“เพชรวรรต”ชี้ทำอาลัวพระเครื่องผิดไม่ต่างจากขายเศียรพระ

วันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2564 ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาฯ กล่าวชื่นชม นางสุชาดา หิรัญภัทรานันท์ วัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสงคราม และ นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ทำงานอย่างรวดเร็วในกรณีเพจเฟซบุ๊ก มาดามชุบ โพสต์การทำอาลัวพระเครื่อง ของแม่ค้าคนหนึ่งในย่านสมุทรสงคราม จนเป็นกระแสโด่งดัง แต่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมหรือไม่กันเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน

ดร.เพชรวรรต กล่าวต่อว่า จากประวัติศาสตร์การจัดสร้างพระเครื่อง จะเป็นของสูง ผู้คนที่สร้างล้วนมีกุศลจิตศรัทธาเลื่อมใสในองค์พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้สร้างตัวแทนของพระพุทธเจ้า เท่ากับ 84,000 องค์บ้าง จำนวนครบรอบศักราชบ้าง เพื่อบรรจุพระเครื่องไว้ในองค์พระเจดีย์ ภายหลังมีพระเจดีย์เสียหายตามกาลเวลาหรือเรียกภาษาชาวบ้านว่า กรุแตก ประชาชนที่เคารพและเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ก็ให้ความเคารพโดยนำมาคล้องคอให้ลูกหลาน หวังแคล้วจากภัยต่างๆ โดยอ้างพุทธคุณ มาภายหลังบางคนเห็นพุทธคุณของพระเครื่องในการคุ้มภัยบ้าง ในความเป็นเมตามหานิยมบ้าง ภายหลังจึงมีการสร้างพระเครื่องตามวัดต่างๆ เพื่อให้เป็นพระของขวัญแกญาติโยมเพื่อระลึกนึกถึงบุญที่ได้ทำ ทั้งนี้ผู้คนที่รับพระเครื่องไปต่างให้ความเคารพพระเครื่องโดยนำไปห้อยคอ นำไปไว้ห้องพระ แต่กลับกันหากไร้ความเคารพแล้วนำมาทำขนม หากนำไปขายก็ไม่ต่างจาก การตัดเศียรพระพุทธรูปแล้วนำไปขายให้ต่างชาตินำมาไปเป็นหัวบันได ดังเป็นข่าวที่ผ่านมาทำให้ชาวพุทธรับไม่ได้

ทั้งนี้ ดร.เพชรวรรต กล่าวด้วยว่า การกระทำดังกล่าวอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 206 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ แก่วัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด อันเป็นการเหยียดหยามศาสนานั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

Leave a Reply