สกู๊ปพิเศษ : ส่องพัฒนาการ “มจร” จากยุคก่อตั้งสู่ยุค “พุทธนวัตกรรม” สอดรับกับ “SDGs” ของ UN.!!

ระหว่างวันที่ 8 -11 ธันวาคม 2565 นี้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) มีงานประสาทปริญญา โดยปีนี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จมาเป็นประธานเฉพาะวันแรกคือวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2565 ในการประสาทปริญญาให้กับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก สถาบันสมทบ และผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับดุษฎีกิตติมศักดิ์  ส่วนในวันที่สองทรงมอบหมายให้ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรรมการมหาเถรสมาคม ปฏิบัติหน้าที่แทนในการประสาทผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาทุกระดับชั้น

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นสถาบันระดับอุดมการศึกษาไทย สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ดังปรากฏในคำประกาศพระราชปรารภในการก่อพระฤกษ์สังฆเสนาสน์ราชวิทยาลัย พ.ศ 2439 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์รัชกาลที่ 5  ความตอนหนึ่งว่า

“จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งวิทยาลัยที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกแลวิชาชั้นสูงขึ้น 2 สถาน ๆ หนึ่งเป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ได้ตั้งไว้ที่วัดบวรนิเวศวรวิหาร พระอารามหลวง พระราชทานนามว่า มหามกุฎราชวิทยาลัย …อีกสถานหนึ่งเป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ได้ตั้งไว้ที่วัดมหาธาตุ ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงนี้ มีนามว่ามหาธาตุวิทยาลัย ได้เปิดการเล่าเรียนแต่วันที่  8 พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ ศก 108 สืบมา แต่สังฆิกเสนาสน์สำหรับมหาธาตุวิทยาลัยนี้ยังไม่เป็นที่สมควรแก่การเล่าเรียน… เมื่อการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนนั้นเสร็จแล้วจะได้ทรงพระราชอุทิศถวายถาวรวัตถุนี้เป็นสังฆิกเสนาสน์สำหรับมหาธาตุวิทยาลัย เพื่อเป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติสัทธรรมแลวิชาชั้นสูงสืบไปภายหน้า พระราชทานเปลี่ยนนามใหม่ว่า มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อให้เป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศสืบไป…”

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กว่าจะมีวันนี้ จนเป็นที่ยอมรับจากรัฐบาล คณะสงฆ์ไทยและนานาชาติ ผ่านร้อนผ่านหนาว ล้มลุกคลุกคลาน ผ่านเหตุการณ์มาแล้วมากมาย  ปัจจุบันมีการจัดการศึกษาในประเทศประกอบด้วย 11 วิทยาเขต 28 วิทยาลัยสงฆ์ 2 หน่วยวิทยบริการ และในต่างประเทศมีสถาบันสมทบอีก 5 แห่ง มีทั้งหลักสูตรภาษาไทยและภาคอังกฤษ มีนิสิตทั้งในระดับปริญญาตรี -โท -เอก มีจำนวนทั้งสิ้น 19,661 รูป/คน ประกอบด้วยนิสิตปริญญาตรีจำนวน 14,253 รูป/คน นิสิตปริญญาโท 3,373 รูป/คน นิสิตปริญญาเอก 2,035 คน ในจำนวนนี้มีนิสิตนานาชาติจำนวน 1,300 รูป/คน จาก 28 ประเทศ

สำหรับพัฒนาการความเป็นมาของมหาวิทยาลัยสงฆ์สังกัดฝ่ายมหานิกายแห่งนี้ ผ่านมาแล้ว แบ่งออกได้ 6 ยุค คือ

1.ยุคการก่อตั้งมหาวิทยาลัย (2430)

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขึ้น โดยให้ย้ายการสอนพระปริยัติธรรมจากศาลาบอกพระปริยัติธรรมภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปตั้งที่วัดมหาธาตุ เพื่อเป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายและคฤหัสถ์ เมื่อ พ.ศ.2430 และโปรดให้เรียกว่า “มหาธาตุวิทยาลัย”

