วันที่ 28 มี.ค. 67เวลา 15.00 น. ที่ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม โรงแรมเทพนครและอัลวาเรซ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดและมอบแนวทางการขับเคลื่อนงานตามโครงการอบรมเพิ่มประสิทธิภาพผู้นำในการเสริมสร้างบทบาทของหมู่บ้านสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายศรัณย์ศักด์ ศรีเครือเนตร รองอธิบดีกรมการปกครอง นายพรรณรบ เตชะมงคลาภิวัฒน์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และนายอำเภอในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 20 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี และอุบลราชธานี และผู้บริหารส่วนกลาง เข้าร่วมการประชุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติมาเข้าร่วมประชุมด้วยความพร้อมเพรียงและมุ่งมั่นตั้งใจในการฝึกอบรมตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพผู้นำในการเสริมสร้างบทบาทของหมู่บ้านสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในวันนี้ ซึ่ง “ความสำเร็จของการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขจะเกิดขึ้นได้อยู่ที่ผู้นำที่เป็นคนมหาดไทย” เพราะสังคมยกย่องให้เกียรติผู้ว่าราชการจังหวัดเปรียบเสมือน “นายกรัฐมนตรีของจังหวัด” และเป็นผู้นำสูงสุดในการนำพาราชการส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่อยู่ในจังหวัด ในการช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง การศึกษา สาธารณสุข และเรื่องอื่น ๆ ในทุกมิติ ไปสู่ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม
“สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำรัสแก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ณ อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร โดยได้ตรัสถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็น “พ่อเมือง” ในการดูแลประชาชนตลอดจนลูกหลานเยาวชน ดังนั้น “ผู้นำ” จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องเอาจริงเอาจัง ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี และใช้สรรพกำลังทั้งหมดที่มีในการนำภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ร่วมแรงแข็งขันช่วยกันขับเคลื่อนทุกสิ่งอย่างที่จะช่วย “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืนได้ และประการที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ดังพระราชดำรัสที่พระองค์ท่านมีพระกระแสรับสั่งในการ “ทำด้วยน้ำใจ” มาให้พวกเราทุกคน เพื่อให้เราในฐานะราชสีห์ผู้ภักดีของแผ่นดิน และผู้เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีหลักชัยมุ่งมั่นทุ่มเทกายและใจทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประสบความสำเร็จ และส่งผลดีทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุข สมดังที่ปรากฏในพระปฐมบรมราชโองการ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และพระราชดำรัส “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ได้สำเร็จด้วยน้ำมือของพวกเรา ด้วยการร่วมไปช่วยกันทำให้บ้านเมืองของเรา จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้านของเรา เกิดการช่วยกัน “แก้ไขในสิ่งผิด” และสืบสานในพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ภายใต้ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า สิ่งที่กล่าวไปนั้นจะมีค่าอย่างยิ่ง หากพวกเราทุกคนร่วมลงมือทำ ทำด้วยน้ำใจ และทำให้ยั่งยืน น้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามหลัก 4 กระบวนการ คือ “ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์” ทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง และขอฝากอนาคตของคนไทย และประเทศชาติไว้ในมือพวกเราชาวมหาดไทยทุกคน ขอให้ทุกท่านทำหน้าที่ด้วยน้ำใจ อุทิศทุ่มเท “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนด้วยน้ำใจ” ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่าน รับภาระในการเป็นนายกรัฐมนตรีของจังหวัด และนายกรัฐมนตรีของอำเภอ ด้วยจิตวิญญาณของราชสีห์ผู้ภักดีของแผ่นดิน จิตวิญญาณของนักปกครองผู้รักประชาชนไปด้วยกัน
ด้านนายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า จังหวัดบุรีรัมย์มียุทธศาสตร์การพัฒนาที่เน้นหนักในด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการเจริญเติบโต เรามีสนามกีฬาที่ได้รับมาตรฐานของโลก เช่น การแข่งขันจักรยานยนต์ “MotoGP” ซึ่งในปีที่ผ่านมามีผู้เข้าชมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมกว่า 180,000 คน คิดเป็นเงินหมุนเวียนประมาณ 4,000 ล้านบาท นอกจากนี้ มีการจัดการแข่งขันบุรีรัมย์มาราธอน ระดับ Gold Label ในระดับโลก ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับพื้นที่เป็นอย่างมาก ตลอดจนมีศักยภาพในพื้นที่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ได้สร้างให้เกิดการกระตุ้นการท่องเที่ยวตลอด 365 วัน เรียกว่า “การท่องเที่ยวเมืองบุรีรัมย์” ซึ่งทั้งหมดคือศักยภาพของจังหวัดบุรีรัมย์ที่ได้รับการพัฒนาก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับการประชุมโครงการอบรมเพิ่มประสิทธิภาพผู้นำในการเสริมสร้างบทบาทของหมู่บ้านสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการประชุมในระดับภูมิภาค โดยจังหวัดบุรีรัมย์มีความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และพร้อมในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยในทุกด้าน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้พี่น้องประชาชนได้รับการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
Leave a Reply