พระแนะแนวสร้างสุข สำหรับคนไทย2562 ยุคDisruption

ปี 2562 เริ่มต้นขึ้น! สวัสดีคนไทย สวัสดีความสุข ความหวัง และสิ่งที่จะเกิดขึ้น โลกยุคดิจิทัลเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เราจะดำเนินชีวิตอย่างไรในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และยุคสมัยแห่งดิสรัปชั่น (Disruption) ยุคสมัยแห่งการปฏิรูปที่กำลังถาโถม ในทุกรูปแบบ ทุกวิถี ทุกความเป็นไป

พระราชปริยัติกวี ศ.ดร. (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ให้โอวาทชาวไทยว่า เรื่องการเปลี่ยนแปลงนี้ เราไปกำหนดกะเกณฑ์ไม่ได้ เป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นเรื่องของไตรลักษณ์ ควรพิจารณาคือตัวเราเอง จิตใจของเราเอง ทั้งนี้ ให้หลักคิดในสองแนวทาง 1.หลักพระพุทธศาสนา 2.หลักวิชาชีวิต

สำหรับหลักวิชาการทางพระพุทธศาสนา ยึดหลักปรมัตถธรรม ต้องเข้าใจหลักขันธ์ 5 กฎของธรรมชาติ กฎไตรลักษณ์ ต้องเข้าใจความจริงของชีวิต ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ทุกอย่างในโลกที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป มีความเข้าใจต่อกระบวนการปฏิจจสมุปบาท การเกิดขึ้นและดับไปของทุกข์

ขณะที่หลักวิชาชีวิต ไม่ว่าจะเป็นยุคดิสรัปชั่นหรือยุคใดที่ผ่านมา ล้วนเป็นเรื่องของโลก ในฐานะผู้บริโภค ถ้าเรานิ่งให้เป็น ก็ไม่มีปัญหา แต่เพราะจิตเราไม่นิ่ง จึงวิ่งตามกระแสโลก แล้วเราก็ไล่ไม่ทัน ทั้งดิสรัปชั่นและดิสรัปทีฟ (Disruptive) กระหน่ำมา ที่เป็นของเดิมก็กลายเป็นของใหม่ ที่กระจัดกระจายก็กลายเป็นยุ่งเหยิง จึงต้องเข้าใจ ต้องดูแลจิตให้เข้มแข็ง การเปลี่ยนแปลงเป็นวัฏจักร มีเจริญมีเสื่อม จะเปลี่ยนไปอย่างไร อีกไม่นานก็วนกลับมาอีก

“จะอยู่ในยุคดิสรัปชั่น โซไซตี้ (Disruption Society) หรือจะอยู่ในยุคใดก็ตาม ถ้าเรากำหนดตัวเองให้เป็นเพียงผู้สังเกต เป็นเพียงผู้เฝ้าดูปรากฏการณ์ นั่นจะทำให้อยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าเราเป็นผู้เล่น เราก็เป็นผู้เดือดร้อน เป็นผู้ดิ้นรน เป็นผู้ถูกพลัดไปในกระแสโลก”

อธิการบดี มจร กล่าวถึงหลักธรรมโลกยุคดิจิทัล ที่ชาวพุทธสามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดสุข อันดับแรกคือการปรับท่าทีต่อปัญหา ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ขอให้มองเป็นธรรมดาโลก ต้องฝึกให้มีความคิดเชิงบวก มองโลกในแง่ดี ทุกข์มากทุกข์น้อย เป็นแค่ความรู้สึก พยายามทำจิตให้สบาย หาวิธีแก้ปัญหา ทำความเห็นให้ตรง จะทำให้ชีวิตมีความสุขขึ้น

อันดับสอง ขอให้ทำคุณงามความดี รักษาศีลให้ได้ทุกขณะจิต คฤหัสถ์ต้องมีกุศลเจตนาเป็นที่ตั้ง ปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้เป็นกุศลเจตนาอย่างต่อเนื่อง อันดับสาม ทำทุกอย่างให้เป็นบุญ เช่น การทำงานก็ถือเป็นบุญ เพราะทำงานให้ดีตามหน้าที่ สอนหนังสือก็เป็นธรรมเทศนามัย ทำทุกอย่างให้เป็นบุญ มองทุกอย่างให้เป็นบุญ จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น

หลักธรรมประการสุดท้าย ได้แก่ การผูกมิตรไมตรีกับกับทุกคน มีงานวิจัยว่าคนที่มีความสุขคือ คนที่มีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น การผูกมิตรขอให้มีเมตตาเป็นที่ตั้ง มีเมตตาเป็นธง ฝึกให้มีความเมตตาทั้งต่อคนที่ไม่ชอบและคนที่ชอบ ทั้งหมดนี้คือหลักปฏิบัติสำหรับชาวพุทธในทุกยุคสมัย

