ตามไปดู  ชาวโคก หนอง นา  “ผู้ศรัทธาศาสตร์ของพระราชา”

          “..หากไปภาคเหนือฝากไปดูการเป็นอยู่ของคุณพงศกร ที่บ้านเขาด้วย เป็นอดีตนักโทษที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนทนาด้วย ตอนที่พระองค์เสด็จไปเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดลำพูน เขาทำโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง   รู้สึกเขาทำอยู่ที่บ้านที่ดินผืนเล็ก ๆ ของครอบครัว ลองไปคุยดู เผื่อเขามีปัญหาอะไรจะได้หาทางช่วยเหลือเขาได้บ้าง”

        “ทีมข่าวเฉพาะกิจ” ได้บุคคลเป้าหมายจาก สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ก่อนที่จะเดินทางไปภาคเหนือเพื่อไปสำรวจ ตรวจดู ความคืบหน้าในการดำเนินโครงการโคก หนอง นา  ซึ่งทางทีมงาน ได้กำหนดไว้  3 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และ จังหวัดตาก

        ข้อมูลของ “บำเพ็ญ  เมืองมูล” พัฒนาการจังหวัดลำพูน บอกว่าทีมงานว่า  โครงการโคกหนองนา โมเดล เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่อยากเรียนรู้และอยากทำในเรื่องของเกษตรทฤษฎีใหม่ โคก หนอง นา โมเดล ซึ่งเคยได้ยิน อยากทำแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร โครงการนี้ให้โอกาสได้รับความรู้ในการอบรมตามหลักสูตรถึง 5 วัน ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่ายกับคนที่สนใจอยากทำในเรื่องเดียวกัน และออกแบบแปลงด้วยตัวเองอีกทั้งได้เริ่มต้นทำในสิ่งที่อยากทำโดยมีส่วนร่วม จังหวัดลำพูนได้ดำเนินการโครงการนี้ไปเกือบร้อยเปอร์เซนต์แล้ว ชาวบ้านที่ได้รับการสนับสนุนตามโครงการมีความสุขและมีความพอใจที่ได้เข้าร่วมโครงการและถึงแม้ในการดำเนินงานจะมีปัญหาอุปสรรคมากมาย แต่เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนก็ไม่เคยย่อท้อและตั้งใจดำเนินโครงการอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ให้ประชาชนพึ่งตนเองได้และบรรลุวัตถุประสงค์โครงการให้มากที่สุด

        “จังหวัดลำพูนมีผู้เข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา รวมงบปกติและเงินกู้ทั้งหมด 158  แปลง แบ่งเป็นพื้นที่ขนาด 1 ไร่ จำนวน 145 แปลง และพื้นที่ขนาด 3 ไร่จำนวน 10 แปลง และขนาด 15 ไร่ จำนวน 1 แปลง กระจายอยู่ทั่วจังหวัด”

        เมื่อถามถึงบุคคลเป้าหมายตามคำชี้แนะของ สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พัฒนาการจังหวัดบอกว่า

       “น้องเขาชื่อ พงศกร เรือนเหล็ก เป็นเจ้าหน้าที่ นพต.หรือนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบของกรมการพัฒนาชุมชนเรานี่แหละ อยู่อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน” พร้อมกับแนะนำบุคคลที่ทำโคก หนอง นา ที่เคยเฝ้าพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและปราชญ์ชุมชนที่ศรัทธาและทำเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์ของพระราชาโดยมีกรมการพัฒนาชุมชนสนับสนุน

       “ทีมข่าวเฉพาะกิจ” เดินทางไปตาม GPS ไปหาบุคคลตามเป้าหมาย ใช้เวลาประมาณชั่วโมงกว่า ๆ จากตัวเมืองลำพูน ก็ถึงหมู่บ้านเป้าหมาย ซึ่งอยู่ห่างจากถนนหลักไม่มาก เข้าไปตามหมู่บ้านถนนแคบ ๆ เมื่อทีมงานไปถึงมีป้ายติดว่า โครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์ แปลงสาธิต ศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิต พงศกร เรือนเหล็ก บ้านแพะโป่ง ต.เหล่ายาว อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน

