้ลาสิกขาไปตามอำนาจของพ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตราที่ ๒๙, ๓๐ ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายแม่บทของคณะสงฆ์ไทยเรา

@ ในพระไตรปิฎกมี “ตำรวจพระ” ไหม ?

ในพระไตรปิฎกมีผู้คุมกฎ “พระธรรมวินัย” อยู่เช่นเดียวกัน แต่ไม่เรียกว่าเป็นตำรวจพระ เพราะผู้คุมกฎพระธรรมวินัยจะทำหน้าเป็นเสมือน “ผู้พิพากษา”มากกว่า โดยผู้คุมกฎพระธรรมวินัยนั้นจะมีอยู่ ๒ ประเภทคือ

(๑)พระธรรมธร แปลว่า พระผู้ทรงความรู้เรื่องพระธรรมหรือหลักคำสอนในเรื่องต่างๆ เช่น หลักคำสอนเรื่องนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา หลักคำสอนเรื่องปฏิจจะสมุปปบาทเป็นต้น หากมีคำโต้แย้งหรือถกเถียงกันในเรื่องพระธรรม พระธรรมธร จะทำหน้าที่เป็นผู้สืบสวนทวนความและเป็นผู้ตัดสินว่าบุคคลหรือสำนักใดบ้างที่สอนผิด

(๒) พระวินัยธร แปลว่าพระผู้ทรงความรู้ทางด้านพระวินัย เชี่ยวชาญในเรื่องพระวินัยว่าอะไรผิดหรืออะไรถูกตามหลักพระวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ เวลาที่มีบุคคลหรือสำนักที่ประพฤติผิดจากพระวินัยหรือละเมิดพระวินัย ท่านก็จะทำหน้าที่เป็นผู้วินิจฉัยหรือตัดสินความที่เกิดขึ้นนั้นๆ

@ ส่วนตำรวจพระในพระไตรปิฎกไม่มี แต่พฤติกรรมบุคคลที่พระพุทธองค์ทรงใช้ในลักษณะคล้ายๆ “ตำรวจพระ” ก็พอมี คือ พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะที่ทรงใช้ให้ไปสืบข้อความแล้วไปนำเอาคนที่หลงผิดติดตามพระเทวทัต ซึ่งเป็นพระบวชใหม่จำนวน ๕๐๐ รูป กลับมา

โดยพระเถระสองรูปแกล้งไปเข้ากับพระเทวทัตคือยอมเป็นลูกน้องพระเทวทัตจากนั้นได้ฝึกกรรมฐานให้พระใหม่จนมีฤทธิ์จากนั้นพาทั้งหมดเหาะกลับพระเชตวันทันที ซึ่งพฤติกรรมการใช้พระสาวกไปทำหน้าที่แบบที่ว่านี้มีลักษณะเป็นตำรวจที่ไปสืบราชการลับได้ แต่ไม่มีการจับกุมคุมขัง จะมีเฉพาะตอนไปปราบยักษ์ปราบนาคเท่านั้นที่ทรงให้ไปจับกุมคุมขังทรมานให้ยอมก่อนนำมาเฝ้าพระพุทธองค์ ดังนั้น บุคคลที่ทำหน้าที่เป็นตำรวจพระนั้นก็พอมี แต่ก็ไม่ใช่แบบที่เรียกว่าตำรวจพระในปัจจุบันนี้

@ องค์กรสงฆ์ยุคนี้ใช้ตำรวจพระ สมัยพุทธกาลใช้พระธรรมธร และพระวินัยธร ?

จากการกล่าวมาจะพบว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงให้อำนาจการปกครองกับสงฆ์ และสงฆ์ได้แต่งตั้ง พระธรรมธร และพระวินัยธร มาดูแลกฎหมายคือ “พระธรรมวินัย” ซึ่งพระธรรมธรและพระวินัยธรจะมีลักษณะหน้าที่คล้ายๆผู้พิพากษา ไม่ใช่ตำรวจ ส่วนการจับกุมคุมขังนั้นให้บุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจสงฆ์หรืออำนาจรัฐนำตัวมาสอบสวนที่อารามโดยถ้า

(๑)เป็นเรื่องพระธรรมคำสอน สงฆ์จะมอบให้พระธรรมธรเป็นผู้ดำเนินการชำระอธิกรณ์นั้นๆ

(๒)ถ้าเป็นเรื่องพระวินัยคือพระละเมิดพระวินัย โต้แย้งกันด้วยเรื่องพระวินัยสงฆ์จะมอบให้ “พระวินัยธร” เป็นผู้ดำเนินการสอบสวนแล้วตัดสินเป็นเรื่องๆไป

จะเห็นว่าในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงแยกปัญหาพระธรรมวินัยไว้ชัดเจนเป็น ๒ เรื่อง และมีผู้รับผิดชอบชัดเจนในสองเรื่องนั้น

@ ปัญหาสงฆ์ปัจจุบัน ซับซ้อนซ่อนเงื่อน สรุปรวมลงที่ “ตำรวจพระ” ?

