21ก.ย.วันสันติภาพสากล ‘มจร’ จับมือเครือข่ายสันติภาพ จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง ‘สติและสมาธิ: วิถีสู่สันติภาพ’ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มจร แนะนำพรหมวิหารธรรมเป็นฐานสร้างสันติภาพโลก ด้าน ‘อธิการบดี สจล.’ เห็นคุณค่าสันติภาพภายใน เล็งลงนามความร่วมมือกับมหาจุฬาฯ ทำหลักสูตรสร้างวิศวกรภายนอกสู่วิศวกรสันติภาพภายใน
วันที่ 21 ก.ย.2562 ที่ผ่านมา ที่อาคาร มวก. 48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากเป็นวันสันติภาพสากล หลักสูตรสันติศึกษาและวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร ได้ร่วมกับเครือข่ายสันติภาพ จัดประชุมสัมมนาวิชาการภายใต้เรื่อง “สติและสมาธิ: วิถีสู่สันติภาพ Mindfulness and Concentration: The Path to Peace”โดยมีพระเทพปวรเมธี,รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มจร เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ “สติและสมาธิ: วิถีสู่สันติภาพ” ความว่า
“วันสันติภาพโลกตรงกับวันที่ 21 กันยายนของทุกปี จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการหยุดใช้ความรุนแรง ถ้าทุกคนหยุดแม้เพียงหนึ่งนาทีความสันติย่อมเกิดขึ้นแก่โลกแล้ว หลักสูตรสันติศึกษา มจร เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างสันติภาพให้กับโลก ด้วยการสร้างผู้ที่จบหลักสูตรให้เป็นวิศวกรสันติภาพ โดยสันติภาพแบ่งออก 2 ประการ คือ สันติภาพภายในและสันติภาพภายนอก มีความเอื้อเกื้อกูลกันเสมอโดยมีหลักพรหมวิหารธรรมเป็นเครื่องมือสำคัญ โดยเน้นเมตตาเป็นความรักกับ กรุณา ด้วยการช่วยเหลือ มุทิตาบุคคลที่ทำความดีมีการยกย่องโดยหลักสูตรสันติศึกษาด้ยกย่องบุคคลสำคัญ เพราะการศึกษาต้องพัฒนาสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เคารพในความแตกต่างในด้านวัฒนธรรม จึงขอชื่นชมหลักสูตรสันติภาพเป็นหลักสูตรที่มีคุณภาพ”
ต่อจากนั้นพระเทพปวรเมธีได้มอบรางวัลลมหายใจแห่งสันติภาพ ในจำนวนนั้นมี ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) รวมอยู่ด้วย
ในโอกาสนี้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ ได้บรรยายในหัวข้อ “Mindful Digital: Changing Our life Changing the world : สติดิจิทัล: เปลี่ยนชีวิตเปลี่ยนโลก” โดยระบุว่า โลกปัจจุบันนี้ปั่นป่วนจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากภัยพิบัติของธรรมชาติ จึงต้องเปลี่ยนแปลงตนเองให้เท่าทันโลก ถ้าไม่เปลี่ยนคือแพ้ ใครจะยิ่งใหญ่แค่ไหน รวยแค่ไหนถ้าไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ไม่รอด ในโลกแห่งปัจจุบันไม่เปลี่ยนแปลงคือสูญพันธุ์
“เพราะโลกปัจจุบันนี้เป็นโลกดิสรัปชั่น (Disruption) เป็นยุคทำลายเพื่อเกิดใหม่ เป็นการปั่นปวน เปลี่ยนแปลง ทำลาย เกิดขึ้นใหม่ในสิ่งที่ดีกว่า มีการเปลี่ยนไปเรื่อยๆ น่ากลัวยิ่งกว่ายุคสงครามเย็น เพราะสงครามรู้ว่าใครคือศัตรู แต่ยุคดิสรัปชั่นเราไม่รู้ว่าใครเป็นศัตรู เป็นยุคเปลี่ยนแปลงแบบหักศอก อาชีพถูกดิสรัปชั่น ในปี 2562 เพราะคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence)ชนะนักลงทุนมือทอง การทำงานแบงก์เป็นอาชีพที่คิดว่ามั่นคงแต่ปัจจุบันคนทำงานแบงค์ถูกดิสรัปชั่นไปเรียบร้อยแล้ว อาชีพนักกฏหมายตอนนี้ถูก AI เข้ามาแทนที่ อาชีพที่มั่นคงไม่มีเหลือ อาชีพครูอาจารย์ถูกดิสรัปชั่น”ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวและว่า