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้คิดแบบสร้างถาวรวัตถุ เรียกว่า “สังฆเสนาสน์ราชวิทยาลัย” ขึ้นในวัดมหาธาตุ เพื่อใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญพระราชกุศลพระศพสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ และทรงประสงค์จะอุทิศถวายถาวรวัตถุนี้เป็นสังฆิกเสนาสน์สำหรับมหาธาตุวิทยาลัย เพื่อเป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติสัทธรรมและวิชาชั้นสูง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาก่อพระฤกษ์ เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2439 และได้พระราชทานเปลี่ยนนาม จาก “มหาธาตุวิทยาลัย” เป็น “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศของพระองค์

จนกระทั่งวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2490 พระมหาเถรานุเถระ ฝ่ายมหานิกายจำนวน 57 รูป มีพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทัตตเถร) เป็นประธานได้ประชุมกัน ณ ตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุฯ ประกาศให้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ดำเนินการจัดการศึกษาในรูปมหาวิทยาลัย ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้เปิดการศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม แม้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจะได้เปิดการศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัยตั้งแต่ พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา ทางบ้านเมืองก็มิได้รับรองสถานภาพให้เป็นมหาวิทยาลัยตามกฎหมาย

2.ยุคปรับปรุงและขยายการศึกษา  (2526 )

พุทธศักราช 2512 คณะสงฆ์ โดยมหาเถรสมาคม ได้ออกคำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่อง ”การศึกษาของมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2512 ” และ เรื่อง ”การศึกษาของสงฆ์ พ.ศ. 2512 ” คำสั่งทั้ง2 ฉบับนี้ ส่งผลให้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มี สถานะเป็นสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย โดยสมบูรณ์

พุทธศักราช  2521  เริ่มขยายการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปยังส่วนภูมิภาค เริ่มตั้งวิทยาเขตแห่งแรกที่ จังหวัดหนองคาย และได้ขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ที่มีความพร้อมด้านบุคลากร งบประมาณ อาคารสถานที่ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีวิทยาเขตในกำกับดูแล ทั่วประเทศ 10แห่ง วิทยาลัยสงฆ์ 4 แห่ง และ ศูนย์การศึกษา 1 แห่ง  ยุคนี้กลายเป็นยุคเบ่งบานของการกระจายการศึกษาจากกรุงเทพ สู่ ภูมิภาค ของ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

3.ยุครับรองปริญญาบัตรและสถานะของมหาวิทยาลัย (2540)

ปีพุทธศักราช  2527 โดยการนำของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการ เสนอร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะ ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา โดยรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วประกาศใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา มีผลทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีศักดิ์และสิทธิแห่งปริญญาเช่นเดียวกับผู้สำเร็จการศึกษาในระดับเดียวกันจากสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ที่รัฐให้การรับรอง

พุทธศักราช 2540 แม้มหาวิทยาลัยจะมีพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะของผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2527  แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีการรับรองสถานภาพ ความเป็นนิติบุคคลของมหาวิทยาลัย จึงทำให้มหาวิทยาลัยไม่มีบุคลากร งบประมาณแผ่นดินเข้ามาสนับสนุนที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริหารในการที่จะขยายการจัดการศึกษาในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก หรือนานาชาติ ตามวัตถุประสงค์และนโยบายของมหาวิทยาลัยได้ รัฐบาลภายใต้การนำของ ชวลิต ยงใจยุทธ ยุคนั้นจึงตราพระราชบัญญัติ เพื่อรับรองความเป็นนิติบุคคลของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เหมือนกับมหาวิทยาลัยทั่วไป

4.ยุคเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ (2541-2558)

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ที่มหาวิทยาลัยได้รับการรับรองสถานะให้เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นต้นมา มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการพัฒนา ทั้งในเชิงกายภาพ (Hardware) และเชิงคุณภาพ (Software) อีกทั้งเตรียมคนเพื่อรองรับการพัฒนามหาวิทยาลัยเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งในระดับชาติและนานาชาติอย่างต่อเนื่อง อาทิ