         จากข้อมูลของ “พี่เก่ง” สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน บอกว่า  น้องเขาทำบนโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง ในที่ดินของตนเองผืนเล็ก ๆ.. ซึ่งเมื่อไปถึงทีมงานเดินสำรวจพื้นที่ทำตามแบบโคก หนอง นาทุกประการบนที่ดินเล็ก ๆ มีบ่อ มีคลองใส้ไก่ มีผัก มีปลาและพื้นไม้เศรษฐกิจปลูกไว้แน่นเต็มอยู่ภายในบริเวณ

       “พงศกร เรือนเหล็ก” ปัจจุบันอายุ 25 ปี เล่าว่าตนเองต้องโทษจำคุกในข้อหารับซื้อของโจร โดยไม่ได้เจตนา ศาลตัดสินจำคุก 8 ปี แต่ติดจริง ๆ  2 ปีกว่า เพราะได้รับพระราชทานอภัยโทษ 3 ครั้ง  พ้นโทษเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563   ปัจจุบันอาศัยอยู่กับพ่อและแม่ในที่ดินของปู่ ซึ่งแบ่งให้แล้วประมาณ 1 งานกว่า ๆ

       เรียนเรื่องโคกหนองนา หลักสูตรของกรมราชทัณฑ์ 14 วัน ข้างในจะเรียนไม่เหมือนกับข้างนอก ข้างนอกประมาณเรียนตั้งแต่ 05.00 -21.00 น. แต่ที่กรมราชทัณฑ์เรียนกันเวลา 08.00 -15.00 น.   ที่ดินตรงนี้ปู่แบ่งให้พ่อกับแม่ 2 งาน และทำเพิ่มที่ดินของปู่ด้วย ตอนแรกท่านก็ไม่ยอม ตอนหลังแก้ที่ดินแล้ง ปลูกอะไรไม่ได้ ให้ดินมันดีขึ้น ตอนนี้ปลูกได้ทุกอย่าง

       “ตอนนี้มีแต่กรมราชทัณฑ์ที่มาทำป้ายให้ บ่อ ผัก ต้นไม้ ผมหาเอง ขุดเอง ก็มีผู้ใหญ่ระดับผู้ว่าราชการมาเยี่ยม แต่ก็แค่มาถามการเป็นอยู่ ไม่ได้ช่วยอะไร ส่วนกรมการพัฒนาชุมชน ยังไม่ได้ช่วยอะไร อาจเป็นเพราะไม่ได้เข้าร่วมโคก หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชนเอาไว้ และที่ดินตรงนี้มันผืนเล็กด้วย..”

      เมื่อทีมงานถามถึงรู้สึกอย่างไร ได้พูดคุยกับพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว พงศกร เรือนเหล็ก บอกว่า

     “ตื่นเต้นมาก ปลาบปลื้มใจ พระองค์ทรงถามถึงการทำโคก หนอง นา ว่าประสบความสำเร็จไหม ให้กำลังใจว่า ให้ทำต่อไป  ทำให้เขาเห็น และอย่าทำความผิดซ้ำ ซึ่งก็คงหมายถึง ทำให้สำเร็จ ให้สังคมเห็นว่า เราทำได้  หลัก ๆ พระองค์ทรงตรัสถามประมาณนี้..”

      รายได้หลัก ๆ ตอนนี้เท่าที่คุยกับพงศกร เรือนเหล็ก ก็คือ เงินเดือนจากการเป็น นพต.ของกรมการพัฒนาชุมชนเดือนละ 9,000 บาท ส่วนผักและปลาในบ่อ เมื่อถามว่าได้นำไปขายหรือไม่ คำตอบคือ แค่กินภายในครอบครัว หากเหลือชาวบ้านอยากมาเก็บกิน ก็ไม่ว่ากัน เพราะมันมีไม่มาก

        ทีมงานเดินรอบบริเวณบ้านที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ดินขนาด 2 งาน มีผักและต้นไม้ต่าง ๆ  ปลูกไว้เต็มพื้นที่ตามหลักปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง มีบ่อน้ำที่เลี้ยงปลาเอาไว้ คลองใส้ไก่เล็ก ๆ

