ขอบของเหรียญ ช่วงเวลาหนึ่งเราเข้าใจว่า “ขอบของเหรียญ” มีความสำคัญ แต่ถ้าเราเป็นเจ้าของโรงงานปั้มเหรียญ หรือได้ไปชมโรงงานผลิตเหรียญ “เรื่องของขอบ การดูขอบ จะเป็นเรื่องที่ไร้สาระ” ยอมรับว่า “ก่อนหน้าผมเชื่ออย่างสนิทใจว่า ดูเหรียญต้องดูที่ขอบ แต่เมื่อไปดูโรงงานปั๊มเหรียญ ถูกเซียนแหกตามากว่า ๑๐ ปี”
นักสะสมคนหนึ่งที่กล้าออกมาเผยความจริง ถึงกับตั้งฉายาเซียนพระว่า “เซียนพระอุปโลก” คือ “เฮียกุ่ย รัชดา” หรือ นายสุขธรรม ปานศรี เป็นนักสะสมพระหลวงพ่อทวดเนื้อทองคำ และพระเนื้อทองคำอื่นมานานกว่า ๑๐ ปี ทุกครั้งที่ไปร่วมไลด์สด “เฮียกุ่ย รัชดา” มักจะหยิบเรื่อง “เซียนพระอุปโลก” มาบ่นให้ฟังผ่านการไลด์สดทุกครั้ง
กรรมวิธีการปั๊มตัดข้างเหรียญ แบ่งออกเป็นออก ๓ ระยะเวลา คือ ๑. ระหว่าง พ.ศ.๒๔๔๐-๒๔๘๕ เป็นช่วงที่นิยมสร้างเหรียญลักษณะรูปทรงกลม รูปไข่ รูปทรงอาร์ม และทรงเสมา รูปทรงเหรียญทั้ง ๔ ชนิดนี้ สามารถแยกตามกรรมวิธีการสร้างได้เป็น ๒ ชนิด คือ เหรียญชนิดปั๊มข้างเลื่อย และเหรียญชนิดปั๊มข้างกระบอก โดยเหรียญชนิดปั๊มข้างเลื่อย ก็คือ การนำแผ่นโลหะที่มีขนาดใหญ่กว่าขนาดของเหรียญมาปั๊มให้ได้ตามลักษณะรูปทรงที่ต้องการ จากนั้นจึงนำไปเลื่อยฉลุให้สวยงามออกมาเป็นเหรียญตามรูปทรงนั้นๆ ส่วนการปั๊มข้างกระบอก ก็คือ การนำแผ่นโลหะมาเลื่อยให้ได้ตามรูปทรงของเหรียญที่จะทำการปั๊ม เพื่อเข้ากระบอก และการปั๊มเหรียญนั้นๆ ดังนั้น ด้านข้างของเหรียญปั๊มชนิดนี้จึงมีความเรียบเนียน เนื่องจากการกดปั๊มโดยมีตัวกระบอกเป็นตัวบังคับ อย่างไรก็ตาม บางเหรียญอาจมีเส้นทิวบางๆ ในขอบข้างเหรียญ ซึ่งเกิดจากการแต่งขอบให้สวยงามก็ได้
๒.ระหว่าง พ.ศ.๒๔๘๖-๒๔๙๙ เหรียญชนิดปั๊มข้างตัด (ปั๊มตัดยุคเก่า) ช่วงเวลานี้เริ่มพัฒนากรรมวิธีการจัดสร้างเหรียญ ด้วยการนำเครื่องจักรที่ทันสมัยมากขึ้น มาใช้แทนกรรมวิธีแบบเก่า ที่ใช้การเข้ากระบอก ทั้งนี้ต้องเลื่อยขอบออก เพื่อตกแต่งในขั้นตอนสุดท้าย ด้านข้างของเหรียญจะมีลักษณะมนๆ ไม่ค่อยมีริ้วรอยมากนัก
๓. พ.ศ.๒๕๐๐-ปัจจุบัน ในยุคนี้ได้มีการพัฒนาตัวตัดข้างเหรียญที่ทันสมัย เพื่อความสะดวกในการตัดขอบเหรียญในจำนวนมากๆ ตัวตัดยุคนี้จึงค่อนข้างคมชัด
