ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้การต้อนรับ รมช.ศึกษาธิการ ร่วมหารือแนวทางการดำเนินงาน “ส่งเสริมการเรียนรู้ประชาชนทุกช่วงวัย”

 

วันที่ 19 พ.ค. 65 เวลา 11.30 น. ที่ห้องรับรองปลัดกระทรวงมหาดไทย อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้การต้อนรับ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ… พร้อมด้วยนางกอบกุล อาภากร ณ อยุธยา สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ……. ในโอกาสร่วมหารือแนวทางการขับเคลื่อนตามร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ……. โดยมี นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสุพจน์ จิตร์เพ็ชร์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น ร่วมหารือ

ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ขอขอบคุณปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่ได้ให้เกียรติกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ… ในการร่วมหารือแนวทางการขับเคลื่อนตามร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการฯ ได้ลงพื้นที่เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ… ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ทำให้ได้รับทราบข้อมูลเสียงสะท้อนและสภาพปัญหาต่าง ๆ จากพี่น้องประชาชนและผู้แทนหน่วยงานทั้งในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ก่อนนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการพิจารณา อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

     “การหารือในวันนี้ มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับประชาชนทุกช่วงวัย ทุกกลุ่ม ตั้งแต่เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้พิการ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ในหลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีความเข้าใจระเบียบที่คลาดเคลื่อน ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติเกิดความผิดพลาดในขั้นตอนการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” ดร. กนกวรรณฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และท่านวุฒิสมาชิก ที่ได้ให้เกียรติกับกระทรวงมหาดไทยร่วมหารือร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ… ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับพี่น้องประชาชนทุกช่วงวัย ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีศักยภาพในการบริหารจัดการและสามารถให้บริการสาธารณะให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยมีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนในท้องถิ่น ทั้งด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้ด้อยโอกาส และคนพิการ การส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้สูงอายุ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะ และกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริม และสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น รวมถึงกฎหมายชั้นพระราชบัญญัติที่กำหนดบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับต่าง ๆ คือ พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถให้การสนับสนุนการศึกษาของประชาชน ได้แก่ 1) ด้านงบประมาณ อาคาร สถานที่ และบุคลากร โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาจตั้งงบประมาณให้เงินอุดหนุนหน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุนได้โดยโครงการที่จะให้เงินอุดหนุนต้องเป็นภารกิจที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้ให้เงินอุดหนุนตามกฎหมาย และ 2) ด้านการบริหารจัดการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เมื่อปี 2563 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ดำเนินโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่าย เชิงพื้นที่ : ภาคกลาง (กลุ่มเด็กด้อยโอกาสสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมโครงการ 61 แห่ง ในพื้นที่ 43 จังหวัด ช่วยเหลือดูแลกลุ่มเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา (กลุ่มเด็กด้อยโอกาส) ที่มีอายุระหว่าง 2 – 25 ปี ที่ไม่ได้เข้าเรียนในสถานศึกษาหรือออกจากสถานศึกษากลางคัน ด้วยการสำรวจ จัดเก็บข้อมูล และจัดทำแผนการช่วยเหลือรายกรณี (Care plan) เพื่อให้เด็กและเยาวชนกลุ่มดังกล่าวได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้มีโอกาสเข้ารับการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะอาชีพได้ตามความศักยภาพและความต้องการ รวมถึงการดำเนินงานศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา (KCC) โดยเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรามีการบูรณาการความร่วมมือกับอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ในการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ชุมชนสำหรับบุคคลทุกช่วงวัยอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งเน้นให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

“ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ… นี้ จะเป็นประโยชน์ในด้านการส่งเสริมให้ประชาชนได้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยการจัดให้มีความร่วมมือกันระหว่างภาคราชการ ทั้งหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ซึ่งอยู่ในวัยเรียนแต่ไม่ได้รับการศึกษาในโรงเรียน โดยกระทรวงมหาดไทยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนได้เรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

Leave a Reply