วันที่ 30 พฤษภาคม 2563 เพจ Phramaha Boonchuay Doojai ได้โพสต์ข้อความว่า “กิจกรรมทาง(พระพุทธ)ศาสนา เสี่ยงระดับไหน ???”
@ วันที่ 1 มิถุนายน 2563 นี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ประกาศมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 โดยให้กิจการและกิจกรรมเสี่ยงปานกลาง-สูงกลับมาเปิดบริการได้ ขยายเวลาเปิดห้างสรรพสินค้าถึง 21.00 น. ปรับลดเวลาเคอร์ฟิวเหลือ 5 ชั่วโมง ตั้งแต่ 23.00-03.00 น. และอนุญาตให้ประชาชนเดินทางข้ามจังหวัดได้หากมีความจำเป็น โดยกิจการและกิจกรรมที่กลับมาเปิดให้บริการได้ในระยะที่ 3 จะต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ทั้งการวัดอุณหภูมิและสังเกตอาการป่วยของพนักงานและผู้ใช้บริการ การลงทะเบียนกับแพลตฟอร์มไทยชนะ และต้องพัฒนานวัตกรรมป้องกันควบคุมโรคในระยะยาว ในขณะที่ยังให้คงมาตรการห้ามเข้าราชอาณาจักรไว้เช่นเดิม เพราะยังมีความเสี่ยงในการนำเชื้อเข้ามาจากต่างประเทศ คนไทยที่เดินทางกลับเข้าประเทศต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคเช่นเดิม
@ รายละเอียดเกี่ยวกับการผ่อนปรนในระยะที่ 3 (ตามที่ เลขา สมช.ชี้แจง) มีดังนี้
> เคอร์ฟิว : ปรับเวลาเป็น 23.00-03.00 น.
> ห้างสรรพสินค้า : ขยายเวลาปิดให้บริการจาก 20.00 เป็น 21.00 น.
> โรงเรียนและสถานศึกษา : ให้ใช้สถานที่ในการสอบคัดเลือกและอบรมระยะสั้นได้
> ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก : เปิดเฉพาะเพื่อทำการประกอบอาหารให้ผู้ปกครองมารับ ยังไม่มีการนำเด็กมา
> ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมและการจัดนิทรรศการ : เปิดดำเนินการได้เฉพาะที่มีพื้นที่ไม่เกิน 20,000 ตร.ม.และต้องปิดในเวลา 21.00 น.
> ศูนย์พระเครื่อง สนามพระเครื่อง : เปิดดำเนินการได้แต่ต้องควบคุมจำนวนคนไม่ให้หนาแน่นเกินไป
> ร้านเสริมสวย สถานเสริมความงาม ร้านตัดผม : เปิดบริการทุกรูปแบบได้ยกเว้นกิจกรรมที่มีการสัมผัสบริเวณใบหน้า แต่ต้องใช้เวลาทำไม่เกิน 2 ชม. และห้ามนั่งรอในร้าน
> ร้านนวดเพื่อสุขภาพ สปา นวดแผนไทย นวดเท้า : ต้องให้บริการไม่เกิน 2 ชม.ต่อราย งดการอบไอน้ำ อบตัว
> ฟิตเนส : ให้ทำกิจกรรมได้ทั้งหมด แต่จำกัดระยะเวลาให้บริการ
> โรงภาพยนตร์ : จำกัดผู้เข้าชมไม่เกิน 200 คน นั่งคู่กันได้ แต่ต้องจัดที่นั่งให้มีระยะห่าง
> สถานที่ออกกำลังกาย : ให้ทำกิจกรรมได้ทุกประเภท แต่ต้องมีมาตรการป้องกันโรคกำกับ และกำหนดระยะเวลาการให้บริการ
> สนามกีฬาเพื่อการฝึกซ้อม : เปิดให้บริการทั้งสนามฟุตบอล ฟุตซอล บาสเกตบอล มวย วอลเลย์บอล บึงน้ำเพื่อการเล่นกีฬาทางน้ำ แต่ต้องมีมาตรการรักษาระยะห่าง จำกัดจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เกิน 10 คนต่อครั้ง และจำกัดเวลา
> ลานกิจกรรม : ลานโบว์ลิง สเกต โรลเลอร์เบลด สถานลีลาศ เปิดให้บริการได้แต่ต้องจำกัดผู้ใช้บริการและกำหนดเวลา
สวนสัตว์ สถานที่จัดแสดงสัตว์: เปิดได้ตามปกติ
