วัดสุทธิวรารามถวายทุนเล่าเรียนหลวง สนองพระราชดำริ สมเด็จพระบรมพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชฯ จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท

วันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๕ พระสุธีรัตนบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม พร้อมด้วยผู้ช่วยเจ้าอาวาส และ ร.ต.ท.ดร.มนัส โนนุช ประธานมูลนิธิมิราเคิล อ๊อฟไลฟ์ ไวยาวัจกรวัดสุทธิวราราม และดร.สุวรา นาคยศ ประธานบริษัทโดฟดีเวลลอปเม้นท์จำกัด ในฐานะพุทธสาวิกาวัดสุทธิวราราม ได้เดินทางเข้าถวายสักการะ และปัจจัยแด่ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (สมเด็จธงชัย) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เพื่อสมทบทุนในพิธีการทอดผ้าป่าโครงการทุนเล่าเรียนหลวง สำหรับพระสงฆ์ไทย จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท

สำหรับความเป็นมาของโครงการทุนเล่าเรียนหลวง สำหรับพระสงฆ์ไทย มีดังนี้

โครงการทุนเล่าเรียนหลวง สำหรับพระสงฆ์ไทย จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จ

พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ พร้อมพระราชทานทุนปฐมฤกษ์ส่วนพระองค์เป็นทุนเริ่มแรก เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗ เพื่อสนับสนุนพระภิกษุและสามเณร ให้ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมวินัย พระปริยัติธรรมให้ลึกซึ้งแตกฉาน มีโอกาสศึกษาพระพุทธศาสนาขั้นสูงจากสถาบันพุทธศาสนาในประเทศและนำไปเผยแผ่เพื่อเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจและความคิดในการดำเนินชีวิตของพุทธศาสนิกชน โดยผู้รับทุนจะต้องเป็นพระภิกษุหรือสามเณรที่มีสัญชาติไทย มีศิลาจารวัตรที่งดงามตามพระธรรมวินัย มีความประพฤติเรียบร้อย มีวิริยะอุตสาหะในการศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จหลักสูตร และมีจิตอาสา โดยต้องผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์ของโครงการฯ และของสถานศึกษาที่ศึกษาอยู่ แบ่งออกเป็น ๕ ประเภท ได้แก่ ๑) ทุนเปรียญธรรม ๖-๙ ประโยค ๒) ทุนระดับอุดมศึกษาด้านพุทธศาสตร์ ระดับปริญญาตรี-ปริญญาเอก ๓) ทุนอบรมพระนักเทศน์ ๔) ทุนอบรมพระวิปัสสนาจารย์ ๕) ทุนอบรมพระธรรมจาริก การให้ทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทยจะมอบให้แก่สถาบันการศึกษาหรือผู้รับพระราชทานทุนโดยตรง ประกอบด้วย ๑) ทุนการศึกษาระดับเปรียญธรรม ๖, ๗, ๘ และ ๙ กำกับดูแลโดยกองบาลีสนามหลวง ๒) ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก กำกับดูแลโดยมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมกุฏราชวิทยาลัย ๓) ทุนพระธรรมทูต กำกับดูแลโดยกองงานพระธรรมทูต ๔) ทุนสำนักเรียน กำกับดูแลโดยกองบาลีสนามหลวง ๕) ทุนพระวิปัสสนาจารย์ กำกับดูแลโดยศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ๖) โครงการฝึกอบรมพระนักเทศน์เฉลิมพระเกียรติ กำกับดูแลโดยศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ๗) ทุนเล่าเรียนพระบาลี กำกับดูแลโดยกองบาลีสนามหลวง ๘) ทุนสถาบันศึกษาพระบาลีศึกษาดีเด่น กำกับดูแลโดยกองบาลีสนามหลวง และ ๙) ทุนสำนักปฏิบัติธรรม/สถานปฏิบัติธรรมดีเด่นกำกับดูแลโดยศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ

วัตถุประสงค์

โครงการทุนเล่าเรียนหลวง สำหรับพระสงฆ์ไทยเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเล็งเห็นความสำคัญในการสืบสานพระพุทธศาสนาให้เกิดความยั่งยืน เพื่อให้พระภิกษุและสามเณรที่มีความเลื่อมใสและศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา ได้ศึกษาพระธรรมวินัยอย่างแตกฉาน และมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ถ่ายทอดเผยแผ่หลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้าได้อย่างถูกต้องเพื่อธำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาให้มีความมั่งคงเจริญสืบไป โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพุทธมามกะและองค์อัครศาสนูปถัมภก ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชกรณียกิจในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยมีวัตถุประสงค์

