ดีเดย์ 15 องค์กร ผนึกพลังขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ วัดพุทธแสงธรรม อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ได้มีการประชุมชี้แจงแผนยุทธศาสตร์โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ระยะที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๗๐) พิธีมอบโล่รางวัล พัดเกียรติยศ และเกียรติบัตร วัดต้นแบบ ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๕  และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดำเนินโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข (MOU) โดยมีคณะสงฆ์ องค์กรภาครัฐ และเอกชนจำนวน ๑๕ องค์กร อาทิ มหาเถรสมาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์   สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และบริษัทเนเจอร์กิฟ จำกัด ได้ทำการลงนามบันทึกข้อตกลงท่ามกลางคณะสงฆ์และประชาชนร่วมงานจำนวนมาก

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์  (สุชิน อคฺคชิโน) กรรมการมหาเถรสมาคม, ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม, ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธ ประธานในพิธีได้กล่าวว่า “โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข เป็นหนึ่งในงานปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา โดยมุ่งพัฒนาวัดและชุมชนให้เรียบร้อยรื่นรมย์ เป็นศูนย์การเรียนรู้และการพัฒนาจิตใจของประชาชน มีแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ โดยดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๖๑ หัวใจของโครงการ คือ กลไกการสร้างสายสัมพันธ์ความร่วมแรงร่วมใจกันของวัด ชุมชน และภาคเครือข่ายในท้องถิ่นด้วยอุดมการณ์ร่วมกัน คือ ศรัทธาปสาทะในบวรพระพุทธศาสนา และเจตจำนงให้วัดเป็นสถานที่สัปปายะ เป็นสถานที่พักแก่ผู้เข้ามาพึ่งพาบำบัดทุกข์และเสริมสร้างความสุขทั้งแก่กายและใจ อันจะนำไปสู่ความวัฒนาสถาวรของชาติและสถาบันพระพุทธศาสนา โดยหวังว่า โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข จะนำไปสู่การพัฒนาวัดและชุมชนให้มีการจัดการสิ่งแวดล้อมและการจัดการมรดกวัฒนธรรมของวัดให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป

ด้านพระธรรมรัตนาภรณ์ ประธานอนุกรรมการโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ส่วนกลาง  กล่าวว่า โครงการนี้มีป้าหมายสำคัญ คือ การส่งเสริมให้มีเกิดการขับเคลื่อนกิจกรรมและองค์ความรู้ ๕ส ไปสู่การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ การจัดการสิ่งแวดล้อม และรักษาความสะอาดภายในวัดให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ และการพัฒนาการเรียนรู้ทางสังคมวิถีพุทธ รวมทั้งการมีจิตอาสาเพื่อการพัฒนาสังคม         โดยมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายสำคัญคือ “วัดสวยด้วยความสุข” และ “การสร้างวัดในใจคน”

 โดยผลการดำเนินการในระยะที่ ๑ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๖๕ มีผลการดำเนินการ ดังนี้

 ด้านจำนวนวัดและประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ พบว่า มีวัดที่เข้าร่วมโครงการจำนวน ๒๒,๕๗๔ วัด จาก ๔๒,๔๖๙ วัดทั่วประเทศ หรือคิดเป็นร้อยละ ๕๓.๑๕ แบ่งเป็นวัดที่เข้าสู่มาตรฐานจำนวน ๑๙,๖๓๒ วัด วัดสร้างมาตรฐานระดับดี ๒,๑๑๗ วัด ระดับสร้างมาตรฐานดีเด่น ๖๗๙ วัด และระดับดีเยี่ยมจำนวน ๑๔๖ วัด โดยมีวัดที่ได้รับทุนอุดหนุนกิจกรรมจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจำนวน ๒,๑๗๘ วัด ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนดร้อยละ ๕๐ ของวัดทั่วประเทศภายในระยะเวลา ๕ ปี

ด้านความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ใช้กลยุทธ์การจับคู่วัดและองค์กรในการพัฒนาวัดและชุมชน โดยมีองค์กรที่ร่วมสนับสนุนโครงการจำนวนมาก จนเกิดขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุขให้เกิดสัมฤทธิผล คือ วัดสวยด้วยความสุข โดยมีตัวแทนประชาชน องค์กรภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมโครงการจำนวน ๒,๗๐๘,๘๘๐ คน

 ด้านกิจกรรมและนวัตกรรมของโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข โครงการได้พัฒนากิจกรรมวิถีพุทธที่สำคัญ คือ ๑) กิจกรรม ๕ส ภายในวัด ๒) กิจกรรมวัดสวยด้วยความสุข ๓) กิจกรรมการจับคู่สู่การพัฒนา ๔) กิจกรรม ซีเอสอาร์ (CSR) วิถีพุทธ ๕) กิจกรรมส่งเสริมจิตใจอาสาและปัญญาวิถีพุทธ  ๖) กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้วิถีพุทธ จนทำให้เกิดนำกิจกรรมดังกล่าวไปขยายผลสู่โรงเรียนและชุมชนทั่วประเทศ โดยมีชุดความรู้และสื่อสร้างสรรค์จำนวนมาก

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “กระทรวงมหาดไทยได้นำหลัก “บวร” มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดพลังในการพัฒนาที่เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่าง บ้าน วัด รัฐ และส่งเสริมให้ผู้นำทางศาสนาทุกศาสนาในพื้นที่นั้นๆ ร่วมเป็นแกนนำในการพัฒนา เพื่อประโยชน์ในการบำบัดทุกข์บำรุงของประชาชน เมื่อคณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคม ได้พัฒนาโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยไม่ว่าจะเป็นโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ และโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข กระทรวงมหาดไทยจึงให้ความสำคัญและสนับสนุนอย่างเต็มที่ สำหรับโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข นับว่าเป็นโครงการสร้างที่สร้างประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในวัดและชุมชนตามหลัก ๕ส และหลักสัปปายะเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้งดงาม การเปิดพื้นที่ให้วัด ประชาชน และรัฐ ได้เรียนรู้และทำงานร่วมกัน

สำหรับโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข เป็นหนึ่งในโครงการของแผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา โดยฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการเพื่อพัฒนาวัดให้เป็นสถานที่สัปปายะ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนา และเป็นรมณียสถานอันเป็นความสงบทางจิตใจของพุทธศาสนิกชน โครงการนี้มีป้าหมายสำคัญ คือ การส่งเสริมให้มีเกิดการขับเคลื่อนกิจกรรมและองค์ความรู้ ๕ส ไปสู่การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ การจัดการสิ่งแวดล้อม และรักษาความสะอาดภายในวัดให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ และการพัฒนาการเรียนรู้ทางสังคมวิถีพุทธ รวมทั้งการมีจิตอาสาเพื่อการพัฒนาสังคม โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ และขยายผลสู่ในระยะที่ ๒ พ.ศ.๒๕๖๖-๒๕๗๐ มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการพัฒนาชุมชน กรมอนามัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุขให้สัมฤทธิผล รวมทั้งมีตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมในการนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อพัฒนา “คุณภาพสิ่งแวดล้อม” ของวัดและชุมชน      โดยมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายสำคัญคือ “วัดสวยด้วยความสุข” และ “การสร้างวัดในใจคน”

Leave a Reply