ขอพรปีใหม่สำหรับคนไทย 2562 อธิการบดี มจร กล่าวให้พรว่า ขอให้หลักการดำเนินชีวิตเป็นการเสริมสร้างพรให้กับตัวทุกท่านเอง โดยอันดับหนึ่งขอพรจากปูชนียบุคคล มีพ่อแม่ครูอาจารย์ ระลึกถึงความดีของผู้มีพระคุณ อันดับสองขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และอันดับสามซึ่งสำคัญที่สุด คือ การทำความดีให้เป็นพรแห่งตน

พระราชปริยัติมุนี รศ.ดร. (เทียบ สิริญาโณ) คณบดีคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กล่าวว่า อยากจะมีความสุข ก็ต้องใช้สติ ในคำว่า สติ ครอบคลุมถึงคำว่า สติปัญญาและสติสัมปชัญญะ

“มีสติเป็นตัวรู้ เราแก้ปัญหาชีวิตได้ อาศัยตัวสติ ที่จะก่อให้เกิดปัญญาในการดำเนินชีวิต”

สำหรับหลักธรรมนำความสุข คือ การคิดจะให้ การให้เป็นพลังยิ่งใหญ่ จิตที่คิดจะให้ ใจจะสบาย มีความสุขมากกว่าจิตคิดจะเอา ถ้าเราคิดเสียสละ เราจะมีความสุขยิ่งขึ้น นอกจากนั้นก็ต้องรู้จักกตัญญูต่อสังขารตัวเอง ต้องรู้จักดูแลสุขภาพกายให้แข็งแรง ดังพุทธพจน์ที่ว่า การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ ได้มีโอกาสทำความดี ความมีสุขภาพดีจึงทำให้เรามีพลังความดี ที่จะทำประโยชน์ได้มาก

หลักธรรมที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การมีเมตตาต่อผู้อื่น ดังสุภาษิตที่ว่า “จิตเหมือนปลา เมตตาเหมือนน้ำ จิตไร้เมตตา เหมือนปลาที่ขาดน้ำ” เราต้องมีกัลยาณมิตรที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แบ่งปันกัน และไม่เบียดเบียนกันในสังคม มีพลังเมตตา ทำให้เกิดความสุขในตนเองและสังคมได้

พระมงคลธีรคุณ ดร. (อินศร จินฺตาปญฺโญ) รองเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน กล่าวถึงการดำเนินชีวิตให้มีความสุขในบริบทพุทธธรรมว่า มนุษย์มีการติดต่อกับโลกภายนอกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จึงทำให้ตาได้เห็นรูป หูได้ฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส และใจรับธรรมารมณ์ (อารมณ์ทางใจ) เมื่อรับรู้แล้ว ก็เกิดความรู้สึกว่าชอบ-ไม่ชอบ หรือเฉยๆ หากมนุษย์รับรู้โลกภายนอกแล้วอยู่ในระดับความรู้สึกเช่นนี้ ถือว่าไม่ปลอดภัยหรือไม่พัฒนา

กรณีโน้มใจไปในทางที่ชอบ พอใจ ติดใจ เป็นต้น ก็จะเกิดทุกข์ มีปัญหาตามมา ควรที่จะก้าวข้ามจากความรู้สึกนี้ไป ทำในใจว่า เราจะได้เรียนรู้อะไร ตั้งท่าทีไว้ในใจว่า ฉันจะได้เรียนรู้อะไร ซึ่งเป็นขั้นของการใช้ปัญญาเข้ามามีบทบาทสำคัญว่า แต่ละเรื่องที่เข้ามาไม่ว่า ทางตา หู จมูก เป็นต้นนั้น เราได้เรียนรู้อะไร เพียรพยายามในการมองหาความจริงของสิ่งนั้น และมองหาประโยชน์จากสิ่งนั้นให้ได้

เมื่อเราได้ใช้ปัญญามองหาความจริง และมองหาประโยชน์เช่นนี้ เราจะได้ตลอด คือ ได้ปัญญา ได้ความรู้ ได้ความเข้าใจ ทุกข์หรือปัญหาก็จะเบาบางหรือหมดไปได้ ในยุคสมัยนี้ โลกมีสิ่งที่จูงใจ เร้าใจให้เราหลงไปตามกระแสนั้นมีมาก เราจะใช้เวลาในแต่ละวันหมดไปกับสิ่งล่อเร้าเย้ายวนนี้มาก จะมีสิ่งใดที่จะนำพาให้เราออกจากจุดนี้ได้ ก็คือ ต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ

“ความรู้ตัว ทำในใจว่า เวลาแต่ละวัน อย่าให้ผ่านไปเปล่า จะน้อยหรือมาก ก็ควรให้ได้อะไรบ้าง ได้งานได้การ ได้บุญกุศล ได้เกิดปัญญา แล้วชีวิตของเราก็จะก้าวไปในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป”