๑) เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมให้พระภิกษุและสามเณรได้ศึกษาพระธรรมวินัยอย่างลึกซึ้งแตกฉาน
๒) เพื่อเสริมสร้างความร่มเย็นในสังคมด้วยการที่มีหลักพุทธธรรมที่ถูกต้องเป็นแกน
๓) เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เป็นหลักทางจิตใจและความคิดของประชาชน

คุณสมบัติผู้รับทุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวง สําหรับพระสงฆ์ไทย

๑. เป็นพระภิกษุหรือสามเณรที่กําลังศึกษาอยู่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือ ปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
๒. เป็นพระภิกษุหรือสามเณรที่ศึกษาต่อเพื่อเข้าสอบเปรียญธรรม ๖-๗-๘-๙ ในการสอบบาลีสนามหลวง
๓. เป็นพระภิกษุหรือสามเณรที่สมัครเข้ารับการอบรมในโครงการพระธรรมจาริก พระวิปัสสนาจารย์ และพระนักเทศน์ของคณะสงฆ์ โดยผ่านการคัดเลือกที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการของแต่ละสถาบันที่จัดขึ้น
๔. มีผลการศึกษาและคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการของแต่ละสถาบันกําหนด

การรับสมัครขอรับทุนเล่าเรียนหลวง

พระภิกษุและสามเณรที่ประสงค์จะสมัครรับทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทยสามารถติดต่อได้ที่สถาบันการศึกษาของสงฆ์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยทุกวิทยาเขต-วิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยทุกวิทยาเขต แม่กองบาลีสนามหลวง แม่กองธรรมสนามหลวง กองงานพระธรรมทูต โครงการธรรมจาริก และศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นไปตามข้อพิจารณาของแต่ละสถาบันการศึกษาและหน่วยงานของคณะสงฆ์

การถวายทุนตามโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสําหรับพระสงฆ์ไทย

ทุนเล่าเรียนหลวง สําหรับพระสงฆ์ไทยจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการศึกษาเพื่อการลงทะเบียนเรียน ค่าหน่วยกิต ค่าหนังสือตําราเรียน และค่าธรรมเนียมต่างๆ จะได้มอบให้แก่สถานการศึกษาหรือผู้รับพระราชทานทุนโดยตรง ซึ่งประกอบด้วย
๑. ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก กํากับดูแลโดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย โดยมีการเพิ่มทุนตามภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม
ทุนระดับปริญญาตรี ทุนละ ๙,๐๐๐ บาทต่อปี รวม ๔ ปี เป็นเงิน ๓๖,๐๐๐ บาท
ทุนระดับปริญญาโท ทุนละ ๑๘,๐๐๐ บาทต่อปี รวม ๒ ปี เป็นเงิน ๓๖,๐๐๐ บาท
ทุนระดับปริญญาเอก ทุนละ ๓๖,๐๐๐ บาทต่อปี รวม ๓ ปี เป็นเงิน ๑๐๘,๐๐๐ บาท

๒. ทุนการศึกษาระดับเปรียญธรรม ๖, ๗, ๘ และ ๙ กํากับดูแล โดยสำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง
ทุนผู้สอบผ่าน ป.ธ. ๕ ศึกษาต่อเพื่อเข้าสอบ ป.ธ. ๖ ทุนละ ๖,๐๐๐ บาท
ทุนผู้สอบผ่าน ป.ธ. ๖ ศึกษาต่อเพื่อเข้าสอบ ป.ธ. ๗ ทุนละ ๘,๐๐๐ บาท
ทุนผู้สอบผ่าน ป.ธ. ๗ ศึกษาต่อเพื่อเข้าสอบ ป.ธ. ๘ ทุนละ ๑๒,๐๐๐ บาท
ทุนผู้สอบผ่าน ป.ธ. ๘ ศึกษาต่อเพื่อเข้าสอบ ป.ธ. ๙ ทุนละ ๑๖,๐๐๐ บาท