พุทธศักราช 2542 การเตรียมพื้นที่รองรับการเป็นศูนย์กลางมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ

นายแพทย์รัศมี คุณหญิงสมปอง วรรณิสสรได้ถวายที่ดินจำนวน 84 ไร่ 1 งาน 37ตารางวา ที่ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแก่มหาวิทยาลัย รวมกับที่ดินที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการจัดซื้อเพิ่มเติม ปัจจุบันมีเนื้อที่ทั้งหมด 323ไร่

พุทธศักราช 2544 ขยายการศึกษาไปสู่ต่างประเทศ โดยรับวิทยาลัยพุทธศาสนาดองกุก ชอนบอบ ประเทศเกาหลีใต้เข้าเป็นสถาบันสมทบเป็นแห่งแรก ปัจจุบันมีสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างน้อย 7 แห่ง

พุทธศักราช 2551  การขยายตัวของมหาวิทยาลัยนั้น ไม่ได้จำกัดวงอยู่ในพื้นที่ของภาษาไทยเท่านั้น ด้วยเหตุที่มหาวิทยาลัยได้รับการยอมรับจากชาวพุทธทั่วโลก จึงเป็นเหตุให้มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเปิดหลักสูตรนานาชาติ เพื่อรองรับกลุ่มบุคคลที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์จากทั่วโลกมาศึกษา ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยได้อนุมัติโครงการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติเพื่อเป็นที่ศึกษาของบรรพชิตและคฤหัสถ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 พุทธศักราช 2551 จัดตั้งสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) อนุมัติให้ดำเนินการจัดตั้งสมาคมวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ โดยมีมหาวิทยาลัย และวิทยาลัยพระพุทธศาสนาทั่วโลกเข้าเป็นสมาชิกจำนวน 117 สถาบัน ทั้งนี้ ได้มีการประชุมอธิการบดีและการสัมมนาวิชาการ ระดับนานาชาติ ครั้งที่ 1 ของสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานาชาติ ระหว่าง วันที่ 13-15  กันยายน พ.ศ. 2551  โดยมีอธิการบดี นักวิชาการทั่วโลกเข้าร่วมประชุมกว่า 1,700 รูป/คน

พุทธศักราช 2552 การจัดสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก

มหาวิทยาลัยร่วมกับองค์กรพระพุทธศาสนาทั่วโลกได้ร่วมกันลงนามจัดตั้งสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลกขึ้น เพื่อกระตุ้นให้องค์กรพระพุทธศาสนาได้ร่วมกันเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลกในฐานะวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และธำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกสาร และความสามัคคีของกลุ่มชาวพุทธทั่วโลก โดยให้มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ (UN) มีมติตั้งสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก และการจัดงานวิสาขบูชานี่เอง กลายเป็น “ประตูบานแรก” ให้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นที่รู้จักของประมุขสงฆ์ แกนนำชาวพุทธ กลายเป็น “พยัคฆ์ติดปีก” ในเวทีชาวพุทธนานาชาติ นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2556 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ตั้ง สถาบันภาษา  การจัดตั้งศูนย์อาเซียนศึกษา  และ การจัดตั้งวิทยาลัยพระธรรมทูต เพื่อรองรับการเป็น “มหาวิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ” อีกด้วย

5.ยุคพัฒนาความรุ่งเรืองของการเป็นศูนย์กลางของมหาวิทยาลัย (2559 -2564 )

 ยุคนี้เป็นยุครอยต่อระหว่างพระพรหมบัณฑิตและพระธรรมวัชรบัณฑิต เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ส่วนใหญ่เน้นการปรับปรุงภายในและการสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นสีเขียว “เจ้าคุณประสาร” หรือ พระราชวัชรสารบัณฑิต รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเคยสัมภาษณ์สื่อมวลชนไว้ถึงผลงานเด่นของพระธรรมวัชรบัณฑิตไว้ว่า