ผมว่าปัจจุบันนี้ปัญหาสงฆ์ไทยมีองค์ประกอบอยู่ ๒ ส่วนหลักๆ คือ

(๑) ปัญหากฎหมาย ได้แก่ ปัญหาที่เกิดกับการละเมิดอำนาจรัฐคืออำนาจพ.ร.บ.คณะสงฆ์ปัจจุบัน เช่น การขัดอำนาจของคณะสงฆ์ผู้ปกครอง ดื้อด้าน เป็นต้น การขัดขวางการปฏบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานแบบนี้ถือว่าเป็นการขัดอำนาจรัฐที่มาจาก พ.ร.บ.คณะสงฆ์

(๒)ปัญหาพระธรรมวินัย ได้แก่ ปัญหาการละเมิด พระธรรมวินัย ละเมิดพระธรรมคือละเมิดคำสอนของพระพุทธองค์ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ละเมิดพระวินัยก็คือ การละเมิดสิกขาบทที่เรียกว่าเป็นอาบัติทั้ง ๗ กอง ทีีปรากฏในพระไตรปิฎก

ปัญหา ๒ ส่วนนี้กลับมีทางแยกอยู่ ๓ สาย คือ (๑) กฎหมายบ้านเมือง (๒) พระธรรม และ (๓) พระวินัย โดยทั้ง ๓ หมวดของปัญหาทั้งหมดนี้สงฆ์ในยุคปัจจุบันไม่ได้มีการแยกแยะเหมือนที่ทำมาในสมัยพุทธกาล คือเอาปัญหาทั้ง ๓ หมวดนี้มา “ยำรวมกัน” แล้วมอบให้เป็นภาระหน้าที่ของ “เจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะผู้ปกครองเป็นคนดำเนินการแก้ไขตามกฎหมาย”ผมว่ามันยุ่งยากตรงนี้แหละ ตรงที่ไม่มีการแยกแยะปัญหาให้ชัดเจน ทำให้ปัญหามันตีรวมควบแน่นกันอยู่ที่สุดก็มาออกทาง “พระวินยาธิการ” และเมื่อพระวินยาธิการไปไม่ได้ก็มาออกทาง “ตำรวจพระ”

สรุปก็คือว่าตำรวจพระจะต้องทำหน้าที่ดูแลปัญหาทั้ง ๓ หมวดนี้เลยใช่ไหมครับ ตั้งแต่จับกุมคุมขังและสืบสวนสอบสวนทั้งปัญหากฎหมายคณะสงฆ์ ปัญหาพระธรรม และปัญหาพระวินัย ผมว่ามันไม่ง่ายเพราะที่ผ่านๆมา เราใช้อำนาจกฎหมายเข้าไปจัดการกับพระธรรมวินัยมาแล้ว “หลายเรื่องล้มเหลวโดยสิ้นเชิง”

@ ข้อเสนอแนะของผม ต่อเรื่องนี้ ?

ผมว่าคณะสงฆ์เราเดินตามแนวทางของการใช้อำนาจรัฐมาหลายครั้งแล้วที่จะดีไซน์รูปแบบของ “ผู้คุมกฎพระสงฆ์” ดังที่เล่าๆกันมาผมว่าคราวนี้หากจะทำให้ดีไม่ลองคิดแบบแยกแยะปัญหาแล้วนำคนเข้าไปแก้ไขปัญหาให้ถูกที่ถูกทางไม่ดีกว่าหรือครับ

คือเราอาจจะไม่เรียกว่าเป็นตำรวจพระ แต่เราอาจจะใช้แนวทางของการกำหนดบทบาทของพระที่จะมาทำหน้าที่ดูแลหรือคุมกฎพระสงฆ์ใน ๓ แนวทางได้แก่

(๑) ตำรวจพระ ดูแลในเรื่องของการจับกุมคุมขังพระที่ทำผิดต่อกฎหมายคณะสงฆ์โดยภาพรวม หรือทำหน้าที่นำส่งเป็นเรื่องๆไปแก่หน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่รับผิดชอบ

(๒) พระธรรมธร มีหน้าที่เป็นผู้ตัดสินคดีความเกี่ยวกับการละเมิดหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ตำรวจพระนำมา หรือจับกุทคุมขังมา ว่ามีเรื่องราวอย่างไรจะตัดสินอย่างไรให้เป็นกระบวนการที่พระธรรมธรเป็นผู้ดำเนินการ

(๓) พระวินัยธร มีหน้าที่เป็นผู้ตัดสินคดีความที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนาที่ตำรวจพระ จับกุมคุมขังหรือนิมนต์ เชิญมาเพื่อให้พระวินัยธรสอบสวนตามกระบวนการของพระวินัยธร

ผมว่าถ้าแยกแยะแบบนี้ถือว่าเป็นการง่ายต่อการแก้ไขปัญหาของพระสงฆ์ที่กระทำความผิดหรือแม้แต่ญาติโยมที่ออกมาสอนผิดๆเพี้ยนๆคณะผู้ตัดสินของสงฆ์ก็สามารถที่จะให้ความกระจ่างได้ เพื่อเป็นคำตอบกับสังคมและชาวพุทธได้เป็นเรื่องๆ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการมีตำรวจพระเพียงอย่างเดียว เพราะมันไม่เอื้อต่อภาพลักษณ์ของคณะสงฆ์ ฟังๆดูมันออกจะเหมือนๆเอียงไปทางรัฐทางศาสนามากกว่า ..ผมว่านะ

ขอบคุณครับ

Cr.FB-Naga King

Leave a Reply