การศึกษาเรื่องราวของพระเครื่อง ประเภทเหรียญพระพุทธ และเหรียญพระคณาจารย์รุ่นเก่าๆ นั้น มีค่านิยมสูงมาก การทำปลอม จึงพัฒนาวิธีการทำให้ใกล้เคียงกับของแท้ยิ่งขึ้น โดยวิธีการที่ง่าย และเป็นที่นิยมที่สุด คือ การนำเหรียญแท้ไปถอดพิมพ์ ซึ่งจะทำให้ได้เหรียญปลอมที่มีจุดตำหนิทั้งด้านหน้าและด้านหลังใกล้เคียงกับของจริงมาก
อย่างไรก็ตาม ความคมชัดของตัวหนังสือ เส้นแตก รูเจาะหูเหรียญ ตลอดจนด้านข้างของเหรียญ ก็ยังเป็นจุดสำคัญ ที่สามารถใช้ในการพิจารณาความแตกต่างระหว่างเหรียญแท้และเหรียญปลอมได้อย่างชัดเจนที่สุด
ในอดีตผู้สนใจศึกษาพระเครื่องประเภทเหรียญพระพุทธ และเหรียญพระคณาจารย์ หลายคนเลือกที่จะใช้วิธีการจดจำรายละเอียดที่สำคัญของตำหนิเหรียญทั้งหมด ในพระเหรียญ ๑ เหรียญอาจจะมีจุดตำหนิให้จดจำมากถึง ๑๐ จุด นั่นหมายความว่า หากเราต้องเรียนรู้เหรียญ ๑๐๐ เหรียญ เราจะต้องจดจำตำหนิทั้งหมดถึง ๑,๐๐๐ จุด เลยทีเดียว ดังนั้น แทนที่จะใช้วิธีการจดจำตำหนิทั้งหมด ผมกลับมีเทคนิคที่ใช้ในการศึกษาเหรียญแต่ละเหรียญ ด้วยวิธีการที่ง่ายกว่านั้น ก็คือ
การศึกษาธรรมชาติของเหรียญ โดยอาศัยหลักพื้นฐาน ๔ ประการ ได้แก่ ๑.ความคมชัดของตัวหนังสือ หรืออักขระยันต์ ๒.พื้นผิวของเหรียญที่เรียบตึง ไม่มีร่องรอยของการถอดพิมพ์ ไม่มีขี้กลาก ๓.การเจาะรูหูเหรียญ ต้องมีเนื้อปลิ้นเกินที่เป็นธรรมชาติ และ ๔.วิวัฒนาการของการตัดขอบเหรียญ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามเทคโนโลยีในแต่ละยุคสมัย
ทั้ง ๔ ประการนี้ ถือเป็นจุดที่ใช้ในการพิจารณาเหรียญว่าแท้หรือปลอม ได้ชัดเจนยิ่งกว่าการจดจำตำหนิ ที่สำคัญ ยังสามารถนำไปใช้ในการพิจารณาได้ทุกเหรียญ ไม่ว่าจะเป็นเหรียญในยุคสมัยใดก็ตาม เพราะถึงแม้ว่ากรรมวิธีการทำปลอมในปัจจุบันจะสามารถทำได้ใกล้เคียงกับของจริงแค่ไหน
แต่ธรรมชาติของการผลิตเหรียญแต่ละยุค ย่อมมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
https://www.facebook.com/361709830833708/posts/817543488583671?sfns=mo,ดูคลิปได้ที่ …https://youtu.be/-RfwGJURFRI
Leave a Reply