“ผลงานของท่าน 4 ปีที่ผ่านมาที่เห็นชัดคือ หนึ่ง เรื่องการบริหารภายใน เรื่องแท่งการบริหาร อาตมาคิดว่ามันหมุนเกลียวมากขึ้น มันมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการบริหารจัดการภายในกระชับมากขึ้น ในการบริหารงานบุคคล แต่งตั้งโยกย้ายหรือให้คุณให้โทษ  สอง  แท่งวิชาการ ถามว่าตลอด 4 ปี ที่ท่านเข้ามาบริหาร นิสิตเราลดลงไหม คุณภาพครูอาจารย์ลดลงไหม เรื่องนิสิตของเราอาจลดลงบ้าง แต่ไม่เยอะในขณะที่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ อยู่ในขั้นวิกฤติ เราอยู่ได้ ส่วนครูบาอาจารย์ ท่านก็พยายามเสริมให้มีคุณภาพเต็มที่ เพื่อที่จะได้ผลิตบัณฑิตออกมาอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ สาม ตัวชี้วัดอีกอันด้านต่างประเทศ สถาบันสมทบเราในต่างประเทศมี 6 แห่ง ตรงนี้ไม่ธรรมดา หากเขามอง มจร. ไม่มีคุณภาพเขาคงไม่ยอมรับเรา แต่เวลานี้ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาสถาบันสมทบทั้ง 6 แห่ง ยอมรับพระธรรมวชิรบัณฑิต สี่  การสนองงานคณะสงฆ์ เป็นสิ่งที่เราคิดว่าเรากลัว เช่นคำถามที่ว่า บุคลิกภาพของท่านจะเข้ากับคนอื่นได้หรือไม่ แต่กลับราบรื่น ในการทำงานสนองงานให้กับคณะสงฆ์ จนคณะสงฆ์เองยอมรับ ท่านก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ในคณะสงฆ์ ส่วนเรื่องที่ ห้า เรื่องภูมิสถาปัตย์  เรื่องปรับปรุงภูมิทัศน์ การก่อสร้าง ท่านมีผลงานเด่นเรื่องหนึ่งคือ “green university”  อันนี้คนอาจจะพูดว่า มีแต่ปลูกต้นไม้ ความจริงไม่ใช่ แต่หมายถึงให้วัดให้มหาวิทยาลัย มีความร่มรื่น เป็นรมณียสถาน ให้เป็นสถานที่สร้าง “ปัญญาและศรัทธา” ควบคู่กันไป รวมทั้งให้วิทยาเขตต่าง ๆ มุ่งเน้นเรื่องเหล่านี้ด้วย และกำชับให้วิทยาเขตต่าง ๆ มีคนเฝ้าคนดูแลอย่างทั่วถึง ส่วนอีกเรื่องคือ ไอที ท่านก็เน้น แต่ตรงนี้เรามองไม่เห็นเพราะมันเป็นนามธรรม แม้แต่เรื่องการก่อสร้างท่านก็ให้นโยบายฝ่ายแผนว่าต้องให้ความเป็นธรรม มีธรรมาภิบาล วิทยาลัยสงฆ์ใดที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ยังไม่มีอาคาร ต้องเร่งเข้าไปช่วย ต้องเข้าไปดำเนินการ ส่วนวิทยาลัยเขตอื่น ๆที่มีอาคารพร้อมอยู่แล้ว ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี ๆ ไป..”

6.ยุคมหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ ที่สร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม (2566 -2570)

ในแผนการพัฒนามหาวิทยาลัยได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่าเป็น “มหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ ที่สร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม” พุทธนวัตกรรม หมายถึง สิ่งที่ถูกปรับปรุงหรือพัฒนาขึ้นใหม่ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านผลิต กระบวนการ การให้บริการและการบริหารจัดการ เพื่อนำไปสู่การสร้างคุณค่า การเพิ่มมูลค่า การสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ในด้านสุขภาพใจ สุขภาพกาย ร่วมถึงอาชีพและชุมชน ซึ่งการจะให้บรรลุตามวิสัยทัศน์นี้ มจร ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนไว้ 5 ยุทธศาสตร์หลักคือ หนึ่ง จัดการศึกษา พัฒนาบัณฑิต ให้มีสติปัญญาและคุณธรรม สอง พัฒนางานวิจัยและพุทธนวัตกรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ สาม บริการวิชาการด้านพระพุทธศาสนา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนชุมชน วัด และสังคมให้เกิดสันติสุข สี่ อนุรักษ์ สืบสาน ส่งเสริม พระพุทธศาสนาศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั้งยืน และห้า พัฒนาการบริหารจัดการองค์กรตามหลักธรรมมาภิบาล