> การเดินทางข้ามจังหวัด:ทำได้แต่ขอความร่วมมือให้เดินทางเฉพาะที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น และไม่ใช่การเดินทางท่องเที่ยว
@ ผ่านมาตรการผ่อนปรนมาถึงระยะที่ 3 แล้ว ยังไม่ปรากฏ “กิจกรรมทาง(พระพุทธ)ศาสนา” ในอยู่ในระยะใดเลย และเชื่อ(โดยสุจริตใจ)ว่า คงไม่มี “กิจกรรมทาง(พระพุทธ)ศาสนา” ปรากฏอยู่ในรายการผ่อนปรนในระยะใดเป็นแน่ รวมถึงในในระยะที่ 4 ซึ่งจะเป็นการผ่อนปรนให้กิจการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงสุด ที่กำหนดจะให้กลับมาเปิดบริการได้ในราวกลางเดือนมิถุนายนนี้
@ ในแง่ความเสี่ยง “กิจกรรมทาง(พระพุทธ)ศาสนา” น่าจะเสี่ยงน้อยกว่า “ห้างสรรพสินค้า” หากพิจารณาจากสถานที่ ในขณะที่วัดมีที่โล่งแจ้งมากมาย ที่สามารถจัดกิจกรรมโดยเว้นระยะห่างได้อย่างสบาย ๆ อีกทั้งในปัจจุบันนี้ในวันธรรมดาก็จะไม่มีกิจกรรมอะไรภายในวัดมากนัก เว้นแต่กิจกรรมวันพระหรือวันธรรมสวนะ ที่จะมีกิจกรรมการทำบุญตักบาตร ซึ่งก็มีญาติโยม(โดยเฉพาะผู้หญิงที่สูงอายุ)มาร่วมกิจกรรมไม่มากนัก โดยเฉลี่ยน่าจะไม่เกิน 20 คน กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาที่จะมีญาติโยมเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมากก็เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา ที่มีกิจกรรมทั้งวัน มีการทำบุญตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา และการเวียนเทียน
@ มีหลายคนถามว่า “กิจกรรมทาง(พระพุทธ)ศาสนา” จะได้รับการผ่อนปรนในระยะใด ???
@ ส่วนใหญ่ก็กล่าวโทษไปที่ “ประกาศกรมการศาสนา” กระทรวงวัฒนธรรม เรื่อง “งดการจัดกิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ” ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ระหว่างเดือนเมษายน – กันยายน 2563 ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะประกาศฉบับดังกล่าวมุ่งหมายจำเพราะกิจกรรมที่กรมการศาสนาได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปีมาดำเนินการ และเนื่องจากรัฐบาลจำเป็นต้องปรับเกลี่ยงบประมาณประจำปี 2563 กรมการศาสนาจึงจำเป็นต้องงดกิจกรรมดังกล่าว
@ ต้นตอที่มาที่แท้จริง ในการให้วัดทุกวัดงดจัดกิจกรรมทุกประเภท น่าจะมาจาก “มติมหาเถรสมาคม” ครั้งที่ พิเศษ2/2563 มติที่ พิเศษ2/2563 (10 เมษายน 2563) เรื่อง “ให้วัดทุกวัดงดจัดกิจกรรมทุกประเภท” ซึ่งมุ่งหมายในการป้องกันพระภิกษุ สามเณร และประชาชน ให้ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรค จึงเห็นควรให้วัดทุกวัดทั่วราชอาณาจักรและวัดไทยในต่างประเทศงดจัดกิจกรรมที่ประชาชนมารวมกลุ่มกันทุกประเภท ยกเว้น “การปฏิบัติกิจของสงฆ์” โดยให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความ ในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ประกาศ ณ วันที่ 25 มีนาคม 2563 และแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุขเพื่อการจัดการภาวะระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2563 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจะเข้าสู่ภาวะปกติ
