กสทช.นัดสมาคม-องค์กรวิชาชีพสื่อ ถกบทเรียน ‘หลวงปู่แสง’ ชี้เกิดจากขาดความรู้-ไม่ตรวจสอบกระบวนการข่าว ก่อนชงตั้งคณะทำงานสกรีนข่าวหน้าจอ ใช้อัลกอริทึ่มให้คะแนนสื่อดีมีรางวัล ด้านนายกสมาคมนักข่าววิทยุฯ ส่งเสียงถึงองค์กรสื่อให้ความสำคัญที่มาของข่าว อย่าเน้นตัวบุคคลมากไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ที่สำนักงาน กสทช. ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติด้านกิจการโทรทัศน์ ร่วมกับองค์กรสื่อและสมาคมวิชาชีพ จัดการประชุมในหัวข้อ การนำเสนอข่าวภายใต้มาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพและประโยชน์สาธารณะ หลังจากที่สังคมวิจารณ์การทำงานของสื่อในกรณีข่าวหลวงปู่แสง ญาณวโร ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
ศ.ดร.พิรงรอง เปิดเผยภายหลังการหารือว่า วันนี้เป็นการหารือร่วมกันและแลกเปลี่ยนอภิปรายกันในภาคอุตสาหกรรมสื่อ ซึ่งเท่าที่แลกเปลี่ยนก็ทำให้รู้ว่า สื่อมีปัญหาทั้งระดับโครงสร้างของอุตสาหกรรมที่ถูกครอบงำด้วยการแข่งขันเชิงพาณิชย์ แม้ กสทช. จะมีมาตรการเยียวยาไปบางส่วน แต่ต้นทุนในการประกอบกิจการโทรทัศน์ก็ยังสูงมาก และยังมีเรื่องเรตติ้งที่เป็นกลไกสำคัญในการแข่งขันด้วย
อีกประเด็นปัญหาที่สำคัญคือ การทำงานของสื่อในปัจจุบันอยู่บนพื้นฐานจริยธรรมมากน้อยเพียงใด ข้อจำกัดมีอะไร และการที่มีผู้สื่อข่าวบางคนอ้างว่ากระทำบางอย่างไปโดยอ้างว่าไม่รู้นั้น อาจจะสะท้อนไปถึงปัญหาของกองบรรณาธิการที่ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบให้ดีได้ รวมไปถึงการกำกับดูแลกันเองของสื่อทั้งในสมาคมวิชาชีพและองค์กรของสื่อเอง เบื้องต้น เห็นร่วมกันว่าในอนาคตจะลดการกำกับโดยใช้กฎหมายลง แต่จะส่งเสริมการกำกับดูแลโดยสมาคมวิชาชีพและองค์กรสื่อกันเอง
“ที่ผ่านมา การใช้กฎหมายโดยเฉพาะการนำมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาประกอบใช้ มีปัญหาด้านการตีความว่าไม่ชัดเจนและอาจจะเลยขอบเขตของกฎหมาย ดังนั้น อนาคต จะต้องพิจารณาร่วมกันว่า จะทำอย่างไรให้การพิจารณาใช้มาตรา 37 ตามกฎหมายดังกล่าวชัดเจนและอยู่ในขอบเขตที่เป็นประโยชน์” ศ.ดร.พิรงรอง กล่าว
ส่วนข้อเสนอที่เห็นร่วมกันเป็นรูปธรรมคือ การประยุกต์นำ ระบบตรวจจับทางหน้าจอที่จะใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ โดยจะใช้อัลกอริทึ่ม (Algorithm) เหมือนแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆในการตรวจจับสิ่งที่ละเมิดจริยธรรม ทั้งภาษา เพศ และความรุนแรง แล้วนำข้อมูลมาประมวลสร้างระบบการให้คะแนน (Social Credit) ช่องที่ดีจะมีดาวให้ แล้วให้รางวัล เช่น การลดค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น โดยจะประสานมีเดีย เอเจนซี่ และองค์กรในอุตสาหกรรมสื่อร่วมกันนำคะแนนนี้ เป็นปัจจัยในการสนับสนุน นอกจากเรตติ้งเพียงอย่างเดียว
ดังนั้น เบื้องต้นจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อดูแลด้านนี้โดยมีตัวแทนองค์กรสภาวิชาชีพสื่อร่วมในคณะทำงานด้วย และมีตัวแทนจากกสทช.เข้าไปร่วมด้วย คาดว่าจะเริ่มตั้งคณะทำงานได้ทันที
พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.