ตรงนี้สอดคล้องกับคำพูดของ พระราชวัชรสารบัณฑิต รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่ว่า

“มจร กำลังจะจัดทำแผนระยะยาว 10-15 ปี คือ เรามีแผนระยะสั้น  1 ปี ระยะกลาง 5 ปี แล้ว แต่แผนระยะยาวยังไม่มี คาดว่าต้นปีหน้า จะเริ่มรับฟังจากทุกภาคส่วน  มจร ในฐานะมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ รัฐบาลท่านมีแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี เราก็ต้องมีแผนสอดคล้องกับนโยบายรัฐ สำหรับแผนระยะ 5 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2566 -2570 เรามีเป้าหมาย พัฒนาไปสู่  “มหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ สร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม” ซึ่ง พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดีได้ให้คำจำกัดความของ “พุทธนวัตกรรม” มี 5 ประการคือ พัฒนากาย วาจา ใจ พัฒนาชุมชน พัฒนาอาชีพ  ซึ่ง มจร จะตอบโจทย์ตรงนี้ และตรงนี้ก็สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGsของสหประชาชาติที่มี 17 เป้าหมาย มจร นำมา 3 ข้อ คือการศึกษาที่เท่าเทียม การลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างสังคมสงบสุข ไม่แตกแยก ซึ่งในทางปฏิบัติ เราทำอย่างไรจึงตระหนักรู้ว่าการเดินไปข้างหน้า จะต้องเดินตามข้อตกลง เป็นไปในหลักการและประเมินจากความรู้ความสามารถที่ทำมา ฉะนั้นต่อไปนี้แผนจะต้องเป็นตัวกกำหนดการก้าวย่างในทุกส่วนของมหาวิทยาลัย เป็นกรอบให้ปฏิบัติตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนที่วางกรอบเอาไว้ ในแผน 13 เป็นแผนที่รับฟังและกลั่นกรองมาจากประชาคมชาว มจร อย่างแท้จริง ประชาคมมีส่วนในการยกร่างและทำประชาพิจารณ์ก่อนเข้าสภามหาวิทยาลัย ซึ่งตอนนี้ถือว่าเป็นแผนแม่บท ที่ทางวิทยาเขต ก็กำลังทำแผนพัฒนาของเขาเองให้สอดคล้องกับส่วนกลาง วิสัยทัศน์ไม่จำเป็นต้องเหมือนเราแต่ต้องสอดคล้องกันเพื่อส่งเสริม สนับสนุนกับแผนทางมหาวิทยาลัย..”

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สถาปนาโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อเป็นมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ เล่าเรียนพระไตรปิฎกแลวิชาชั้นสูงขึ้น ของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งแต่ยุคก่อตั้งจนถึงปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการมาต่อเนื่อง แม้บางยุคอาจจะมีปัญหาติดขัดบ้าง แต่ด้วยความตั้งใจและเสียสละของพระบุรพาจารย์ฝ่ายมหานิกายยุคก่อนที่มี  “ปณิธานไม่เปลี่ยนแปลง”  จนทำให้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับทั้งภายในประเทศและนานาชาติ ดังภาพที่ปรากฎอันเป็นที่ประจักษ์ ทั้งการจัดงานวิสาขบูชาโลก งานประสาทปริญญา รวมทั้งการที่คณะสงฆ์ ชาวพุทธ และศาสนาอื่น ๆ มาเยือนผูกสัมพันธ์ต่อเนื่องไม่ขาดสาย..

Leave a Reply