@ ปัญหาก็คือ “มหาเถรสมาคม” จะมีมติใหม่ออกมาเพื่อผ่อนปรนให้วัดสามารถจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาภายในวัดได้อย่างเป็นระบบ มีแนวทางปฏิบัติในระยะต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเชื่ออย่างยิ่งว่าท่านเจ้าอาวาสและคณะสงฆ์ในวัดจะร่วมกันใช้วิจารณญาณในการกำหนดวิถีปฏิบัติที่เหมาะสมกับ New Normal ในขณะนี้ได้
@ ขณะนี้ก็เห็นมีวัดหลายวัด ได้เชิญชวนญาติโยมกลับมาปฏิบัติกิจทางพระพุทธศาสนาภายในวัดกันบ้างแล้ว ซึ่งก็อาศัยความรู้ความสามารถของท่านเจ้าอาวาสและคณะสงฆ์ในวัด ช่วยกันพิจารณา เพื่อจัดกิจกรรมตามแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันโรค COVID-19 ของกระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัด เช่น การจัดสถานที่โดยคำนึงถึงการเว้นระยะห่าง การให้มีการคัดกรองโดยการตรวจวัดอุณหภูมิผู้เข้าร่วมกิจกรรม ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย มีจุดล้างมือด้วยแอลกอฮอล์หรือสบู่ เป็นต้น
@ เช้าวันนี้ (30 พฤษภาคม 2563) ติดตามชม Facebook live รายการ “สนทนาธรรมกับหลวงตาเอก” โดยหลวงตาเอก แห่งวัดพระบรมธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร นอกจากการอธิบายหัวข้อธรรมตามปกติแล้ว ท้ายรายการหลวงตาเอกได้เชิญชวนญาติโยมร่วมกิจกรรม “ธรรมจักรซันเดย์” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่พระสงฆ์และญาติโยมในจังหวัดกำแพงเพชรร่วมกันจัดเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ โดยจะมีการสวดมนต์ “ธรรมจักกัปปวัตนสูตร” ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปี โดยกำหนดมาตรการป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ตามแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
@ เชื่อและได้รับทราบมาพอสมควร ว่า มีวัดอีกจำนวนไม่น้อย ก็ได้ขวนขวายจัดการในลักษณะเดียวกัน
@ ได้รับทราบข่าวนี้ สร้างความปราบปลื้มชื่นชมยินดี ที่กิจกรรม”ธรรมจักรซันเดย์” ได้กลับมาอีกครั้งอย่างเป็น “New Normal” ก็ขอร่วมอนุโมทนาบุญกับหลวงตาเอก มา ณ โอกาสนี้ด้วย และเชื่อว่าการดำเนินการของวัดพระบรมธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร จะเป็นแบบอย่างให้วัดต่าง ๆ ทั่วประเทศได้เรียนรู้ และพิจารณาปรับ “กิจกรรมทาง(พระพุทธ)ศาสนา” ให้เหมาะสมกับยุคสมัย ภายใต้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ “COVID-19” ที่เป็น “New Normal” โดยไม่ต้องรอ “มติมหาเถรสมาคม” ซึ่งไม่รู้ว่า “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ – พศ.” จะเสนอให้ออกเมื่อใด จะทันการผ่อนปรนระยะที่ 4 ในกลางเดือนมิถุนายนนี้หรือไม่ ก็ไม่สามารถรู้ได้
@ หรือสุดท้ายก็ไม่มี “มติ” ใด ๆ จึงอาจส่งผลให้ “กิจกรรมทาง(พระพุทธ)ศาสนา” เป็นกิจการที่ดู “คลุมเครือ” – เสี่ยงน้อย ??? เสี่ยงปานกลาง-สูง ??? หรือ เสี่ยงสูง ???
Leave a Reply