ศ.ดร.พิรงรอง กล่าวต่อว่า การสรุปบทเรียนกรณีการทำข่าวหลวงปู่แสง เบื้องต้นเท่าที่เห็นร่วมกันคือ เริ่มต้นจากความไม่รู้ของผู้สื่อข่าวและกองบรรณาธิการ รวมไปถึงการขาดการตรวจสอบกระบวนการทำงานข่าว และวิธีการได้มาซึ่งข่าวสารก็ไม่ชอบธรรม ส่วนจะมีความผิดอย่างไร กรณีนี้ขอเคารพกระบวนการกำกับดูแลของต้นสังกัดและองค์กรวิชาชีพสื่อ
ส่วน กสทช. โดยอำนาจแล้วมีระบุในมาตรา 37 และ 40 ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งผู้เสียหายสามารถร้องเรียนเข้ามาได้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีร้องเรียนเข้ามา แต่ กสทช. ไม่ได้นิ่งนอนใจ การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นการเทคแอ๊ดชั่นของเราเช่นกัน ส่วนทางองค์กรวิชาชีพสื่อก็ออกแถลงการณ์เรียบร้อยแล้ว
ขณะที่ประเด็นการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงมาก ที่ผ่านมา กสทช.เคยมีบทลงโทษที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดสด ซึ่งการอนุญาตให้ถ่ายทอดสด เป็นการตัดสินใจของกองบรรณาธิการขององค์กรสื่อนั้นๆ ถือเป็นมาตรฐานทางจริยธรรมของแต่ละช่อง ส่วนจะหารือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีช่องทางการถ่ายทอดสดอย่างเฟซบุ๊กหรือไม่นั้น น่าจะเป็นสิ่งที่ต้องทำร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อต่อไป
“เราจะพยายามทำงานกับองค์กรวิชาชีพสื่อมากขึ้น เราต้องการให้องค์กรวิชาชีพมีบทบาทในการดูแลมากขึ้น เมื่อก่อนคณอนุกรรมการของ กสทช. ทั้งด้านเนื้อหา, กำกับดูแล และส่งเสริมวิชาชีพ มีกรรมการ กสทช.ดูแลด้านละ 1 คน แต่ปัจจุบันดูแลคนเดียว ดังนั้น การทำงานทุกอย่างต้องต่อเนื่อง การดูแลด้านเนื้อหาไม่ใช่ว่าจะใช้มาตรา 37 ลงโทษอย่างเดียว เนื้อหาก็ต้องส่งเสริมด้วย ต้องมอง 2 ทาง และต้องเข้าใจความทุกข์ยากอุตสาหกรรมสื่อด้วย โจทย์คือจะทำอย่างไรให้เห็นภาพรวมทั้งหมด ส่วนมาตรการต่างๆยังเหมือน กสทช. คณะเดิมอยู่ไหม บอกไม่ได้เลย เพราะทุกอย่างปฏิรูปหมด แต่หากมีการใช้มาตรการทางปกครอง จะต้องเป็นกรณีที่ร้ายแรงจริงๆเท่านั้น” ศ.ดร.พิรงรอง กล่าว
ด้านนายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า คำถามที่ว่าผู้สื่อข่าวมีกระบวนการทำข่าวโดยยึดตัว Influencer เป็นสำคัญนั้น ได้ส่งเสียงไปถึงผู้บริหารองค์กรสื่อให้ความสำคัญเรื่องที่มาของข่าว และในฐานะอีกหมวกหนึ่งคือ บรรณาธิการสำนักข่าวเนชั่น ก็มีนโยบายชัดเจนว่า ไม่ให้พื้นที่กลุ่มทนายความที่รวมกลุ่มกันแล้วมาสร้างตัวเป็นแหล่งสร้างคอนเทนต์ ซึ่งถ้าทุกองค์กรเห็นว่า บุคคลเหล่านี้ไม่ใช่บุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับข่าวโดยตรง และเลือกที่จะไม่ให้พื้นที่ ปัญหานี้จะถูกแก้โดยตัวมันเอง
แต่ในฐานะสมาคมวิชาชีพได้ส่งข้อความถึงผู้บริหารองค์กรว่า ให้กำชับเรื่องนี้ในแนวทางปฏิบัติอย่างเข้มงวด เพราะการตรวจสอบอย่างเข้มขัน จะทำให้เรื่องแบบนี้ไม่เกิดขึ้นอีก
พีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
ที่มา:https://www.isranews.org/
Leave a Reply