วันนี้เมื่อเวลา ๑๓.๓๐ น. พระราชปริยัติกวี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เดินทางมาตรวจเยี่ยมให้กำลังใจคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ พระวิปัสสนาจารย์ นิสิตปริญญาโท – เอก หลักสูตรสันติศึกษา หลักสูตรครูสติ และนิสิตปริญญาตรี -โท – เอก ของวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาจุฬา ฯ จำนวน ๒๔๔ รูป คน ตามโครงการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานประจำปี ๒๕๖๒ ณ ศูนย์พัฒนาศาสนาแคมป์สน อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ ๑ – ๑๕ เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒ โดยมีพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษาและผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร และคณาจารย์ นิสิต ให้การต้อนรับ
#การศึกษาคือการพัฒนาขันธ์ ๕ ตามแนวทางของไตรสิกขา
ในการบรรยายพระราชปรัยัติกวี กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “การศึกษาทางพระพุทธศาสนาจะต้องผ่าน พระปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เราจึงต้องตอบคำถามของตนเองได้ ๓ ประการ คือ ขันธ์ ๕ คืออะไร ด้วยการศึกษาถึงเวทนากำหนดรู้เท่าทันกับความเจ็บปวดของรูปนาม ขันธ์ ๕ เป็นอย่างไร ด้วยศึกษาตามกฏของไตรลักษณ์เป็นธรรมพื้นฐาน ขันธ์ ๕ ควรดำเนินเป็นไปอย่างไร ด้วยการศึกษาตามปฏิจจสมุปบาท เราจึงใช้คำว่า สติเป็นฐาน โดยมีความเชื่อมโยงกับสติปัฏฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งมีความหมายเดียวกัน การศึกษาจึงเป็นการพัฒนาขันธ์ ๕ ด้วยการใช้ไตรสิกขา โดยขันธ์ ๕ ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งล้วนจะต้องใช้ปัญญา ซึ่งปัญญาทางพระพุทธศาสนาสามารถแบ่งออกเป็น ๓ ประการ คือ
๑) ปัญญาติดตัวมาตั้งแต่เกิด ทุกคนมีอยู่แล้ว
๒ ) ปัญญาในการรักษาตนเอง ปัญญาในการประกอบอาชีพ และ
๓) ปัญญาด้วยการเห็นแจ้งด้วยวิปัสสนากรรมฐาน
โดยใช้ไตรสิกขาเป็นเครื่องมือ มีกรอบใหญ่เป็นสติปัฏฐาน ในการพัฒนานั้นจะต้องอาศัยหลักสัปปายะทั้ง ๗ เช่น สถานที่สะดวก อาหารที่เอื้อเกื้อกูล บุคคลเป็นกัลยาณมิตร การถ่ายทอดสื่อสารเป็นวจีสุจริต อากาศเย็นสบาย จะเข้ากับหลักมหาสติปัฏฐานสูตร แม้ทุกศาสนาก็มีวิธีการพัฒนามาจากภายในแต่วิธีแตกต่างกัน เวลาปฏิบัติเป็นธรรมดาของคนที่มีสักกายทิฏฐิจะเกิดขึ้น คือ ๑) เอตํ มม แปลว่า นั่นของเรา เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกขณะจิต ขนาดไม่เป็นของเรายังบอกว่า นั่นของเรา ๒) เอโส หมสฺมิ เราเป็นนั่น เรื่องตำแหน่งต่าง ๆ ความอยากจะเป็น เป็นนั่นเป็นนี่ ๓) เอโส เม อตฺต นั่นอัตตาของเรา ซึ่งสักกายทิฏฐิถ้าคลายไม่ได้ชีวิตจะพังเพราะมีโลภะ โทสะ โมหะ
#AIพัฒนายิ่งไกลจิตใจยิ่งต้องพัฒนามากกว่า
ดังนั้น การศึกษาจึงเป็นการพัฒนาขันธ์ ๕ ตามแนวทางของไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แม้โลกธรรมจะเกิดขึ้นกับเราอย่างไรก็ตาม จึงต้องรู้เท่าทันผ่านการพัฒนาของตนเอง แม้โลกจะพัฒนาก้าวไกลถึงระดับAI แต่การพัฒนาด้านจิตใจยิ่งต้องพัฒนาให้มากเท่านั้น พระราชปริยัติกวี อธิการบดีมหาจุฬา ฯ กล่าวทิ้งท้าย.. “
โครงการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานประจำปีเป็นระเบียบปฎิบัติที่พระนิสิต นักศึกษาทุกรูป ทุกคน ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในทุกระดับชั้น จะต้องปฎิบัติตามระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
สำหรับวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติหรือ IBSC ปฎิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ณ ศูนย์พัฒนาศาสนาแคมป์สน อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์มาแล้วตั้งแต่วันที่ ๑ ต้นเดือนนี้
ส่วนคณะอื่น ๆ เช่น คณะพุทธศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณะครุศาสตร์ จะเริ่มเข้าสู่โครงการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานประจำปี ๒๕๖๒ ตามแต่ละคณะกำหนดไว้เร็ว ๆ นี้
*****************
Leave a Reply