       เป้าหมายสูงสุดของ พงศกร เรือนเหล็ก ก็คือ อยากทำเป็นศูนย์เรียนรู้ มีฐานการเรียนรู้ ทำเป็นแบบอย่างให้คนในชุมชนดู ให้คนในชุมชนรู้ว่า ศาสตร์ของพระราชา เป็นที่พึ่งของครอบครัวและชุมชนได้ โดยเฉพาะผักปลอดสารพิษ ทุกครัวเรือนควรเอาใจใส่ เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพของคนในครอบครัวและตนเองด้วย..

 

      เด็กหนุ่มในวัยเบญจเพสพูดน้อย ดูนิ่งๆซื่อๆ  แววตาที่เชื่อมั่นและศรัทธาใน “ศาสตร์ของพระราชา” ก่อนจากกันย้ำอีกว่า จะเดินตามรอยศาสตร์ของพระราชา ยุคโควิด -19 นี้พิสูจน์ชัดแล้วว่ามันคือ ทางรอด มิใช่แค่ทางเลือกเท่านั้น

      ห่างจากแปลงของพงศกรไม่ไกลมาก ทีมงานเจอ “ปราชญ์เดินดิน” ตัวจริง ผู้ศรัทธาหาญกล้าในศาสตร์ของพระราชาผลิกแผ่นดินจากทำพืชเชิงเดียวมาปลูกพืชแบบ “ผสมผสาน” บนเนื้อที่ 13 ไร่ ท่ามกลาง “การคัดค้าน” จากพ่อ แม่ รวมทั้งคนในชุมชนหาว่า “บ้าไปไม่รอด” ช่วงวิกฤตการณ์ของชีวิตที่ประสบอุบัติเหตุ และในวันนี้เขาพิสูจน์แล้วว่าศาสตร์ของพระราชา ทำให้เขายืนยงอยู่ได้อย่างมีความสุข อีกทั้งยังสามารถปลดหนี้ที่ติดอยู่หลายแสนได้

    “มหิศร  เหลืองทา”  หรือ “พี่แต๋ว”  ผู้นำต้นแบบ “โคก หนอง นา”  ของกรมการพัฒนาชุมชน ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน  เมื่อทีงานไปถึงสวนสังเกตเห็นภายในสวนมีทั้งต้นไม้สัก ไม้พะยูง ต้นลำใยที่กำลังออกลูก มีบ่อหลายบ่อ บนพื้นดินมีต้นข่า ขิง และพืชผักมากมาย อุดมสมบูรณ์เหมือนป่าทึบ มีเสียงนก จักจั่นร้องระงม บรรยากาศเหมือนอยู่ในป่าลึก

      “พี่แต๋ว” กำลังเขมักเขม่นทำงานอยู่ในสวน ปรับแต่งกิ่งผักหวานที่ขึ้นอยู่ริมรั่วเต็มไปหมด คำแรกเมื่อเจอเราบอกว่า ขอโทษที่แต่งตัวไม่เรียบร้อย กำลังแต่งกิ่งผักหวานและดูต้นไม้ ต้นผัก ที่เพิ่งปลูกใหม่ริมบ่อที่กรมการพัฒนาชุมชนขุดเอาไว้  พร้อมกับหาไม้ค้ำยันการเดิน ซึ่งก็ได้สร้างแปลกใจกับเราเล็กน้อย

       “พี่แต๋ว” สมเป็นนักปราชญ์และ “ผู้นำต้นแบบ” ของกรมการพัฒนาชุมชน เพราะรู้ลึก รู้จริง จากประสบการณ์ตรง อธิบายหลักการการอยู่ร่วมกันของต้นไม้ การวางระบบท่อภายในสวน ,การผันน้ำเข้าสวน ,เทคนิคการเลี้ยงกบ ผสมพันธุ์กบ พร้อมบอกเคล็ดลับวิธีหารายได้จากการสร้างป่าเช่น “การเลี้ยงผึ้ง” โดยธรรมชาติ เทคนิคการขยายการเลี้ยงผึ้งให้มาทุกปี  วิธีการจัดระบบสวนบนเนื้อที่ 13 ไร่ ได้อย่างน่าทึ่ง พร้อมกับอธิบายเท้าความการเดินตามรอยศาสตร์ของพระราชา

