ธรรมยุติกนิกายในเมืองเขมร

 “ธรรมยุติกนิกาย” เป็นพระพุทธศาสนานิกายที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงก่อตั้งขึ้นเมื่อพระองค์ยังผนวชในรัชกาลที่ 3 ต่อมาสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) ได้ขอพระราชทานธรรมยุติกนิกาย ไปเผยแผ่พระศาสนาในประเทศกัมพูชา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระอมาภิรักขิต (เกิด) และพระมหาปาน (ต่อมาได้เป็น สมเด็จพระสุคนธาธิบดี พระสังฆราชฝ่ายธรรมยุติกนิกายในประเทศกัมพูชา) ไปเผยแผ่ธรรมยุติกนิกาย

“สมเด็จพระสุคนธาธิบดี” มีพระนามเดิมว่า “ปาน” ประสูติ ในวันพฤหัสบดี แรม 1 คํ่า เดือนกัตติก ปีจอ พ.ศ. 2370 ในหมู่บ้านแพรกพระเสด็จ จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา ไม่ปรากฏนามบิดามารดา แต่บิดามารดาของท่านได้หนีไปอาศัยอยู่ในจังหวัดพระตะบอง เนื่องจาก ออกญาเดโช (แทน) ก่อการจลาจล

เมื่ออายุได้ 12 ปีจึงบวชเป็นสามเณรที่วัดโพธิ์ ตำบลสังแก จังหวัดพระตะบอง ในคณะมหานิกาย แล้วได้เข้ามากรุงเทพฯ อยู่ที่วัดสระเกศ คณะมหานิกาย ต่อมาเมื่ออายุได้ 21 ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ คณะมหานิกาย จำพรรษาที่วัดสระเกศได้ 4 พรรษา เวลานั้นได้ถวายตัวเป็นศิษย์พระวชิรญาณเถระ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)ๆ โปรดให้ศึกษาพระวินัยในสำนักเจ้าคุณพระญาณรักขิต (สุด) เจ้าอธิการวัดบรมนิวาส คณะธรรมยุติกนิกาย

ต่อมาในวันแรม 1 คํ่า เดือนอาสาธ ปีระกา เอกศก พ.ศ.2393 ค.ศ.1849 พระปานอายุได้ 24 ปี จึงบวชแปลงเป็นพระธรรมยุติกนิกาย โดยมีพระวชิรญาณเถระเป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณรักขิต (สุด) เป็นกรรมวาจาจารย์ และพระอมราภิรักขิต (เกิด) เป็นอนุสาวนาจารย์ มีฉายาว่า “ปัญญาสีโล” ต่อมาสอบได้ความรู้เปรียญธรรมเป็น “พระมหาปาน”

ในปี พ.ศ.2498 สมเด็จพระหริรักษรามา (พระองค์ด้วง) ขอพระราชทานธรรมยุติกนิกายเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาธรรมยุตินิกายในกัมพูชา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้พระมหาปานพร้อมด้วยพระอมราภิรักขิต (เกิด) และพระสงฆ์ 8 รูป อุบาสก 4 คนเดินทางไปสืบพระศาสนายังกรุงกัมพูชา

สมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี ทรงนิมนต์พระมหาปานให้จำพรรษาอยู่ที่วัดศาลาคู่ (วัดอํพิลบี) กรุงอุดงค์มีชัย ประเทศกัมพูชา พระมหาปาน ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระอริยวงศ์ พระวิมลธรรม พระมหาวิมลธรรม ตามลำดับ ภายหลังเป็นสมเด็จพระสุคนธาธิบดี

สมเด็จพระสุคนธาธิบดี (ปาน) เป็นกวีและปราชญ์ในราชสำนักสมเด็จพระหริรักษรามาอิศราธิบดี กับสมเด็จพระนโรดม ผลงานนิพนธ์ของท่านหลายเรื่องตกทอดมาถึงปัจจุบัน เช่น รบากษัตริย์ (พระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา) ที่แต่งร่วมกับออกญาสนธรโวหาร (มุก) และ ลเบิกอังกอร์วัดแบบเก่า (เลฺบีกองฺครวตฺตแบบจาส่)

สมเด็จพระสุคนธาธิบดี (ปาน) สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2437 พระชนม์ได 68 พรรษา ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัวของไทยและสมเด็จพระนโรดม (พระองค์ราชาวดี) ของกัมพูชา

ที่มา: เพจพุทธศาสนา ไทย ลาว กัมพูชา

Leave a Reply