คณะสงฆ์ปรับแผนรับพรบ.พระปริยัติธรรม ‘มจร’จัดธรรมจาริกใต้-พัฒนาแรงงานต่างด้าว


สมเด็จพระวันรัตพิธีเปิดการประชุมสัมมนาผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาพระปริยัติธรรม ประจำปีงบประมาณ 2562 หลังพ.ร.บ.ผ่าน สนช. อธิการบดี ‘มจร’ ปรับแผนรองรับ เตรียมจัดโครงการธรรมจาริกสร้างสันติสุขภาคใต้และพระบัณฑิตอาสาพัฒนาแรงงานต่างด้าว

เมื่อเวลา 09.09 น.วันที่ กุมภาพันธ์ 2562 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงพระบัญชาให้ สมเด็จพระวันรัต ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาพระปริยัติธรรม ประจำปีงบประมาณ 2562 ณ ห้องประชุมพุทธมณฑล สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ในการนี้นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายณรงค์ ทรงอารมณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้บริหารสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เข้าร่วมพิธี หลังจากพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ…ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา

สมเด็จพระวันรัต กล่าวสัมโมทนียกถา ความว่า การศึกษาสงฆ์ คือ หลักวิชาการทางพระพุทธศาสนา ตามหลักสูตรที่คณะสงฆ์ โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม(มส.) กำหนดแบ่งเป็น 3 แผนก คือ แผนกธรรม แผนกบาลี และแผนกสามัญศึกษา โดยการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลี เป็นการศึกษาที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถือเป็นการศึกษาดั้งเดิมของคณะสงฆ์ที่มีมาตั้งแต่โบราณ ควบคู่กับการศึกษาของชาติไทย มีวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาเพื่อให้พระภิกษุ สามเณร ได้ศึกษาเรียนรู้หลักพระธรรมวินัยตามพระไตรปิฎก สำหรับเป็นข้อวัตรปฏิบัติตนและอบรมสั่งสอนให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปได้รู้ตามและปฏิบัติ เป็นการจัดการศึกษาเพื่อสร้างศาสนทายาทสืบต่อพระพุทธศาสนา

ส่วนการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา เป็นการจัดการศึกษาแผนกหนึ่งของสงฆ์ ที่สนับสนุนให้ผู้เรียนซึ่งเป็นพระภิกษุ สามเณร ได้รับการศึกษาทางพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับวิชาการสามัญ กล่าวคือ เป็นการบูรณาการระหว่างการศึกษาของคณะสงฆ์ แผนกธรรมและแผนกบาลี กับการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสร้างโอกาสให้กับเยาวชนที่ขาดโอกาสที่จะศึกษาในระบบปกติ แล้วมาบวชใบบวรพุทธศาสนาได้มีโอกาสศึกษาเฉกเช่นเดียวกับเยาวชนไทยทั่วไป

“และการศึกษาสงฆ์ เป็นการจัดการศึกษาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเจริญมั่นคงของสถาบันพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาศาสนบุคคลให้เป็นศาสนทายาทที่มีคุณภาพ ซึ่งเมื่อพระพุทธศาสนามีความเจริญมั่นคง ก็จะส่งผลโดยตรงต่อความเจริญมั่นคงทั้งสถาบันชาติและพระมหากษัตริย์ การจัดการศึกษาสงฆ์เป็นการจัดการศึกษาโดยคณะสงฆ์เพื่อให้ภิกษุ สามเณร ตลอดจนพุทธบริษัททั่วไป ได้ศึกษาหลักพระธรรมวินัยอย่างถูกต้องตามที่จารึกไว้ในพระไตรปิฎก ซึ่งเมื่อได้ศึกษาพระธรรมวินัยอย่างดีแล้ว ย่อมนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องและงดงาม ก่อเกิดผลคือความสุข ความเจริญแก่ผู้ปฏิบัติ และธำรงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสถาพร เป็นไปเพิ่อประโยชน์สุขของบ้านเมืองอย่างแท้จริง”สมเด็จพระวันรัต กล่าว

พระราชปริยัติกวี, ศ.ดร.อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) รองแม่กองบาลีสนามหลวง กล่าวว่า การจัดการศึกษาของ มจร มีวัตถุประสงค์หลักของสนองงานคณะสงฆ์ ประกอบกับได้ร่วมประชุมนอกรอบเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้ก็ได้แนวทางในการจัดการศึกษาของ มจร ที่จะรองรับ พรบ.การศึกษาพระปริยัติธรรมในเบื้องต้น พร้อมกันนี้ได้มีเป้าหมายที่จัดโครงการธรรมจาริกสร้างสันติสุขภาคใต้และโครงการพระบัณฑิตอาสาพัฒนาแรงงานต่างด้าว

ขณะที่พระปริยัติธาดา (ป.ธาดา) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Pariyat Thada ความโดยสรุปว่า โหมโรง….พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. ….ได้ร่วมประชุมสัมมนาผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาพระปริยัติธรรม ประจำปี 2562 วันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2562 ณ หอประชุมพุทธมณฑล จ.นครปฐม หัวใจสำคัญของการประชุมครั้งนี้คืองพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรมที่ตอนนี้ผ่านสภานิติบัญญัติเรียบร้อยแล้วรอประกาศใช้

