“วันอัฏฐมีบูชา” ประวัติ และความสำคัญที่ชาวพุทธควรรู้

             วันนี้ (3 มิ.ย. 64) เป็น “วันอัฏฐมีบูชา” วันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกวันหนึ่งที่อาจไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก โดยวันอัฏฐมีบูชาคือวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้าหลังเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 8 วัน ตรงกับ วันแรม 8 ค่ำ เดือนวิสาขะ

            ตามพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ ป่าสาละ เมืองกุสินารา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (วันวิสาขบูชา) แล้ว เจ้ามัลลกษัตริย์ ผู้ครองนครกุสินารา ได้ทำพิธีสักการบูชาพระบรมศพพระพุทธองค์หลังจากเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานเป็นเวลา 7 วัน ครั้นถึงวันที่ 8 ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 จึงได้อัญเชิญพระบรมศพไปถวายพระเพลิง ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง

           กุสินารา เป็น สังเวชนียสถานที่สำคัญ 1 ใน 4 สังเวชนียสถาน ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐอุตระประเทศ ประเทศอินเดีย ที่นี่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน

          ในสมัยพุทธกาล เมืองกุสินารา ตั้งอยู่ในแคว้นมัลละ และสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์ อยู่ในพระราชอุทยานของเจ้ามัลละฝ่ายเหนือแห่งกุสินารา ชื่อว่า อุปวัตตนะสาลวัน ซึ่งในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สาลวโนทยาน แปลว่า สวนป่าไม้สาละ นั่นเอง

          สำหรับความสําคัญของวันอัฏฐมีบูชาในประเทศไทย ยังคงมีประชาชนในบางจังหวัดที่ประกอบพิธีทางศาสนาในวันอัฏฐมีบูชา ด้วยการจัดประเพณีการถวายพระเพลิงพระบรมศพจำลอง เช่น วัดบรมธาตุทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์, วัดใหม่สุคนธาราม อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เป็นต้น

วันอัฏฐมีบูชา สะท้อนหลักธรรมข้อใดบ้าง?

           วันอัฏฐมีบูชา เป็นวันสำคัญที่ชาวพุทธควรตระหนักถึง “ความไม่เที่ยงของชีวิต” การเกิด แก่ เจ็บ และตาย ล้วนเป็นสิ่งธรรมดาที่คู่กับมนุษย์ ไม่เว้นแม้แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัจธรรมเหล่านึ้จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหนีพ้น ดังนั้น การใช้ชีวิตในแต่ละวัน จึงควรยึดหลัก “สุจริต 3” ในการปฏิบัติตน ได้แก่ กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต หมายถึงการประพฤติดีทั้งทางกาย วาจา และใจ อยู่ในทำนองคลองธรรม ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นนั่นเอง

การปฏิบัติตนในวันอัฏฐมีบูชา

             กิจกรรมวันอัฏฐมีบูชา 2564 จะมีลักษณะคล้ายกับพิธีกรรมทางศาสนาในวันวิสาขาบูชา พุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญตักบาตร สวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิ รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา ทำจิตใจให้ผ่องใส ซึ่งในบางพื้นที่ก็อาจจัดประเพณีการถวายพระเพลิงพระบรมศพจำลองให้ประชาชนเข้าสักการะบูชา

              วันอัฏฐมีบูชา อาจจะเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่หลายคนไม่คุ้นเคยมากนัก แต่เมื่อได้ศึกษาที่มา และความสำคัญของวันนี้แล้ว จะพบว่าเป็นวันที่สะท้อนหลักธรรมเรื่องความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอน เพื่อไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง.

 

ภาพ -ข้อมูล..สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ,ผู้จัดการออนไลน์

Leave a Reply