      “ผมฟังในหลวงท่านพูดทางทีวีประมาณปี 39 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องการทำพืชผสมผสาน ก็อยากลอง เพราะคิดว่าพระเจ้าแผ่นดินคงไม่โกหกเราแน่ ตอนนั้นสวนนี้ทั้ง 13 ไร่ มีแต่ลำไย ราคาก็ดีอยู่ ทดลองก่อนทำแบบผสมผสานแบบในหลวงพูดก่อน 13 ไร่ ปลูกต้นสัก ขุดบ่อเลี้ยงปลา  ตอนทำนี้พ่อแม่นี่ห้ามเลยนะ แล้วคนข้าง ๆ บ้านที่เขาเดินไปเดินมาก็ว่า..เราบ้าหรือเปล่า เอาไม้ใหญ่ เอาไม้ไผ่ มาลงในสวนลำใยอย่างนี้  ตอนหลังก็ขุดบ่อเลี้ยงปลาไว้กิน ไว้ขาย ลงปลูกก้านไว้ขายดอกคนแถวนี้ชอบกิน ลงผักหวาน เต็มพื้นที่เลย..”

        ยอมรับว่าหลังต้นสักโต ผลผลิตลดลงประมาณ 30 % แต่ที่ได้มาคือ ลูกลำไยสวย มันดำกว่า สวยกว่าที่ถูกแดดเยอะ ๆ  ราคามันก็ดีกว่า ไม่ฉีดยา ปุ๋ยเร่ง ปุ๋ยบำรุงทำเองหมด ไม้ค้ำก็ได้จากไม่ไผ่ที่ปลูก ตอนหลังลำไยราคาตก เรานี้สบายเลย ไม้ไผ่ก็ขายได้ ผักหวาน ผักก้านขายได้หมด  คนก็มาดูงานมาดูที่สวนเรามากขึ้น ขนาดน้ำผึ้งที่วางขายอยู่นี่ ก็มาจากสวนนี่แหละมีอยู่ประมาณ 10 กว่าบ้านที่เราทำให้เขามาอยู่ มาทุกปี เก็บขายได้ทุกปี สาเหตุที่เขามาเพราะที่นี้เป็นป่าอุดมสมบูรณ์

        “ต้นไม้เหล่านี้เขาก็อยู่ร่วมกันได้ตามทฤษฎีของในหลวงเลยนะ ท่านบอกว่าอย่ายึดติดกับตำรา ปรับเปลี่ยนตามสภาพภูมิอากาศแต่ละท้องถิ่น”

       การทำเศรษฐกิจแนวนี้ระยะ  5  ปีแรก  เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ อย่าใจร้อน “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง” ในหลวงรัชกาลที่ 9 บอกว่า  เศรษฐกิจพอเพียงนี้ให้ปฏิบัติเพียงครึ่งเดียว หมายความว่า ถ้าทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่ของประเทศก็จะเพียงพอแล้ว เราจะไปกันรอด ยุคโควิดนี้พิสูจน์ความสัตย์จริงของคำพูดในหลวงตรงนี้แล้ว ตอนนี้คนแถวนี้หันมาสนใจเรื่องผักปลอดสารพิษ เรื่องปลูกผักกินกันเองมาก

        และลงมือทำจริง ๆ ก็ประมาณปี 2544 เดินหน้าตามศาสตร์ของพระราชาเต็มพื้นที่ ตอนนั้นมีหนี้อยู่หลายแสน จนปลดหนี้ได้หมดภายในปี 2558 ประสบอุบัติเหตุทำอะไรไม่ได้เลย 1 ปีเต็ม กลายเป็นคนพิการเดินไม่สะดวก ต้องให้ภรรยาและลูกทำแทน แต่อยู่ได้ เพราะเราไม่มีหนี้ และมีต้นทุนที่ทำไว้แล้ว รอเก็บกินอย่างเดียว

