รอบตัดสินระดับภาคแล้ว! ประกวด “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม

รอบตัดสินระดับภาคแล้ว! ประกวด “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม คัดผลงานโดดเด่น 150 ชิ้น จากกว่า 3,000 ชิ้น ทั่วประเทศ เพื่อประกวดต่อรอบ Semi Final ตุลาคมนี้

เมื่อวันจันทร์ที่ 26 กันยายน 2565 เวลา 10.30 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม กิจกรรมที่ 1 ประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม รอบคัดเลือก พร้อมด้วย นายธีระพันธ์ วรรณรัตน์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ การออกแบบแฟชั่น ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย รวมถึงดีไซน์เนอร์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” ระดับภาค อาทิ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและผู้เชี่ยวชาญการย้อมสีธรรมชาติ นางสาวรติรส จุลชาต รองประธานกรรมการ บริษัท ไอริส 2005 จำกัด นายกรกลด คำสุข รองคณะบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นางสาวศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระ นายศมิสสร สุทธิสังข์ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายรวิเทพ มุสิกะปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่นสิ่งทอและเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายอนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ช่างต้นแบบสิ่งทอ กรมหม่อนไหม นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ ISSUE และ นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และเจ้าของแบรนด์ THEATRE พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการและแขกผู้มีเกียรติร่วมงานคับคั่ง ณ ห้อง Meeting Room 1-2 ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพมหานคร



นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการผ้าไทยที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้มีพระดำริพระราชทานโครงการแก่วงการผ้าไทย คือ โครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” หมายถึง ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค อีกทั้งเป็นการสานต่อพระราชปณิธานแห่ง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อสืบสานภูมิปัญญาและอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน รวมถึงสานต่อแนวพระราชดำริของสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาประชาราษฎร์ โดยความสำเร็จของโครงการนี้ ประการที่ 1 คือ ผ้าไทยได้รับการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญา ทำให้ผ้าไทยมีสีสันลวดลายที่สวยงาม และที่สำคัญล้วนเป็นสีที่มาจากธรรมชาติทั้งสิ้น ประการที่ 2 คือการขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่พี่น้องประชาชน ในเรื่องของการสร้างสรรค์ลวดลาย รูปแบบ เพื่อผ่าทางตันของลวดลายผ้าไทยที่มีมาเนิ่นนาน ทำให้ผู้สวมใส่มีความสุข ดูดี มีชีวิตชีวา เต็มไปด้วยศิลปะ ความประณีต และรูปลักษณ์ที่เตะตาต้องใจ โครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงขับเคลื่อนนั้น กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันเป็นโซ่ข้อกลางในการนำเอาข้อมูล ความรู้ต่างๆ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไปสู่พี่น้องประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง ดังตัวอย่างของกลุ่มผ้าท้องถิ่นต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จ เช่น กลุ่มผ้าบาติกภาคใต้ กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย จ.สกลนคร เป็นต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเสริมว่า สิ่งที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมุ่งมั่นตั้งพระราชหฤทัย คือ ทรงมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของประชาชนในทุกหนแห่ง ว่าทุกคนมีศักยภาพในการที่จะพัฒนาฝีมือ พัฒนาชิ้นงาน ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นชิ้นงานที่มีคุณภาพได้ ดังนั้น กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนและมีความสามารถที่จะสนองต่อพระราชปณิธาณดังกล่าว เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่พี่น้องประชาชน และนำเอาองค์ความรู้ที่ถูกต้องไปสู่พี่น้องประชาชนได้ และตรงกับที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระราชทานแนวคิดไว้ว่า การจะช่วยคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ปากยิ้ม ท้องอิ่ม มีความสุขได้นั้น ไม่ใช่หยิบยื่นเอาสิ่งของ หรือเงินทองไปให้ แต่ต้องติดอาวุธทางปัญญา หรือให้เครื่องมือในการ ประกอบอาชีพให้ประชาชน และตรงกับสิ่งที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีความเข้าใจ มีความสามารถในการที่จะพัฒนาตนเอง โดยปีนี้ทั้ง 4 ภูมิภาค มีจำนวนผลของผ้าไทยที่ส่งเข้าประกวดมากกว่า 3,000 ชิ้น ถือว่าเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ซึ่ง “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” รายละเอียดนั้นจะมีความยากกว่า “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แต่ก็ยังมีผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวดเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ที่สามารถทำให้มีคนมาสืบสานภูมิปัญญาผ้าไทยเพิ่มมากขึ้น อนุรักษ์ผ้าไทยเพิ่มมากขึ้น ช่างทำผ้ามีฝีมือมีผลงานการทำผ้าที่มากขึ้น โดยคำนึงถึงการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้สารเคมีในการย้อมผ้า และหันมาใช้สีธรรมชาติทั้งสิ้น ทั้งหมดนี้ล้วนมาจาก แนวคิดของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้พระราชทานไว้เพื่อให้คนมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง และนำมาปฏิบัติ และเกิดผลลัพธ์ที่ดี และยิ่งไปกว่านั้น “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวนกว่าหลายแสนล้านบาท นับเป็นคุณค่าที่ทุกคนภาคภูมิใจ และนำไปสู่เป้าหมายในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ประชาชนทุกคนมีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม รอบคัดเลือก ที่ได้จัดขึ้นนี้ จะทำให้มีการตื่นตัวในการพัฒนาฝีมือการทอผ้า ทุกเทคนิคของผู้ประกอบการ OTOP และช่างทอผ้าทุกคน ให้มีคุณภาพมีความหลากหลายและมีการประยุกต์รูปแบบลวดลาย สีสันที่ร่วมสมัยสามารถสวมใส่ ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา สืบไป

