วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม 2565 เวลา 11.15 น. ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ รับยื่นหนังสือจาก น.ส.มนัสวี วงศ์วีระวงศ์ ตัวแทนกลุ่มผู้เช่าพื้นที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และคณะ เรื่อง ขอความอนุเคราะห์กรณีวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ไล่ที่ชาวบ้านกลุ่มผู้เช่าพื้นที่วัด เพื่อสร้างอาคารปฏิบัติธรรม
สืบเนื่องจากวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร มีลิขิต วัดที่ 066/2563 ลงที่ 18 ธันวาคม 2563 แจ้งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ว่าวัดสุทัศนฯ มีโครงการจะสร้างอาคารปฏิบัติธรรม ในปี 2565 โดยให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ งดต่อสัญญาเช่าที่ดินและอาคารวัดสุทัศนฯ และให้ผู้เช่าออกจากพื้นที่เช่าภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 นั้น เนื่องจากลักษณะทางสถาปัตยกรรม อาคารดังกล่าวเป็นอาคารตึกแถวก่ออิฐสูง 2 ชั้น 11 คูหา ตั้งอยู่บนถนนตรีทอง แขวงราชบพิตร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร อยู่ฝั่งตรงข้ามข้างวัดสุทัศนฯ อาคารแต่ละคูหากว้างประมาณ 3.00 เมตร สูง 10.00 เมตร หลังคาทรงปั่นหยา มุงกระเบื้องว่าว ผนังก่ออิฐฉาบปูนเรียบ หน้าต่างเป็นบานแฝดไม้ลูกฟักกระดานดุน ด้านบนของหน้าต่างมีกันสาดยื่นออกมามุงด้วยสังกะสีและมีลายฉลุไม้โดยรอบ ส่วนบนของผนังมีลาดลายบัวหงายเป็นแนวตลอดช่วงอาคารขึ้นไม้ไปรับชายคา มีการประดับด้วยแนวเสายื่นออกมาจากผนังมีการเซาะร่องตามแนวนอน รูปแบบอาคารตึกแถวถนนตีทองนี้มีลักษณะที่แตกต่างจากอาคารตึกแถวบริเวณใกล้เคียง คืออาคารตึกแถวถนนตีทองนี้มีลักษณะอาคารที่เรียบง่าย มีการประดับตกแต่งลวดลายน้อย ไม่มีการปั้นปูนประดับปูนปั้นประดับตกแต่งอาคารตามสถาปัตยกรรมตะวันตกเหมือนอาคารตึกแถวอื่น ๆ ที่สร้างในยุคสมัยเดียวกัน อาคารเหล่านี้สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นอาคาร 100 กว่าปี ถึงแม้ว่ากรมศิลปากรยังมิได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน แต่ก็เป็นโบราณสถานโดยสภาพ โดยที่รัชกาลที่ 5 พระองค์มีพระราชดำรัสให้ก่อสร้างเพื่อให้ชาวบ้านเช่า และให้วัดสุทัศนฯ เก็บค่าเช่าเป็นรายได้ของวัดเป็นต้นมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
จากสภาพอาคารดังกล่าว มีรายงานและกฎหมายควบคุมหลายฉบับ ดังต่อไปนี้ 1. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 3 2. ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 3. พระราชบัญญัติ โบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 4. มาตรการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน ประกอบด้วย 4.1 พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 4.2 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 4.3 พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2525 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 4.4 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า พ.ศ. 2546 5. พระราชดำรัสของรัชกาลที่ 5 ให้ก่อสร้างอาคารดังกล่าวเพื่อให้ชาวบ้านเช่า และให้วัดสุทัศนฯ เก็บค่าเช่าเป็นรายได้ของวัด
น.ส.กานต์กนิษฐ์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อนุรักษ์โบราณสถานและชุมชนเก่าแก่ย่านเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป
ด้านนายอนุชา กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นความขัดแย้งระหว่างวัดสุทัศนฯ กับกลุ่มชุมชนผู้เช่าพื้นที่ จึงให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งวัดสุทัศนฯ เป็นสมบัติของชาติ จะทำอย่างไรที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้
Leave a Reply