ตัวแปรอยู่ที่ปริมาณกับคุณภาพ ประเทศจีน รัสเชีย และอินเดียเป็นประเทศที่มีปริมาณประชากรมาก ส่วนประเทศที่ไม่มีปริมาณทางรอดเดียวคือพัฒนาคุณภาพ ประเทศไม่มีปริมาณต้องทำคุณภาพในสุดยอด เช่นประเทศสิงคโปร์ ส่วนประเทศไทยเราตอนนี้ไม่มีปริมาณส่วนคุณภาพพิจารณาเอาเอง ประเทศใดที่พบสองเรื่องในเวลาเดียวกันไปไม่รอด จบวิศวกรปลูกผักขายตอบโจทย์จึงไม่สนใจมหาวิทยาลัย เด็กสมัยใหม่คงแคร์การศึกษามหาวิทยาลัยออนไลน์จึงตอบโจทย์ชีวิต ต่อไปคนรุ่นเก่าๆ จะเป็นลูกจ้างเด็กวัยรุ่นสมัยใหม่ ปัจจุบันเด็กอายุ 10 ขวบเขียนโปรแกรมได้แล้ว
“จึงอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา ระบบการศึกษาต้องการการเปลี่ยนแปลง ในองค์กรใครคือคนสำคัญที่สุดมิใช่สำหรับเรา แต่ถ้าคิดเพื่อสังคมนักศึกษาสำคัญที่สุดเพื่อเป็นคนดีคนเก่งเพื่อสังคมเพื่อโลก ถือว่าเป็นการสร้างสันติภาพ ดังนั้น จะสู้กับดิสรัปชั่นอย่างไร เราต้องปรับตัว Reinvention สร้างขึ้นมาใหม่ มหาจุฬาฯเป็นต้นแบบที่ดีมีหลักสูตรที่คนยอมรับใช้คำว่า วิศวกรสันติภาพ เป็นการตอบโจทย์สังคม ถือว่าเป็นการกล้าทำสิ่งใหม่ สุดยอดมาก”
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นคำสอนด้านสันติภาพ คนไทยทำได้แต่เราต้องทำงานเป็นทีมเป็นมิตรมีความเมตตาต่อกัน คนไทยไม่แพ้ใครในโลกถ้าเราจับมือกันอย่างจริงจัง คนไทยมีจุดเแข็งแต่เราไม่รู้จักใช้ เราจึงต้องดึงจุดแข็งมาใช้ จึงประกาศสร้างแพทย์ที่เก่ง และเครื่องมือแพทย์ของเราเอง อาชีพอะไรที่ไม่ใช้เทคโนโลยี ปัจจุบันซีดีไม่มี ปัจจุบันเราใช้ออนไลน์ เราจึงต้องสร้างเด็กที่เก่งทั้งสมองขวาและสมองซ้ายควบคู่กับไป
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวด้วยว่า จึงมีความต้องการที่จะขอลงนามความมือ(MOU) กับ มจร เพราะสนใจด้านวิศวกรสันติภาพ เพื่อเปิดหลักสูตรร่วมกันระหว่างวิศวกรภายนอกกับวิศวกรภายใน ซึ่งหมายถึงวิศวกรสันติภาพภายใน ในฐานะเป็นนายกสภาวิศวกรแห่งประเทศไทย
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสาขาวิชาสันติศึกษาและผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงาน กล่าวว่า จากการบรรยายของ ศ.ดร.สุชัชวีร์ได้ถ่ายทอดเรื่องราวในฐานะวิศวกรที่มีส่วนสำคัญในสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่ประเทศไทย โดยรากฐานสำคัญของการออกแบบวัตถุภายนอกได้ ต้องสำเร็จมาจากการออกแบบภายในใจ ซึ่งตัวแปรในการออกแบบภายในคือ สติ และเพราะสติทำให้สติวิศวกร ศ.ดร.สุชัชวีร์ได้นำเอาไปออกแบบจิตใจ ทำให้จิตใจมีพลังสามารถสร้างนวัตกรรมเปลี่ยนชีวิตได้
ขณะเดียวกันในการสัมมนาครั้งนี้ ยังได้เปิดเวทีรับฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับตัวแทนครูยุคใหม่ ภายใต้หัวข้อ“กระบวนการผลิตครูให้มีทักษะในการจัดการเรียนรู้ที่มีสติและสมาธิเป็นฐานที่เอื้อต่อสถานศึกษาในยุคดิจิทัล” โดยคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านการจัดการศึกษา คณะครุศาสตร์และคณะศึกษาศาสตร์ทั่วประเทศ พระมหาหรรษา กล่าวสรุปว่า มีความจำเป็นที่จะต้องนำเรื่องสติ สมาธิ เข้าสู่สถานการศึกษาทั่วประเทศ จากนั้นจะนำผลการศึกษาวิจัยจากสถานศึกษาต้นแบบที่ประสบความสำเร็จมาเป็นเครื่องยืนยัน เพื่อให้สถานศึกษา คณาจารย์จากคณะครุศาสตร์และคณะศึกษาศาสตร์ นำแนวทางไปปรับใช้ให้เกิดสัมฤทธิผลต่อตัวนักเรียน นิสิต นักศึกษาทั่วประเทศต่อไป
Leave a Reply