         ตอนนี้อยู่ได้เพราะศาสตร์ของพระราชา เพราะเดินรอยตามทฤษฎีในหลวง จึงมีความตั้งใจว่า จะถ่ายทอดความรู้ตรงนี้ตอบแทนพระองค์ ตอบแทนคุณแผ่นดิน ใครอยากจะมาดูงานที่นี้มาเลย ใครเชิญให้ไปเป็นวิทยากรบรรยายก็ไป

        “ตอนนี้กรมการพัฒนาชุมชนมาขุดบ่อให้แล้ว ตอนขุดมีต้นไม้ใหญ่ ๆ เต็มไปหมด คนขุดยังถามเลยว่า ทำไมทำใจได้ ยอมตัดต้นไม้ ต้นไผ่ที่ปลูกไว้หลายสิบปีออก จึง บอกเขาว่า ทำสวนทำไร่ พื้นที่ต้องมีน้ำ พื้นที่ต้องชุ่ม ผลผลิตจึงได้ดี และโคก หนอง นา นี้มันคือ ศาสตร์ของพระราชา ซ้ำขุดฟรีอีกต่างหาก ดีกว่าขุดเองต้องเสียเงิน 2-3 หมื่น

      ที่นี่ผมขอขุดตามแบบเราเองนะ ขอบ่อเดียว เพราะเราเป็นคนพิการเดินเหินไม่สะดวก ขอบ่ออย่างเดียว ไม่ต้องมีคลองใส้ไก่ สำหรับท่อต่อเข้าบ่อ เดียวเราจัดกันเอง ทางกรมการพัฒนาชุมชน ท่านก็โอเค ไม่ว่าอะไร..”

         ตามข้อมูลมีนักธุรกิจอีกคนหนึ่งที่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าในหลวงเพื่อถวายรายการการทำโคก หนอง นา อยู่ในอำเภอเมืองลำพูน ทีมงานไม่รอช้า หลังจากเก็บกินผลลำใยสวน มหิศร  เหลืองทา เรียบร้อย รีบตีรถกลับไปยังตัวเมืองเพื่อไปหาบุคคลตามเป้าหมายทันที

      “อำนวย ผัดสัก” นักธุรกิจดีกรี “วิศวะไฟฟ้า”   ผู้นำต้นแบบโคก หนอง นา  ต.ป่าสัก อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน ผู้ก่อตั้ง “ศูนย์การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลป่าสัก”

        อำนวยบอกว่า  หลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สวรรคตเมื่อปี 2559 ในใจมันฉุกคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงตลอด จุดเปลี่ยนสำคัญก็คือ รู้สึกอิ่มตัวกับระบบธุรกิจ ผนวกกับเห็นคนแถวนี้ฉีดยาพ่นยาทำนากันเยอะ เราไม่รู้ว่าผักที่เรากินเข้าไปนั้นมันมีสารพิษหรือไม่ อยากทำเกษตรธรรมชาติปลอดสารพิษ ยังไม่ได้คิดว่าต้องทำรูปแบบไหน แต่สนใจไว้ก่อน ไม่อยากทำเหมือนชาวบ้าน ก็ค้นหาหลักกสิกรรมธรรมชาติ อยากรู้ศาสตร์ของพระราชา เขาทำกันอย่างไร ก็อ่านตามหนังสือ ฟังทีวี สุดท้ายก็ไปแสวงหาเรียนรู้ตามศูนย์ต่าง ๆ หลายแห่ง

        สุดท้ายประมาณปี 61 ตัดสินใจไปเรียนที่ ศูนย์​กสิกรรม​ธรรมชาติ​มาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ของอาจารย์ยักษ์ หรือ ดร. วิวัฒน์ ศัลยกำธร อบรมเสร็จวิชาร้อนแรงมาทำเลยบนเนื้อที่ 3 ไร่ ตอนหลังก็ซื้อที่ดินเพิ่มจากพี่น้องอีก รวมแล้วประมาณ  7ไร่  ก็ทำหมด แล้วก็ตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ด้วย

