คนกะเหรี่ยงอุ้มผาง คือ คนต้นน้ำ : โคก หนอง นา เหมือนพลิกฟื้นวิถีชีวิตเรากลับคืนมา

        เชื่อว่าหลายคนที่ไม่ใช่ “เกษตรกร” เมื่อได้ยินคำว่า “โคก หนอง นา” จะเข้าใจไปก่อนเลยว่ามันเป็นเรื่องที่ไกลตัว และมีหลายคนไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “โคก หนอง นา” แต่ความเป็นจริงแล้ว “โคก หนอง นา” คือการจัดสรรพื้นที่ที่มีให้เหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุด ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง และก่อเกิดเป็นความยั่งยืนในอนาคต เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นคนเมือง คนต่างจังหวัด หรือคนรุ่นใหม่ เมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิต คุณก็จะอยากใช้ชีวิตในแบบที่เรียบง่ายอย่างแน่นอน  ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลตั้งอยู่บนฐานของการพออยู่ พอกิน พอใช้ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง

           คำว่าโคก หนอง นา  ปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมชื่นชอบแพร่เข้าไปในทุกระดับชนชั้นของสังคมภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล และการประชาสัมพันธ์เชิงรุกอย่างจริงจังของ “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย   ในขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโคกหนองนา ทั้งการจัดสรรที่ดิน การออกแบบแปลง การจำหน่ายกล้าไม้  ปุ๋ยอินทรีย์  ธุรกิจก่อสร้าง และการขุดแปลงโคกหนองนา กลายเป็นธุรกิจตัวใหม่ในชุมชนและคนมีหัวทางด้านนี้

         ไม่เว้นแม้กระทั้งในถิ่นทุรกันดารห่างไกลปืนเที่ยงอย่างอำเภออุ้มผาง ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ที่นี้ คนกะเหรี่ยง มีความคิดในการอยู่ร่วมกับป่าไม่เหมือนชนชาติใดในโลกใบนี้

          “คนกะเหรี่ยง” มีจารีตประเพณีความคิดว่า ตนเองเป็นคนต้นน้ำ ยึดมั่นในวิถีวัฒนธรรมของตนเอง และคำสอนของปู่ย่าตายาย ในการที่จะรักษาผืนป่าที่เป็นต้นน้ำ เพื่อรักษาต้นน้ำลำธารที่เปรียบเสมือนชีวิตของผู้คนทั้งคนต้นน้ำ คนกลางน้ำ และคนปลายน้ำให้คงอยู่ไว้ให้ได้  “ปู่ย่า ตา ยาย เค้าบอกว่า คล้าย ๆ ว่าเราอยู่กับต้นน้ำลำธาร เราอยู่ในป่าในเขา น้ำทุกสายที่เราอาศัยคือต้นน้ำลำธาร คล้ายๆ ว่าน้ำทุกหยดต้องไหลสู่ทะเล เราอยู่ต้นน้ำก็คือเท่ากับ..ต้นทะเล”

         ถึงแม้ว่าความเจริญเข้ามา แต่ให้เราอยู่ได้ ถึงแม้ความเจริญเข้ามา แต่เราไม่ได้หลงวัฒนธรรมของคนอื่น แต่เราจะอยู่กับวัฒนธรรมของเรา ถ้าหากว่าคนที่อยู่ข้างล่าง สมมุติว่าไม่มีป่าแล้ว สักวันหนึ่งน้ำมันจะแห้งเขาจะอยู่ได้ยังไง ต้นน้ำลำธารแห้งหมดแล้ว เหมือนในป่ากับในเมืองเท่ากับมือซ้ายมือขวา ถ้ามีป่ามีน้ำ ป่าไม่มีน้ำมันก็แห้ง อันนี้มันเกี่ยวข้องกัน ถ้าทำแห้งหมดแล้วเนี่ย ถึงคนในเมืองอยู่ไม่ได้ คนในป่าก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน..