การดำเนินชีวิต ควรใช้ปัญญาในอันที่จะคิดแก้ไข ปรับเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยที่ดีที่ถูกต้อง อันจะนำไปสู่ผลที่พึงประสงค์ได้ ดังมีคำของนักปราชญ์กล่าวว่า “ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เป็นผู้ประเสริฐสุด” เป็นการดำเนินชีวิตที่รู้จักคิด รู้จักพิจารณา หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะก่อให้เกิดทุกข์และปัญหา แต่ไม่พลาดโอกาสที่จะทำในสิ่งที่จะนำไปสู่ความสุขความเจริญงอกงามที่ดี ตระหนักถึงสิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ควรละเว้น

ในการดำเนินชีวิตนั้น สิ่งที่ควรใส่ใจมี 3 ด้าน คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ด้านพฤติกรรม จะต้องควบคุมด้วยศีล คือการสำรวมระวังทางกายและวาจา เป็นการระงับยับยั้งการกระทำทางกายและวาจา มิให้ไปทำหรือพูดให้ผู้อื่นเดือดร้อนเสียหาย ให้มีการอยู่ร่วมกันอย่างเอื้อเกื้อกูล มีมิตรไมตรีต่อกัน

ด้านจิตใจ มีการฝึกฝนอบรมตนให้เกิดสมาธิ ส่งผลให้มีความสุข สงบ เบิกบานด้วยดี มีความร่าเริงแจ่มใส ไม่มีความขุ่นมัวในใจและด้านปัญญา มีความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจน จะทำอะไรก็รู้ทะลุปรุโปร่งไป และทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและคนอื่น

“ยิ่งในยุค Disruption ท่ามกลางเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม การเมืองในปี 2562 ด้วยแล้ว จะต้องมีปัญญาที่สูงส่ง จึงจะอยู่รอดปลอดภัย และอยู่ได้อย่างสง่างาม”

แน่นอนว่าการดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้ จะต้องประสบทั้งทุกข์และสุข ซึ่งในการปฏิบัติตนต่อทุกข์และสุข สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้ให้แนวทางไว้ว่า 1.ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ 2.ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม 3.ถึงได้สุขที่ชอบธรรมก็ไม่สยบ 4.เพียรเข้าถึงสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป

เห็นได้ว่า ความสุขในทางพระพุทธศาสนานั้นมีหลายระดับ สุขจากการพึ่งพา ต้องขึ้นตรงต่อสิ่งภายนอกที่มาบำรุงบำเรอปรนเปรอให้ตนมีความสุข เมื่อพัฒนาไปเรื่อยๆ จะมีความเป็นอิสระ ไม่ต้องพึ่งพาต่อวัตถุภายนอก ลำพังตัวเองก็มีความสุข ซึ่งก่อนจะถึงจุดนั้นได้จะต้องมีกระบวนการฝึกตนตามลำดับขึ้นไปเรื่อยๆ ตามหลักการที่พระพุทธองค์ได้ประทานพระโอวาทแก่พระปุณณสุราปรันตะ ในปุณณสูตรว่า

“ดูกรปุณณะ มีรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ถ้าภิกษุยินดี กล่าวสรรเสริญ พัวพันรูปนั้น ความเพลินก็เกิดขึ้น เพราะความเพลินเกิดขึ้น ทุกข์จึงเกิด ฯลฯ

ดูกรปุณณะ มีเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต มีกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ มีรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา มีโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย

มีธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ถ้าภิกษุยินดี กล่าวสรรเสริญ พัวพันธรรมารมณ์นั้น ความเพลินก็เกิดขึ้น เพราะความเพลินเกิดขึ้น ทุกข์จึงเกิดฯ

ดูกรปุณณะ รูปทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันรูปนั้น ความเพลินก็ดับไป เพราะความเพลินดับไป ทุกข์จึงดับ ฯลฯ

ดูกรปุณณะ มีเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต มีกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ มีรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา มีโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย

มีธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด เมื่อภิกษุนั้นไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น ความเพลินก็ดับไป เพราะความเพลินดับไป ทุกข์จึงดับ

ดูกรปุณณะ ด้วยประการฉะนี้ เธอนั้นจึงไม่ห่างไกลจากธรรมวินัยนี้”

เห็นได้ว่า วิถีการดำเนินชีวิตในบริบทของพุทธธรรมนั้น สามารถจะอยู่ได้ อยู่รอด และมีความสุขความร่าเริงเบิกบานใจ ในทุกยุคทุกสถานการณ์ ถึงอยู่ในโลกก็ไม่ติดโลก พร้อมทั้งมีใจที่ได้รับการฝึกให้อยู่เหนือโลกธรรมทั้งปวง ชีวิตที่เหลือจากนั้นก็อยู่เพื่อมวลหมู่มนุษยชาติให้ได้รับประโยชน์มากที่สุด ตามหลักการที่ว่า อยู่ใน ใจเหนือ เกื้อโลก

ผศ.ดร.กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์, วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ รายงาน
Cr.https://www.posttoday.com/life/life/576165

Leave a Reply