เมื่อมีผลบังคับใช้จะเกิดสิ่งต่อไปนี้ มาตรา 21,22 กำหนดให้ผู้จบนักธรรมเอกได้วิทยฐานะ ม.3 จบ ป.ธ.3 ได้วิทยฐานะ ม.6 มาตรา 24 กำหนดให้ จบ ป.ธ.9 ได้วิทยฐานะปริญญาเอก ได้ฟังบรรยายพิเศษจากสมเด็จพระวันรัตโดยขอให้ความสำคัญกับแผนกธรรมและบาลีมากกว่าสามัญศึกษาซึ่งเป็นวิชาทางโลก เพราะเป็นวิชาที่ช่วยตัวเองให้พ้นจากนรก นรกหมายถึงไม่ถูกตำรวจจับติดคุก ส่วนวิชาทางโลกไม่ช่วยยิ่งเรียนสูง ยิ่งโกงเก่งกว่าชาวนาจบป.4 ตกนรกในปัจจุบันนี้เยอะแยะไป

แต่ผู้เขียนเห็นว่าปัญหาสำคัญของการเรียนแผนกธรรมและบาลีคือผู้เรียนเพราะถูกบังคับจำใจเรียน ไม่มีแรงจูงใจเหมือนเรียนทางโลกซึ่งจบแล้วหางานทำได้ จึงทำให้จำนวนผู้เรียนน้อยลงทุกที ยิ่งไปกว่านั้นปริมาณของผู้บวชในปัจจุบันก็สำคัญ ไม่รู้เหมือนกันว่ากว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะออกมาบังคับใช้ จะเหลือนักเรียนอยู่ในระบบสักกี่รูป เพราะการบวชเณรก็ลดลงมาก การบวชพระอยู่จำพรรษาก็ลดลงทุกปี ที่บวชกันทุกวันนี้บวชเพียงไม่เกิน 1 เดือนที่ จะบวชเรียน นักธรรมตรีโทเอก เรียนบาลีประโยค1-2 ถึง ป.ธ. 9 นั่นน้อยเสียยิ่งกว่าน้อย เหมือนเขาโคกับขนโค คิดดูเอาเองว่าต่างกันขนาดไหน น่าแปลกที่ไม่หยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาพูดกันเลย

“ขอคุยเรื่อง พ.ร.บ. ต่อที่ผ่านมา รัฐบาลจะให้งบสนับสนุนการศึกษาให้วัดต่างๆ ตอนสิ้นปีการศึกษาตามรายหัวที่เรียนและสอบได้ เมื่อพ.ร.บ.นี้บังคับใช้ เขาจะให้งบประมาณมาใช้ก่อนไม่ให้ทีหลังแล้ว แต่เรื่องเงินกับพระต่อไปจะต้องทำบัญชีทุกอย่างเป็นเรื่องเป็นราวละเอียดและถูกตามระเบียบราชการ เพราะเอาเงินหลวงมาใช้ ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ ต้องมีที่มาที่ไปครบทุกสตางค์ ไม่เคยทำก็ต้องหัดทำบัญชีให้เป็น ไม่ทำก็ไม่ได้เพราะกฎหมายบังคับแล้วยังมีเรื่องการประเมินอีก เห็นโรงเรียนทุกโรงเรียนต้องมีการประเมิน ต่อไปวัดทุกวัดก็ต้องมีการประเมินเช่นเดียวกัน กฎหมายกำหนดไว้แล้วก็ต้องมีการประกันคุณภาพการศึกษาอีก แล้วพระต้องทำแผนการสอนด้วยไหม

เห็นสภาพครูสอนในสถาบันการศึกษาต่างๆในปัจจุบันแล้วยังคิดว่า ครูจะมีเวลาสอนนักเรียนหรือไม่ เพราะต้องทำเอกสารอะไรต่างๆ มากมายจนหัวฟู นอกจากนั้นยังต้องไปอบรมเพิ่มเติมหลักสูตรต่างๆ อีกตลอดทั้งปี แล้วจะเอาเวลาที่ใดไปสอนเด็ก เป็นธรรมดาของการเอางบประมาณแผ่นดินมาใช้ เขาต้องเช็คว่าใช้เงินของเขาคุ้มค่าหรือไม่ เรียกว่าต่อไปนี้ วัดต้องจัดระเบียบเรื่องการศึกษาใหม่หมด พระต้องปรับตัวใหม่หมดทุกภาคส่วน และไม่มีทางหลีกเลี่ยงด้วย เพราะเป็นกฎหมายพระก็อยู่ใต้กฎหมายบ้านเมืองด้วย พระพุทธองค์ตรัสสั่งไว้แล้วว่า “อนุชานามิ ภิกขเว. ราชานัง อนุวัตติตุง ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คล้อยตามพระราชา”

“พระราชบัญญัติแค่ชื่อก็บอกชัดเจนแล้วว่าเป็นบัญญัติของพระราชาจะไม่ปฏิบัติตามได้อย่างใด ประชุมวันนี้พูดเรื่องพ.ร.บ.ล้วนๆ ถือเป็นการโหมโรง. เพื่อประชาสัมพันธ์ออกแขกบอกกล่าวอย่างเป็นทางการ พอจะได้เนื้อหาสาระจากการประชุมบ้าง ไม่เสียเวลาเหมือนครั้งก่อนๆ เตรียมตัวเข้าสู่ยุค Buddhism 4.0 ได้เลย” พระปริยัติธาดา ระบุ

Leave a Reply