         คำพูดนี้ทั้งหมดทีมงานได้พูดคุยกับผู้เฒ่ากะเหรี่ยงท่านหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อครั้งลงไปสำรวจความสำเร็จในการทำโคกหนองนาในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขาแหลม

       หลังจากทีมงานสัมภาษณ์ “นายฐากูร ดอนเปล่ง” นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ กรมการพัฒนาชุมชน เรียบร้อยอีกวันต่อมา รับอาสาเป็นไกด์กิตติมศักดิ์พาชมแปลงโคกหนองนา ขนาด 15 ไร่ และขนาด 3 ไร่  ซึ่งทั้งสองแปลงตั้งอยู่ในป่าต้นน้ำแปลงแรกเป็นที่ดินของ สปก.ส่วนแปลงที่สองตั้งอยู่ในเนื้อที่ของกรมป่าไม้

        “สุทัศน์ ศรีเกริกก้อง” หรือ “พี่ทัศน์” พร้อมเจ้าหน้าที่ นพต.หรือนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบพาทีมงานเดินชมพื้นที่ขนาด  15 ไร่ ซึ่งตอนนี้สระน้ำจำนวน 7 บ่อขุดเสร็จเรียบร้อยแล้ว เห็นช่างกำลังสร้างฐานเรียนรู้กันอยู่ พื้นที่ค่อนข้างลาดชัน มีห้วยน้ำขนาบข้าง ที่ดินสมเป็นป่าต้นน้ำ ซึ่งเมื่อมองออกไปพื้นที่แปลงโคกหนองนาของพี่ทัศน์ล้อมรอบไปด้วยไร่ข้าวโพด ที่พี่ทัศน์บอกว่า แต่ก่อนก็เคยทำแบบนี้ แต่ไปไม่รอด เพราะต้องใช้สารเคมี เป็นพืชเชิงเดี่ยว วงจรเกษตรแบบนี้ต้องพึ่งนายทุน พ่อค้าคนกลางตลอด สุดท้ายเลือกทางเดินตามรอยศาสตร์ของพระราชาและทำเป็น “แปลงแบบอย่าง” ให้ชุมชนได้เรียนรู้ ซึ่งเป็นงาน “ท้าทาย” สำหรับชุมชนอุ้มผางเป็นอย่างมาก  เพราะนับวัน ภูเขาเริ่มกลายเป็นหัวโล้น ๆ ขึ้นเรื่อย ๆ

         “ เริ่มสนใจเข้าทำเศรษฐกิจแนวนี้ได้มาประมาณ 5 ปีแล้ว ตอนนี้ป่าเริ่มถูกทำลายมาก คนภายนอกต่างถิ่นเข้ามาอยู่อาศัยกันมาก ภูเขาเริ่มโล้นมากขึ้น ไปอบรมมาหลายที่ จึงอยากทำเป็นตัวอย่างให้คนรอบข้าง ให้คนในชุมชนเรา ถึงเวลาต้องกลับมาฟื้นฟูป่า ในขณะเดียวกันเราก็จะต้องมีรายได้เข้ามาเลี้ยงครอบครัวด้วย จึงสมัครทำกับกรมการพัฒนาชุมชนขนาด 15ไร่ บนพื้นที่ของ สปก. ซึ่งต่อไปที่นี่จะเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชน”

       “ พี่ทัศน์” บอกว่าสิ่งที่เห็นเป็นรูปเป็นร่างทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นงบประมาณแผ่นดิน เป็นเงินภาษีของชาวบ้าน และการทำงานเอาจริงเอาจัง เอาใจใส่ของข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่ทุ่มเทในแปลงโคก หนอง นา นี้เต็มที่ ผลที่ออกมาจึงสำเร็จอย่างที่เห็นชัดและเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ปัจจุบันชาวบ้านรอบข้างเมื่อเห็นป้าย เห็นสระน้ำ และอาคารที่กำลังสร้าง มีคนสนใจเข้ามาถามกันมาก  การทำเป็นแบบอย่าง สำคัญกว่าคำพูดเสมอ

        ทีมงานเดินดูแปลงไปพรางคุยไปร่วมกับพี่ทัศน์และน้อง ๆ  นพต.หรือนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ซึ่งกินเวลาพอสมควร มีคุณลุงเจ้าของแปลงโคกหนองนาอีกแปลงมารออยู่ก่อนแล้ว ชื่อ “ลุงวีระ รักษ์พนาคีรี” นามสกุลบ่งบอกแล้วว่า “ผู้รักษาป่าเขา”  ลุงวีระเป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงเหมือนกับพี่ทัศน์ ที่ดินของลุงวีระ รถธรรมดาเข้าไปไม่ถึง เนื่องจากถนนลื่น แฉะ ต้องนั่งรถต๊อก ๆ  เข้าไปจากถนนลาดยางประมาณ 5 กิโลเมตร