๓. ทุนการฝึกอบรมตามที่แม่กองบาลีสนามหลวง แม่กองธรรมสนามหลวง กองงานพระธรรมทูต โครงการธรรมจาริกและศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติกำหนด

๔. ทุนพระธรรมทูต ปัจจุบันมหาเถรสมาคมจัดให้มีหน่วยปฏิบัติการพระธรรมทูตอําเภอทําหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปตามเขตต่างๆ ทั่วประเทศ โดยแบ่งออกเป็น ๙ สาย โครงการทุนเล่าเรียนหลวงฯ จะพิจารณาถวายทุนพระราชทานแก่หน่วยปฏิบัติพระธรรมทูตที่มีผลงานดีเด่นสายละ ๑ ทุน รวม ๙ ทุน ทุนละ ๒๐,๐๐๐ บาท เพื่อสนับสนุนหน่วยปฏิบัติการต่างๆ ที่สามารถดําเนินการได้อย่างมีผลดียิ่ง โดยมีกองงานพระธรรมทูตเป็นผู้กํากับดูแลในการดำเนินการตามโครงการ

๕. ทุนสํานักเรียน เขตปกครองคณะสงฆ์ได้จัดให้มีสํานักเรียนและสํานักศาสนศึกษาตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรที่จะเข้าสอบเปรียญธรรมหรือศึกษาต่อด้าน พระพุทธศาสนาในขั้นสูงต่อไป โครงการทุนเล่าเรียนหลวงฯ จึงจะพิจารณาถวายทุนพระราชทานแก่สํานักเรียนและสํานักศาสนศึกษาที่มีผลงานดี เด่นในแต่ละเขตปกครองคณะสงฆ์ รวม ๕ ทุน ทุนละ ๓๐,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นทุนดําเนินการและแรงจูงใจให้สํานักเรียนเหล่านี้สามารถปรับปรุง คุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นไป โดยมีแม่กองบาลีสนามหลวงเป็นผู้กํากับดูแล

จุดเด่นของโครงการ

ส่งเสริมการศึกษาและปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาเพื่อมุ่งพัฒนาและสืบศาสนทายาทให้ได้เข้าถึงการศึกษาและปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เข้มแข็ง โดยเป็นทุนถวายให้กับพระภิกษุหรือสามเณรด้านการศึกษาและการปฏิบัติ ประกอบด้วย

๑. การศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมให้นิสิตที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ได้รับทุนในการศึกษาเกี่ยวกับพระไตรปิฎกและวิชาการชั้นสูง บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ในสาขาต่างๆ เช่น ปรัชญา รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และครุศาสตร์ เป็นต้น เพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม

๒. การศึกษาพระบาลี กำกับโดยผ่านแม่กองบาลีสนามหลวง เพื่อส่งเสริมให้ภิกษุ สามเณรที่ศึกษาบาลีหรือเปรียญธรรมในระดับประโยค ๖-๗-๘-๙ ได้มีโอกาสในการศึกษาค้นคว้าภาษาบาลีให้แตกฉานเป็นประตูสู่การเข้าถึงความรู้ในพระไตรปิฎกอันหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา โดยแม่กองบาลีสนามหลวง วัดปากน้ำ กรุงเทพมหานคร

๓. การฝึกปฏิบัติทุนพระวิปัสสนาจารย์ กำกับดูแลโดยศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้พระภิกษุได้มีแนวการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามหลักพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง ดำเนินรอยทางเพื่อเป็นพระวิปัสสนาจารย์นำองค์ความรู้และหลักปฏิบัติไปส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสืบต่อไป โดยศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส จังหวัดนครปฐม โดยโครงการทุนเล่าเรียนหลวงการอบรมมอบถวายปีละ ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท

๔. การเทศน์ตามโครงการฝึกอบรมพระนักเทศน์เฉลิมพระเกียรติ กำกับดูแลโดยศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ส่งเสริมให้พระภิกษุ สามเณรได้ฝึกการเรียนรู้ การเทศนา ตามแบบนิยมในสังคมไทย เพื่อเป็นแบบแผนของการแสดงพระธรรมเทศนาให้เป็นเอกลักษณ์และประยุกต์กับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสังคมร่วมสมัย โดยจัดขึ้นที่วัดประยุรวงศาวาส กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสำนักเทศนาที่เด่นดังมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยพุทธศาสนิกชนให้ความสนใจ เลื่อมใส และให้ความพึงพอใจกับเทศนาลีลาแบบสาลิกาป้อนเหยื่อที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นที่ชื่นชม นิยม ยกย่องของประชาชน โดยโครงการทุนเล่าเรียนหลวงถวายปีละ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท

๕) โครงการพระธรรมจาริก เป็นการส่งเสริมให้พระภิกษุและสามเณร ได้เรียนรู้การเผยแผ่หลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ซึ่งโครงการพระธรรมจาริก มหาเถรสมาคมมีมติให้จัดตั้งขึ้น เมื่อปี ๒๕๐๘ ด้วยเห็นความสำคัญของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในถิ่นทุรกันดาร เพื่อส่งเสริมความรัก ความสามัคคี ระหว่างประชาชนพื้นราบกับบนพื้นที่สูง โดยอาศัยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ปัจจุบันมีอาศรมของพระธรรมจาริกมากกว่า ๒๒๐ แห่งในพื้นที่ ๑๖ จังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย โดยมีศูนย์ประสานงานที่วัดเบญจมพบิตร กรุงเทพมหานคร และวัดศรีโสดา จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับทุนจำนวนปีละ ประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท

จำนวนการถวายทุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวง

สำหรับพระสงฆ์ไทย

การถวายทุนพระราชทานดำเนินการเป็นครั้งแรกในปีการศึกษา ๒๕๔๗ โดยคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ได้จัดสรรทุน ให้แก่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๗๖ ทุน และกองบาลีสนามหลวง อีกจำนวน ๗๖ ทุน รวม ๑๕๒ ทุน โดยได้ประกอบพิธีอัญเชิญทุนถวายพระสงฆ์เพื่อมอบให้แก่พระภิกษุและสามเณรผู้ได้รับการคัดเลือก เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๗ การให้ทุนจะให้ติดต่อกันไปจนกว่าจะสำเร็จการศึกษาถ้าผู้รับทุนผ่านการประเมินผลการศึกษาประจำปี

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ – พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้ถวายทุนการศึกษาพระราชทานไปแล้ว จำนวน ๙,๙๙๑ ทุน รวมเป็นเงิน ๑๐๘,๙๖๐,๘๙๕ บาท (หนึ่งร้อยแปดล้านเก้าแสนหกหมื่นแปดร้อยเก้าสิบห้าบาท)

การบริหารโครงการ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ ศ.นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานกรรมการโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย และพลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท เป็นรองประธานกรรมการ โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ตั้ง ณ ทำเนียบองคมนตรี สำนักราชเลขาธิการ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ยกเว้นการเสียภาษีเงินได้ จากทุนเล่าเรียนหลวงฯ อนึ่ง ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๕๙ (พ.ศ. ๒๕๔๙) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ให้เงินได้พึงประเมินที่คณะกรรมการได้รับเพื่อประโยชน์ของโครงการทุนเล่า เรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

การทูลเกล้าฯ ถวายทุนทรัพย์โครงการทุนเล่าเรียนหลวง สำหรับพระสงฆ์ไทย

สำหรับผู้มีจิตศรัทธาจะทูลเกล้าฯ ถวายทุนทรัพย์ เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลในการนี้ สามารถดำเนินการได้โดยโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย” ทางธนาคารต่อไปนี้
ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาย่อยพระบรมมหาราชวัง หมายเลขบัญชี ๐๖๑-๒-๐๖๕๙๒-๕
ธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนตะนาว หมายเลขบัญชี ๑๑๑-๔-๑๔๘๒๒-๒
ธนาคารกสิกรไทย สาขาเสาชิงช้า หมายเลขบัญชี ๐๐๔-๒-๓๗๑๑๑-๔
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาพาหุรัด หมายเลขบัญชี ๐๐๓-๑-๑๕๕๕๕-๕
ธนาคารกรุงไทย สาขาเสาชิงช้า หมายเลขบัญชี ๑๕๙-๐-๐๐๑๘๑-๘
จากนั้นส่งสำเนาใบโอนเงินไปยังที่อยู่ของโครงการฯ หรือหรือแฟกซ์ใบโอนเงินไปที่สำนักงานทุนเล่าเรียนหลวง

ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Suthito Aphakaro

Leave a Reply