ชาวมอญหลายพันคน “ทำบุญ” วันออกพรรษา-ตักบาตรเทโว

วันที่ 29 ตุลาคม 2566 ณ วัดสุธรรมวดี แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร มีประชาชนชาวมอญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยจากพื้้นที่ใกล้เคียง เดินทางมาร่วมทำบุญเนื่องในเทศกาลออกพรรษาและตักบาตรเทโวโรหณะเป็นจำนวนหลายพันคน ซึ่งเทศกาลสำคัญเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาวัดสุธรรมดีถือว่าเป็นศูนย์กลางของชาวมอญผู้ใช้แรงงานนิยมมาทำบุญกันเป็นจำนวนมากเป็นประจำทุกปี

 

ในขณะที่ “วัดปรก” ซึ่งตั้งอยู่ในเขตสาทร กรุงเทพมหานคร ก็เช่นเดียวกันมีประชาชนชาวมอญมาร่วมทำบุญ โดยแต่ละคนแต่งชุดเสื้อขาว โสร่งแดง หรือเสื้อขาว ผ้าถุงแดง เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน

ประวัติ “ตักบาตรเทโว”

ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ เป็นประเพณีการทำบุญตักบาตรหลังวันออกพรรษา โดยคำว่า “เทโวโรหณะ” แปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก แต่เพื่อให้สะดวกในการสื่อความหมาย นิยมเรียกสั้นๆ ว่า “การตักบาตรเทโว”

โดยที่มาของประเพณีนี้ มาจากตำนาน “การเสด็จลงจากเทวโลกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” คือ หลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ได้เสด็จไปประกาศศาสนาทั่วชมพูทวีป ตั้งแต่เมืองราชคฤห์ พาราณสี สาวัตถีตลอดถึงเมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นราชปิตุภูมิของพระองค์ ทรงเทศนาโปรดพุทธสาวกและพระประยูรญาติทั้งหลายให้บรรลุมรรคผลตามสมควรแก่อุปนิสัยของแต่ละบุคคลมาเป็นลำดับถึง 6 พรรษา

จากนั้นพระองค์ทรงรำลึกถึงพระนางสิริมหามายาพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ดังนั้นในพรรษาที่ 7 หลังจากทรงตรัสรู้ พระองค์จึงได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษา ทรงเทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดาตลอดพรรษา ครั้นหลังออกพรรษา พระพุทธองค์ได้ทรงเสด็จลงสู่โลกโดยเสด็จสถิตเหนือยอดเขาสิเนรุราช โดยมีเหล่าเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายต่างพากันมาถวายเครื่องสักการบูชาเพื่อรับเสด็จพระพุทธองค์ และระหว่างนั้นได้เกิดเหตุอัศจรรย์ คือ เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรก ต่างมองเห็นซึ่งกันและกัน ดังนั้นในวันนี้จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก” คือ เปิดให้เห็น กันทั้ง 3 โลกนั่นเอง

เมื่อทรงเสด็จถึงโลกมนุษย์ที่เมืองสังกัสสนคร พระพุทธองค์ได้ทรงนำเหล่าพุทธสาวกออกรับบิณฑบาตจากประชาชนที่ไปรอเฝ้ารับเสด็จเพื่อทำบุญตักบาตรอย่างหนาแน่น ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธจึงถือเอาวันหลังออกพรรษา 1 วัน คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็น  “วันคล้ายวันเสด็จลงจากเทวโลก”

Leave a Reply