       “เป้าหมายจริง ๆ  ของผมก็คือ หนึ่ง ต้องการทำเป็นป่าตามทฤษฎีในหลวงคือป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง สอง  มีแหล่งอาหารที่ปลอดสารพิษ มีข้าวกิน มีผลไม้ที่เราชอบ ไม่ได้คิดอะไรที่เป็นเชิงธุรกิจ แต่คิดเรื่องความเป็นอยู่คุณภาพชีวิตในวัยที่แบบเราไม่ต้องการอะไรมากแล้ว  อีกอย่างหนึ่งก็คือ ในหลวงพระองค์ท่านรณรงค์หรือชักชวนให้เราทำกันตั้งนานแล้ว แต่ก็มีคนน้อยมากที่มองเห็น สร้างป่า สร้างน้ำ สร้างดินให้มันดี”

     เมื่อทีมงานถามถึงในคราวที่พระบาทสมเด็จพระวิชรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสร็จมาเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดลำพูน อำนวยเป็นหนึ่งในพสกนิกรหลายคนที่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าและทรงสนทนาด้วย พระองค์ตรัสถามถึงอะไรบ้าง อำนวยบอกว่า

     “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนทนาด้วยประมาณ 10 นาที ใจความสำคัญก็คือเรื่อง โคก หนอง นา  ซึ่งยอมรับว่า พระองค์เก่งมาก รู้เรื่องโคก หนอง นาและการบริหารจัดการน้ำได้ดีมาก เราเอาแบบให้พระองค์ทอดพระเนตร  พระองค์ก็ถามเรื่องการจัดการน้ำ การจัดการเรื่องที่ดิน สุดท้ายพระองค์ตรัสว่า ให้ทำต่อ และขยายโคก หนอง นา ให้ชาวบ้านได้รับรู้และทำด้วย..”

     ทีมงานสังเกตใกล้เคียงพื้นที่โคก หนอง นา ของอำนวย ผัดสัก มีโรงงานขนาดใหญ่หลายโรงงานตั้งอยู่ มีหมู่บ้านจัดสรรเล็ก ๆ  2-3 แปลง  ซึ่งอนาคตยังคิดไม่ออกว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อวิถีชีวิตคนทำการเกษตรรอบข้างอย่างไร

       หลังจากพูดคุยกับคนศรัทธาในศาสตร์ของพระราชาทั้ง 3 คนเรียบร้อย “ทีมงานข่าวเฉพาะกิจ” ได้แจ้งสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ตามรับปากไว้ก่อนเดินทางมาจังหวัดลำพูน เรื่อง “พงศกร เรือนเหล็ก” ว่าน้องพงศกร เป็นเด็กยากจน เคยติดคุกเพราะคดีรับซื้อของโจร โดยไม่ได้ตั้งใจ ทำโคกหนองนา ไม่มีที่ดินของตนเอง มีบ้านกระต๊อบหลังเล็ก ๆ อาศัยอยู่กับพ่อแม่ เท่าที่คุยดูเป็นคนซื่อ คุยน้อย แต่ตั้งใจทำงานเดินตามรอยศาสตร์ของพระราชา เมื่ออธิบดีท่านรู้ข้อมูล ตอบกลับมาว่า  “ขอเบอร์โทรน้องเขาหน่อย เดี่ยวพี่จะหาที่ดินให้น้องเขา” หลังจากนั้นไม่นานน้องพงศกรโทรแจ้งมายังทีมงานว่า “ท่านอธิบดีโทรมาให้ผมหาที่ดินบริเวณแถวหมู่บ้าน ท่านจะจัดหาที่ดินให้เพื่อทำโคก หนอง นา “

   คำขวัญกระทรวงมหาดไทยที่ว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ระบบเกื้อกูลเอื้อเฟื้อเผือแผ่อันเป็นคุณธรรมประจำชาติของไทย เพื่อให้ผู้คนในสังคมอยู่ แบบร่มเย็นเป็นสุขแบบ พอกิน พอใช้ พออยู่  พอร่มเย็น ภายใต้ผืนแผ่นดินเดียวกัน ไม่ได้อยู่เฉพาะในตัวหนังสือหรือคำพูด..ผู้นำต้องทำเป็นตัวอย่าง..เสมอครับ

 

           

 

 

 

 

 

 

Leave a Reply