คณะสงฆ์ไทยถูกแบ่งออกเป็น 2 นิกาย ‘ธรรมยุต’ และ ‘มหานิกาย’ และใช้สีจีวร ‘ไม่เหมือนกัน’ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ตอนที่ทรงย้ายจากวัดมหาธาตุไปเป็นเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส
ธรรมยุตใช้จีวร ‘สีกรัก’ ซึ่งเป็นสีแก่นขนุนหรือสีน้ำตาลเข้ม ส่วนมหานิกายใช้จีวร ‘สีเหลืองทอง’
แต่ที่สำคัญ! จีวรทั้งสี‘กรัก’ และ ‘สีเหลืองทอง’ เป็นไปตาม ‘พุทธบัญญัติ’ ในพระวินัยปิฎก เล่มที่ 5
นอกจากสีจีวรที่แตกต่างกันแล้ว รูปแบบการห่มจีวรก็แตกต่างกัน โดยธรรมยุตห่มคลุม ‘แบบแหวกแบบพระมอญ’ ส่วนมหานิกายห่มคลุมแบบ “พาดแขนมังกร’
เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต อดีตสมเด็จพระวันรัต เคยออกประกาศให้คณะสงฆ์ธรรมยุตเปลี่ยนสีจีวรจาก ‘สีกรัก’ เป็น ‘สีพระราชนิยม’ แต่พระธรรมยุตสายวัดป่าไม่ยินยอม จนกลายเป็นศึกแห่งศักดิ์ ‘สี’ จีวรระหว่าง ‘พระป่ากับพระเมือง’
ในที่สุด เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุตก็ต้องยอมถ่อยยอม ‘ยกเลิกประกาศ’ โดยพระสงฆ์ธรรมยุตสายวัดป่ายังนุ่งห่มจีวร ‘สีกรัก’ ตามแนวปฏิบัติของครูบาอาจารย์ที่สืบทอดกันมายาวนาน ส่วนพระสงฆ์ธรรมยุตสายวัดบ้านยังคงใส่ทั้ง 2 สี ‘สีกรัก’และ ‘สีพระราชนิยม’ ภายในวัดหรือในที่อยู่อาศัย โดย ‘ไม่มีการบังคับ’!
แต่ในขณะนี้ ‘สีจีวร’ กลับกลายเป็น ‘ปัญหาใหญ่’ ระหว่างพระเถระ ‘ฝ่ายมหานิกาย’ โดยเฉพาะ พระเถระที่ได้รับแต่งตั้งให้เข้ามาครอง ‘วัดหลวง’ ที่ครูบาอาจารย์และพระเณรในวัดสืบทอดนุ่งห่มจีวร ‘สีเหลืองทอง’ กันมายาวนาน
พระเถระที่ได้รับแต่งเป็นเจ้าอาวาสใหม่ แทนที่จะยึดจารีตประเพณีการนุ่งห่มที่ครูบาอาจารย์และพระสงฆ์ส่วนใหญ่ในวัดถือปฏิบัติกันมายาวนานตามครูบาอาจารย์
แต่กลับมีทิฐิมานะต้องการให้พระเณรในวัดที่ตนมาเป็นเจ้าอาวาสใหม่เปลี่ยนสีจีวรให้เหมือนตนเอง
เมื่อพระสงฆ์ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ท่านก็ออกมา ‘ตีโพยตีพาย’ แบบ ‘เสียอาการ’ ชนิดคุมอารมณ์และสติไม่อยู่ เพราะ ‘แบกเอาสีจีวร’ ใน ‘วัดเก่า’ ของตนมาด้วย โดยอ้างจีวร ‘สีพระราชนิยม’ เป็นสีที่ ‘พระราชา’ ทรงต้องการให้พระสงฆ์ไทย ‘ต้องนุ่งห่ม’
สิ่งที่ดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง หรือทำให้พระเณรส่วนใหญ่ไม่สบายใจ คือการ ‘แอบอ้างสถาบัน’ เรื่องเปลี่ยนสีจีวรภายในวัดและในเขตการปกครองของตน โดยอ้างจะต้องยึดพระพุทธดำรัส อนุชานามิ ภิกขะเว ราชูนัง อนุวัตติตุง
พระพุทธบทนี้ พระพุทธเจ้าทรงให้พระภิกษุ ‘อนุวัตและปฏิบัติ’ ตามกฎหมายบ้านเมืองที่ทำให้การปกครองสงบสุขเป็นหลักใหญ่ และสิ่งนั้นต้องเป็น ‘ธัมมิกะ’ เป็นสิ่งที่ชอบธรรม
ถ้าบ้านเมืองออกกฎให้พระปฏิบัติตามอย่างไม่ชอบธรรม เช่น ออกกฎให้พระบิณฑบาตหลังเที่ยง อย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ไม่ให้ปฏิบัติตาม
ในกรณีจีวร ‘สีพระราชนิยม’ ในหลวงทรงพระประสงค์ให้พระห่มจีวร ‘สีเดียวกัน’ ในงาน ‘พระราชพิธี’ เป็นหลัก
พระองค์ ‘ไม่ได้’ ทรงปรารภให้พระทั้ง ‘2 นิกาย’ ต้องห่มจีวรสีพระราชนิยม เมื่อพระอยู่ ‘ภายในวัดของตน’ ซึ่งแต่ละนิกายมีระเบียบและจารีตนิยมการนุ่งห่มที่ครูอาจารย์ถือปฏิบัติกันมายาวนานอยู่แล้ว
ถ้าเปรียบเทียบกับ ‘เครื่องแบบข้าราชการ’ ข้าราชการถูกกำหนดให้ใส่ชุด ‘ปกติขาว’ หรือ ‘เครื่องแบบเต็มยศ’ ในงาน ‘พระราชพิธี’ เท่านั้น
ข้าราชการไม่สามารถใส่เครื่องแบบชุดปกติขาว หรือ ชุดเครื่องแบบเต็มยศได้อย่าง ‘พร่ำเพรื่อ’!
มิเช่นนั้น ถือว่าไม่รู้กาลเทศะ หรืออาจผิดกฎหมาย???
ถ้าเป็นชุดทำงาน ‘ในสำนักงาน’ ก็ให้ใส่เสื้อผ้า ‘แบบสุภาพ’ ทั่วไป หรือให้ใส่เครื่องแบบข้าราชการชุด ‘แบบสีกากี’ทุกวันจันทร์
ดังนั้น จะนุ่งห่มจีวรสีไหน ‘ต้อง’ เป็นไปตามพุทธบัญญัติที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก เล่มที่ 5
ในประเทศไทยปัจจุบันนี้ ในงานพระราชพิธี พระเณรทั้ง 2 นิกายก็จะนุ่งห่ม ‘สีพระราชนิยม’ เหมือนข้าราชการใส่ ‘เครื่องแบบชุดปกติขาว หรือเครื่องแบบเต็มยศ’ ในงาน ‘พระราชพิธี’
ในการนุ่งห่มจีวรลักษณะเช่นนี้ จึงถือว่าเป็น อนุชานามิ ภิกขะเว ราชูนัง อนุวัตติตุง โดยต้องไม่ให้สิ่งที่พระราชาหรือกฎหมายบ้านเมืองทำให้เป็นการก่อให้เกิด ‘สังฆเภท’ ซึ่งถือเป็น ‘อนันตริยกรรม’ ในทางพระพุทธศาสนา!!!
หมายเหตุ..เว๊ปไซต์ข่าว “thebuddh” ทำหน้าที่เป็นเวทีสาธารณะ เนื้อหาและท่าที อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ ผู้เขียนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด
Leave a Reply