ด้าน นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินกิจกรรมประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค จำนวน 4 จุดดำเนินการ ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค เรียบร้อยแล้ว มีผ้าที่ผ่านการประกวดระดับภาค จำนวน 567 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 83 ชิ้น แยกเป็น ภาคใต้ ประเภทผ้า จำนวน 56 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 27 ชิ้น ภาคกลาง ประเภทผ้า จำนวน 33 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 23 ชิ้น ภาคเหนือ ประเภทผ้า จำนวน 84 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 18 ชิ้น และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเภทผ้า จำนวน 394 ผืน ประเภทงานหัตถกรรมจำนวน 15 ชิ้น และในวันนี้เป็นการประกวดรอบคัดเลือก โดยคัดเลือกผลงานให้คงเหลือ 150 ผืน/ชิ้น เพื่อประกวดในรอบ Semi Final วันที่ 19 ตุลาคม 2565 และรอบ Final ระดับประเทศ วันที่ 31 ตุลาคม 2565 นี้ โดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเสด็จเป็นประธานการตัดสิน ดังกล่าว

ทั้งนี้ โครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ได้เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน – 19 สิงหาคม 2565 ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอทั่วประเทศ ซึ่งมีผู้สมัครส่งผลงานเข้าประกวด จำนวนทั้งสิ้น 2,946 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวนทั้งสิ้น 298 ชิ้น โดยได้กำหนดดำเนินการกิจกรรมประกวดผ้าลายพระราชทาน และงานหัตถกรรม ระดับภาค จำนวน 4 จุดดำเนินการ ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ได้แก่ จุดดำเนินการที่ 1 ภาคใต้ จังหวัดสงขลา มีผู้สมัครส่งผลงานเข้าประกวด ประเภทผ้า จำนวน 240 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 84 ชิ้น จุดดำเนินการที่ 2 ภาคกลาง จังหวัดชัยนาท มีผู้สมัครส่งผลงานเข้าประกวด ประเภทผ้า จำนวน 232 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 67 ชิ้น จุดดำเนินการที่ 3 ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้สมัครส่งผลงานเข้าประกวด ประเภทผ้า จำนวน 456 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 69 ชิ้น และจุดดำเนินการที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี มีผู้สมัครส่งผลงานเข้าประกวด ประเภทผ้า จำนวน 2,018 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 78 ชิ้น

Leave a Reply