        ลุงวีระ ในวัย 67 ปี เป็นคนอัธยาศัยดี พูดเก่ง แข็งแรง ดูจากการขับรถต๊อก ๆ ทะมัดทะแมงมาก หากข้อมือไม่แข็งแรงไม่สามารถบังคับรถบนถนนที่ลงเนินและลื่นได้  ตลอดเส้นทางเข้าไปมีไร่กาแฟ ไร่ข้าวโพด ผสมกับปาล์มบ้าง ถนนลัดเลาะไปซอกเขาและลำธารที่อยู่ในช่วงน้ำป่าไหลหลาก ไม่มีชุมชนหรือหมู่บ้าน สมกับเป็นป่าต้นน้ำจริง ๆ   เพราะสภาพป่าและดินชุ่มชื่นร่มเย็น เป็นที่น่าสังเกตว่าที่นี้ไม่มีโครงการหลวง ไม่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูและแก้ไขปัญหาหรือส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้านเท่าไร ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าอุ้มผางห่างไกลจากเมืองและเส้นทางเข้ามาลำบาก จึงไม่ค่อยมีหน่วยงานใดเข้ามาให้ความสนใจกันมาก

        ลุงวีระ รักษ์พนาคีรี  บอกกับเราว่า เสียดายลุงมารู้เรื่องโคกหนองนาช้าไป ตอนนี้อายุมากแล้ว สมัครทำไว้แค่ 3 ไร่ ความจริงอยากทำทั้งหมดเลย 30 ไร่ บนที่ดินที่ครอบครองอยู่  มีโคกหนองนา ไม่มีวันอดตาย เป็นมรดกของในหลวงที่ท่านมอบไว้ให้กับแผ่นดิน ที่พวกเราจะต้องสืบต่อ เรื่องนี้คนไม่ทำไม่รู้ คนทำลงมือทำแล้วจะรู้ว่ามันคือ ทางรอดของเรา

      “ ต้องขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่มอบโอกาสให้ตรงนี้ การได้ทำตรงนี้ก็เหมือนกับการตอบแทนคุณแผ่นดิน ปลูกป่า ปลูกผักปลอดสารพิษ ธรรมชาติก็ได้ประโยชน์ เราก็ได้ประโยชน์ ทำโคกหนอง มันก็เหมือนกับการฟื้นฟูวัฒนธรรมแบบพ่อยาตายายของคนกะเหรี่ยงเรากลับคืนมาใหม่..”

           พื้นที่ขนาด 30 ไร่ของลุงวีระ ตั้งอยู่บนเชิงเขา ปัจจุบันนอกจากทำโคกหนองนาแล้ว ในพื้นที่ที่เหลือมีการปลูกมะพร้าว หมาก และกล้วย   และปลูกข้าวโพด ซึ่งลุงบอกว่าอนาคตจะเลิกทำแล้วข้าวโพด เพราะอายุมาก ต้องขึ้นเนินสูงชันไม่ไหว จะขอทำรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียงปลูกพืชผสมผสานต่อไป

          การเกิดขึ้นของ โคก หนอง นา  นอกจากได้สร้างประโยชน์ให้กับประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นในมิติต่าง ๆ แล้ว ได้สร้างความตื่นตัวให้กับข้าราชการของกระทรวงมหาดไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคนกรมการพัฒนาชุมชน จากเป็นกรมที่ไม่ถือว่าเป็นเกรดเอในกระทรวงมหาดไทย แต่ได้สร้างผลงานเชิงประจักษ์ให้เข้าถึงประชาชนได้อย่างกว้างขวาง กู้ภาพลักษณ์ของความเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทยได้เป็นอย่างดียิ่งในการเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ในทุกโอกาส

        ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเกิดขึ้นได้เพราะความทุ่มเทและความเอาใจใส่ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ของข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชนตั้งแต่ระดับอธิบดีจนถึงผู้ปฎิบัติการในท้องถิ่นนั่นเอง..!!

 

 

 

 

 

Leave a Reply