มส.รับทราบแนวทางการขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติฉบับที่ 2″ ปูพรมการดูแลพระสงฆ์ สามเณร และแม่ชี พร้อมจัดตั้ง “กองทุน”

มติมหาเถรสมาคม รับทราบแนวทางการขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2” พร้อมจะประกาศใช้ในช่วงสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา บนหลักการ “ใช้ทางธรรมนำทางโลก” เตรียมขยายการพัฒนาระบบดูแล-ส่งเสริมด้านสุขภาพและสุขภาวะ ของพระสงฆ์-แม่ชี-สามเณร ครอบคลุมพื้นที่วัด-ร.ร.พระปริยัติธรรม ทั่วประเทศ


นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 ฝ่ายคฤหัสถ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ครั้งที่ 14/2566 เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2566 มีมติรับทราบ ร่างและแนวทางการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2566 หรือธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ ฉบับที่ 2 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เสนอ โดยจะมีการประกาศใช้ในช่วงสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชาโลก ประจำปี พ.ศ. 2566

สำหรับ ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2566 ได้เป็นการทบทวนจาก ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งถูกจัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการดูแลสุขภาวะของพระสงฆ์ ที่คณะสงฆ์และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันจัดทำบนหลักการ “ใช้ทางธรรมนำทางโลก” โดยในหมวด 5 ข้อ 37 ได้กำหนดให้มีการทบทวนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ อย่างน้อยทุก 5 ปี

นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีของการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ ฉบับแรก ได้เกิดการดำเนินงานในด้านของการส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะ ทั้งในส่วนของพระสงฆ์และสามเณรไปได้ก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในส่วนของการขึ้นทะเบียนพระสงฆ์ เข้าไปอยู่ในการดูแลภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จากเดิมที่พระสงฆ์สามารถเข้าถึงได้น้อย แต่ปัจจุบันมีการลงทะเบียนสิทธิของพระสงฆ์ที่ครอบคลุมเกือบทั้งหมดกว่าแสนรูป

พร้อมกันนี้ยังมีการอบรมให้เกิดพระคิลานุปัฏฐาก หรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว.) ขึ้นทั่วประเทศ ในการทำหน้าที่คอยช่วยเหลือดูแลพระสงฆ์อาพาธ สร้างเสริมสุขภาพ และลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ มีการดำเนินงานวัดส่งเสริมสุขภาพ มุ่งเน้นให้วัดเป็นพื้นที่ของการสร้างเสริมสุขภาพพระสงฆ์ และสร้างอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ตลอดจนการสร้างความรู้ด้านสุขภาพ กระจายข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการอุปัฏฐากพระสงฆ์ให้แก่ประชาชน ทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่

นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์การระบาดโควิด-19 การดำเนินงานของวัดและพระสงฆ์ก็ได้เป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการรับมือกับภาวะวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นการเกิดโรงทานสนับสนุนอาหารให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ การให้ความช่วยเหลือจัดฌาปนกิจศพ ตลอดจนการใช้พื้นที่วัดเป็นสถานที่กักกันตัว หรือ Temple Isolation ซึ่งทั้งหมดถือเป็นเรื่องเดียวกันทั้งในแง่ภารกิจด้านสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์ และหลักการตามธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ

“จะเห็นได้ว่าธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ ไม่ใช่เรื่องของการเรียกร้องให้เข้าไปดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพแก่พระสงฆ์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ในทางกลับกันยังเป็นการที่ศาสนาเข้ามามีส่วนช่วยส่งเสริมดูแลทางฝั่งของญาติโยม ให้นำพาไปสู่การมีสุขภาพ สุขภาวะที่ดี ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งตลอดระยะเวลาของการมีธรรมนูญฯ ได้ทำให้ภาพการรับรู้ ความตื่นตัวในเรื่องนี้เกิดขึ้นจำนวนมาก และยังต่อยอดไปสู่การขยายเป็นธรรมนูญสุขภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรม ที่จะสามารถถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้กระจายไปสู่กลุ่มของสามเณร ที่มีจำนวนปีละกว่า 3-4 หมื่นรูปได้อีก” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว

ด้าน พระมหาประยูร โชติวโร คณะทำงานวิชาการทบทวนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของการทบทวนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ ที่นำมาสู่เนื้อหาของ ฉบับที่ 2 ได้มีการเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแม่ชีคิลานุปัฏฐายิกา หรือแม่ชีที่คอยทำหน้าที่เดียวกันกับพระคิลานุปัฏฐาก เพื่อให้ครอบคลุมกับวัดทั่วประเทศมากขึ้น ซึ่งตั้งเป้าให้มีอย่างน้อยตำบลละ 1 รูป เพื่อทำหน้าที่ในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ สามเณร แม่ชี รวมถึงบุคลากรของวัดที่เจ็บป่วย หรือมีปัญหาด้านสุขภาพเพิ่มเติม

ขณะเดียวกันยังมีในส่วนของการเพิ่มเติมพระสงฆ์ ผู้ทำหน้าที่เป็นพระจิตอาสาคิลานธรรม เพื่อเยียวยาผู้ป่วยในชุมชนผ่านธรรมะในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุติดเตียง ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องการกำลังใจ ให้ได้รับการเยียวยาทางด้านจิตใจจากอาการเจ็บป่วยของร่างกาย ผ่านพระสงฆ์ในชุมชนของตนเอง

นอกจากนี้ยังจะมุ่งเน้นให้มีการจัดทำฐานข้อมูลของพระสงฆ์อย่างเป็นระบบ และมีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้น โดยมอบหมายความรับผิดชอบในการจัดทำข้อมูลของพระสงฆ์ สามเณร และแม่ชี ให้กับกรรมการฝ่ายปกครอง มส. แทนกรรมการสาธารณสุขสงเคราะห์ เพื่อให้ครอบคลุมภาพรวมของพระสงฆ์ สามเณร ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมและวัดทั่วประเทศมากขึ้น ตลอดจนจะมีการผลักดันและขับเคลื่อนกองทุนสุขภาพพระสงฆ์ หรือกองบุญ ขึ้นมาเพื่อเป็นงบประมาณสำหรับการดูแลสุขภาพ ส่งเสริมป้องกันโรคให้กับพระสงฆ์ เพิ่มเติมจากบริการตามสิทธิบัตรทอง

33

Leave a Reply