วันที่ 23 ส.ค.2562 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษาและวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ(IBSC)มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย( มจร) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2562 ที่ผ่านมา พร้อมคณะได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมมหาปัญญาวิทยาลัย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งสังกัดคณะสงฆ์อนัมนิกาย หรือนิกายญวน สถาบันการศึกษาสมทบ มจร
คณะสงฆ์อนัมนิกายจัดได้ว่าเป็นโซ่คล้องใจและเชื่อมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างราชวงศ์ไทยกับราชวงศ์ของญวน ที่หนีภัยสงครามมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตั้งแต่ปี 2319 สมัยกรุงธนบุรี จนล่วงมาถึงรัชกาลที่ 1 อีกทั้งมีบทบาทสำคัญในการร่วมทำศึกสงครามกับทหารพม่า จนได้รับความดีความชอบมากมายล่วงมาถึงรัชการที่ 4 และสืบเนื่องมาจนถึงรัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี ที่ทรงสถาปนาตำแหน่งและสมณศักดิ์
ความสำคัญของคณะสงฆ์อนัมนิกายนั้นยังปรากฏร่องรอยให้ประจักษ์ในพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 ในมาตราที่ 5 ว่าคณะสงฆ์อื่น คือคณะสงฆ์อนัมนิกาย กล่าวคือรัฐบาลไทยให้การรับรองคณะสงฆ์อนัมนิกายหรือนิกายญวนอย่างเป็นทางการ ตามประเพณีนิยมที่สืบเชื่อสายมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี
จากความสัมพันธ์ที่ดีในลักษณะดังกล่าว จึงทำให้พระเดชพระคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้สนับสนุนให้คณะสงฆ์อนัมนิกายเปิดวิทยาลัยสงฆ์ให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาพระภิกษุสามเณรฝ่ายอนัมนิกายเพื่อทำหน้าที่ในการฟูมฟัก ทั้งวิถีประเพณีและวิถีปฏิบัติเพื่อกลับออกไปรับใช้คณะสงฆ์ฝ่ายญวนและบริการญาติโยมชาวญวนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
วิทยาลัยสงฆ์สำหรับอนัมนิกายจึงชื่อว่า “มหาปัญญาวิทยาลัย” โดยพระเดชพระคุณเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ได้มอบหมายให้มหาจุฬาฯ เข้าไปทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงจัดวางหลักสูตร ระบบการศึกษา พร้อมทั้งสนับสนุนในที่สุด มหาจุฬาฯจึงได้นำเสนอให้มหาปัญญาวิทยาลัยมีสถานะเป็นสถาบันสมทบและประกาศในราชกิจจานุเบกษาในที่สุด
นับตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2547 เป็นต้นมา ที่มหาปัญญาวิทยาลัยได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นสถาบันสมทบนั้น ส่วนตัวเพิ่งได้เข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยและหลังจากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ โดยมีพระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ ในขณะนั้นเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ (ปัจจุบันเป็นพระราชปริยัติกวี และเป็นอธิการบดี) ได้รับการมอบหมายให้เข้ามาทำหน้าที่ประสานและทำงานใกล้ชิดกับมหาปัญญาวิทยาลัยมาจนถึงปัจจุบัน
“หากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย(มมร) เป็นแหล่งสร้างสรรค์พระภิกษุสามเณรรุ่นใหม่เพื่อสนองงานคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติ และมหาจุฬฯเป็นแหล่งเรียนรู้พระไตรปิฏกและวิชาชั้นสูงเพื่อตอบโจทย์การบริหารกิจการคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย มหาปัญญาวิทยาลัยจะเป็นอื่นไปไม่ได้เลยหากมิใช่แหล่งฝึกฝนและพัฒนาศาสนทายาทของพระสงฆ์ฝ่ายอนัมนิกาย ตั้งแต่ระดับวุฒิบัตรไปจนถึงปริญญาตรี โท และเอก แล้วนำบุคลากรที่ผ่านการฝึกมารับใช้และพัฒนาองค์กรพระสงฆ์ฝ่ายอนัมนิกาย” พระมหาหรรษา กล่าวและว่า
ส่วนตัวเห็นว่า นี่เป็นเครื่องมือทรงพลังที่คณะสงฆ์อนัมนิกายจะต้องผนึกกำลังกันสืบสาน รักษา และต่อยอด กระบวนการพัฒนาสถาบันการศึกษานี้เอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการแสดงให้ราชสำนักไทย ราชการไทย รวมถึง คณะสงฆ์ไทย และมหาจุฬาฯ เกิดความมั่นใจ และพร้อมใจที่จะสนับสนุนมหาปัญญาวิทยาลัยให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาอนัมนิกายตลอดไป
Leave a Reply