ช่วงนี้คำว่า “จริยธรรม” ดูจะดังกระหึ่มในสังคมไทยและสังคมโลกอย่างน้อย 4 เรื่องคือ เรื่องแรกคือโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ กำลังจดทะเบียนและเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องที่สองคือผู้ขับขี่จักรยานยนต์ขับชนคนบนทางเท้า เรื่องที่สามคือ การตัดต่อพันธุกรรทที่ประเทศจีน และเรื่องที่สี่คือพฤติกรรมของนักการเมืองและผู้จัดการเลือกตั้ง
เรื่องแรกคือ โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ กำลังจดทะเบียนและเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น เป็นโรงเรียนเอกชนในกำกับดูแลของกระทวงศึกษาธิการ ซึ่งนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ก็ได้ออกมาระบุว่า ตามกฎหมายในพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 นั้น ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่เรื่องดังกล่าวจะพิจารณาเฉพาะกฎหมายไม่ได้ต้องดูเรื่องจริยธรรมว่าถูกต้องหรือไม่ โดยระบุว่า “เป็นธุรกิจที่ไม่ต้องเสียภาษีและมีการระดมทุนเพื่อให้ได้กำไรมากขึ้น” แต่ก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าขัดกับหลักจริยธรรมข้อไหนอย่างไร
รวมถึงนักการเมืองอย่าง นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบเรื่องธรรมาภิบาล ก็ยังมีข้อสงสัยว่า หลักธรรมาภิบาลกับหลักจริยธรรมอันเดียวกันหรือสอดคล้องกันอย่างไร
เรื่องที่สองคือผู้ขับขี่จักรยานยนต์ขับชนคนบนทางเท้า พอเกิดเหตุขึ้นผู้บริหารทั้งระดับประเทศอย่างพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหมยังได้กำชับให้กทม.และสำนักงานตำรวจแห่งชาติกวดขันการขับขี่รถจักรยานยนต์บนฟุตบาธหรือขับขี่ย้อนศรขอให้ปฏิบัติให้ถูกต้องและเคารพกฎจราจรและเคารพสิทธิ์ของผู้ใช้ทางเท้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหาร กทม.ก็ได้ชี้ว่าผู้ก่อเหตุไม่มีจริยธรรม ก็คงดูว่าจะเป็นไฟไหม้ฟางหรือไม่
เรื่องที่สามคือ การตัดต่อพันธุกรรทที่ประเทศจีน แม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย แต่เมื่อประเทศไทยเป็นยุคไทยแลนด์ 4.0 กำลังสนใจเรื่องเทคโนโลยีระดับสูงโดยเฉพาะอย่างปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอจะส่งผลกระทบในอนาคตอันใกล้นี้
เรื่องมีอยู่ว่า ศาสตราจารย์ เหอ เจี้ยนขุย จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใต้ในเสิ่นเจิ้น ประเทศจีนสร้างทารกตัดต่อพันธุกรรมเป็นครั้งแรกของโลก ก็ถูกพากษ์วิจารณ์จากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจำนวน 100 คน เพราะทั่วโลกถือว่าการตัดต่อยีนในตัวอ่อนมนุษย์เป็นเรื่องผิดต่อจริยธรรมการวิจัยด้านชีวการแพทย์อย่างร้ายแรง ในหลายประเทศรวมทั้งสหราชอาณาจักร มีกฎหมายห้ามโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ปล่อยให้ตัวอ่อนจากการตัดต่อยีนเจริญต่อไปเป็นทารกและถือกำเนิดมาในที่สุด ในที่สุดศาสตราจารย์ เหอ เจี้ยนขุย จึงได้ประกาศยกเลิกการทดลองแล้ว แต่สำหรับประเทศไทยแล้วจะว่าอย่างไร
อย่างไรก็ตามพระกิตติเมธีได้มองว่า ถ้าจบลงตรงนี้ ดูเหมือนเรื่องนี้ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาทางจริยธรรม เพราะแม้แต่ศาสนาก็ดูจะอธิบายให้เราพยายามเอาชนะธรรมชาติที่ติดตัวมา แต่เอาเข้าจริงแล้ว ปัญหาทางจริยธรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ได้พิจารณาเกี่ยวกับร่างกายที่เกิดขึ้นจากการตัดต่อพันธุกรรมเท่านั้นแต่มุ่งที่ “จิตใจหรือความรู้สึกเป็นหลัก” เช่น ความรู้สึกของเด็ก ความรู้สึกของคนในสังคม เป็นต้น และหากมีข้อกังวลนั้นเกิดขึ้นจะแก้ไขอย่างไร
ปัญหาทางด้านจิตใจนั้นละเอียดอ่อน ผูกพันกับโครงสร้างความรู้สึกหลายอย่าง เช่น ศาสนาที่ให้ความรู้สึกถึงความสำคัญทางด้านจิตใจ (มโนกรรม) ก็จะสนใจต่อสิ่งที่จะทำให้ตนเองทุกข์อย่างมาก หรือแม้แต่ศาสนาที่สนใจการกระทำ (กายกรรม) ก็แคร์ว่าตนเองไม่ควรเบียดเบียนใคร เมื่อปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น จะมากจะน้อยก็ควรต้องสนใจให้มาก อย่าด่วนทำบางอย่างโดยเน้นไปที่ผลสำเร็จของการแพทย์อย่างเดียว แต่ควรคำนึงถึงจิตใจเด็ก และคนในสังคมด้วยจะรู้สึกอย่างไร
มาถึงเรื่องที่สี่เรื่องสุดท้ายคือ พฤติกรรมของนักการเมืองและผู้จัดการเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมานั้นมีทั้งพฤติกรรมดูด แจก เอาเปรียบ ที่มีเสียงออกมาจากปากของนักการเมืองด้วยกัน หากประเมินผลสัมฤทธิ์ปฏิรูปการเมืองไทยแล้วก็พบว่า 1.เอาเปรียบแจก 2.ดูดไม่เลือกดี-ชั่ว 3.ไม่วัฒนธรรม 4.พูดไม่อยู่กับร่องกับรอย 5.มอบเมา แทบจะหาคำว่า“จริยธรรม” จากนักการเมืองและผู้ทำหน้าที่นักการเมืองไทยเลย ดังนั้น คงต้องถามไปถึงประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าจะต้องการนักการเมืองแบบไหนแล้วจะปล่อยให้ประเทศเป็นไปอย่างไร หรือนี้คือการเมืองแบบไทยๆ ลองพิจารณาสักนิดในความไม่มีนั้นอาจจะมีพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่ดีอยู่ก็เป็นได้
จากคำว่า “จริยธรรม” ใน 4 กรณีดังกล่าวนี้พอจะประเมินได้ว่า ยังไม่ได้มีมาตรฐานที่ชัดเจนว่าคืออะไรกันแน่ รวมถึงความเข้าใจและการสร้างให้เกิดขึ้นด้วย คงเป็นเพียงวาทกรรมที่ยกขึ้นมาพูดให้ผู้พูดดูดีเท่านั้น
Leave a Reply