วธ. “ชี้แจง” หลัง “มหาวันชัย” ถามหา กรณี แม่ค้าขายสินค้าออนไลน์ ภาษาหยาบคาย แต่งกายไม่เหมาะสม 

วันที่ 28 ธันวาคม 64 วานนี้ที่ประชุมวุฒิสภา นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา  ตั้งคำถามว่า สังคมไทยในปัจจุบัน ยังมีข้าราชการหรือหน่วยงาน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม ที่ต้องดูแลเรื่องขนบธรรมเนียมภาษาวัฒนธรรมและการแต่งกายหรือไม่อยู่หรือไม่ และจะจัดการกับบุคคลที่ใช้ภาษาไทย ในการขายสินค้าและแต่งตัวไม่เหมาะสมอย่างไร

ทั้งนี้ นายวันชัยได้นำคลิปการไลฟ์ขายของพิมรี่พาย รวมถึงบุคคลอื่นๆ มาเปิดประกอบการอภิปราย แต่นายพรเพชร อนุญาตเพียงคลิปเดียวคือคลิปของพิมรี่พาย เนื่องจากคลิปอื่นๆมีการแต่งกายที่ไม่เหมาะสม

นายวันชัยระบุว่า คลิปนี้ มีการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงและหยาบคาย จนทำให้บุคคลเหล่านี้กลายเป็นเนตไอดอล ซึ่งตนจำเป็นต้องใช้คำถามที่ตรงและรุนแรง เพราะเรื่องนี้ปรากฎสู่สังคมวงกว้าง และปัจจุบันมีการขายสินค้าโพสต์ภาพลงโซเชียลแต่งกายโชว์หน้าอก วาบหวิว รวมถึงใช้ถ้อยคำไม่สุภาพจนเกิดความเคยชิน ซึ่งมีเยาวชนรับชมจำนวนมาก

    “ทำให้รู้สึกว่าต้องหยาบหรือถ่อย ถึงจะดัง และทำให้สินค้าขายดี จนร่ำรวย จึงอยากถามกระทรวงวัฒนธรรมว่าไปนั่งอยู่ที่ไหน เป็นหน้าที่ที่ต้องรณรงค์ให้ประชาชนใช้ภาษาอย่างสุภาพหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยได้รับสัญญาณจากกระทรวงวัฒนธรรมว่าการกระทำเหล่านี้พฤติกรรมไม่ดี ที่ไม่ควรเอาเป็นตัวอย่าง เป็นการกระทำที่ชั่วและเลว และที่ต้องใช้คำพูดที่รุนแรงแบบนี้ คนเหล่านั้นใช้ถ้อยคำที่รุนแรงกว่านี้มากในการไลฟ์ ศูนย์เฝ้าระวังของกระทรวงวัฒนธรรมทำอะไรอยู่ ปล่อยให้เน็ตไอดอลเหล่านี้สร้างกระแส ไม่ใช่แค่เฉพาะคลิปที่นำมาเปิดวันนี้ แต่ยังมีอีกหลายคนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม”

     ล่าสุดวันนี้  นายประสพ เรียงเงิน รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรมในฐานะโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม ชี้แจงว่า จากกรณีมีการนำเสนอข่าวสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ตั้งกระทู้ถามกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ค้าออนไลน์บางราย มีการใช้ถ้อยคำพูดหยาบคายและแต่งกายไลฟ์สดขายสินค้าไม่เหมาะสม และมองว่ากระทรวงวัฒนธรรมละเลยไม่ดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น วธ.ขอขอบคุณสมาชิกวุฒิสภาและสื่อมวลชน ที่ให้ความสนใจในประเด็นดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมกันธำรงรักษาไว้ซึ่งศีลธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ขอยืนยันว่า วธ. ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวและเห็นว่าการผลิต การจำหน่ายสินค้า การโฆษณา และการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เพื่อให้ได้รับความสนใจจากลูกค้าหรือผู้บริโภค สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์และมีรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบและคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและวัฒนธรรมอันดีงาม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะในการรู้เท่าทันสื่อ หรือเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถแยกแยะหรือยังไม่มีวิจารณญาณเพียงพอในการเลือกรับสื่อ และหากมีการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงาม อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งกรณีที่มีการแต่งกายไม่เหมาะสม หรือใช้ภาษาหยาบคาย ไม่สุภาพ แต่มีผู้สนใจเข้าชม หรือซื้อสินค้าจำนวนมาก อาจทำให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบได้เช่นกัน

 โฆษก วธ. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา วธ. ได้ดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางสังคม เช่น

1. กรณีการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม ใช้คำไม่สุภาพ ในการไลฟ์สดขายสินค้า วธ. มอบหมายหน่วยงานสังกัด วธ. ที่ดูแลในเรื่องดังกล่าว ติดตามและเฝ้าระวังความเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรมที่อาจเกิดขึ้น ทั้งได้มีหนังสือประสานงานไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

2.กรณีการแต่งกายที่ไม่เหมาะสมในการขายสินค้าช่วงที่ผ่านมา อาทิ แม่ค้าขายขนมโตเกียว ที่จังหวัดเชียงใหม่ และแม่ค้าขายเฉาก๊วยนมสด ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วธ. ได้มอบหมายสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด ลงพื้นที่บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่ เช่น ฝ่ายปกครอง ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พูดคุยและชี้แจงทำความเข้าใจในประเด็นการแต่งกายที่ไม่เหมาะสมซึ่งอาจจะเข้าข่ายลามกอนาจาร อันจะเป็นการขัดต่อวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ โดยขอความร่วมมือ ให้ปรับปรุงการแต่งกายให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และได้ทำบันทึกข้อตกลงที่จะไม่แต่งกายล่อแหลมลักษณะดังกล่าวอีก และหากพบเห็นมีการเผยแพร่หรือส่งต่อภาพการแต่งกายล่อแหลมในสื่อสังคมออนไลน์อีก จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

      ซึ่งปัญหาเรื่องนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการเฝ้าระวัง สอดส่องดูแลและแก้ปัญหา โดยแจ้งข้อมูลมาที่ วธ. ผ่านช่องทางสายด่วนวัฒนธรรม 1765 Facebook Fan Page 1765 และเว็บไซต์ของ วธ.

Leave a Reply