พระพรหมบัณฑิตแนะศิลปะสร้างสุข วิธีแก้เซ็ง เบื่อ เอียน

วันที่ 9 ธ.ค.2561 เพจ คติธรรม วาทะธรรมพระพรหมบัณฑิต ได้โพสต์ข้อความว่าด้วยเรื่อง ศิลปะแห่งการสร้างความสุขในความเซ็ง

ความว่า ในชีวิตประจำวัน คนเรามักหลีกหนีความเซ็ง
ไปไม่พ้น ความเซ็ง เกิดขึ้นง่ายพ่อ ๆ
กับการเป็นหวัด คัดจมูก ในฤดูฝน
คนที่เซ็งไม่ใช่ คนเป็นโรคจิต
การบำบัดรักษาจากจิตแพทย์ จึงไม่จำเป็น
แต่เราจะปล่อยให้เซ็งอยู่นาน ๆ ก็ไม่ได้
เพราะความเซ็งมีส่วนลดทอนความสุข
ของชีวิต และมักจะทำลายบรรยากาศ
ที่แสน จะโรแมนติก ของบางคน
ทำอย่างไรความเซ็ง จึงจะถูกลบหายไป
จากหัวใจ ? นี่เป็นปัญหาที่นักปรัชญา ร่วมสมัยควรขบคิด.

คำว่า “เซ็ง” แม้จะเป็นศัพท์ที่เริ่มใช้ในวงการ
ภาษาแสลง แต่ก็ติดริมฝีกปากของคนไทยได้นาน
เพราะสะท้อนถึงความรู้สึกชนิดหนึ่งได้เหมาะสม
กระทัดรัด ความรู้สึกชนิดนั้นคือ “เซ็ง” ที่ใครได้ยิน
ก็เข้าใจซึ้ง โดยไม่ต้องอธบายขยายความ
เพราะคนเราต่างคุ้น กับความเซ็งของตัวเองอยู่แล้ว
ใครก็ตามที่ความเซ็งเข้าจับความรู้สึกใจของเขา
จะเริ่มมึนซึม ความกระฉับกระเฉงมีชีวิติชีวา
จางหายไป ความแจ่มใสเปลี่ยนเป็นซึมเซา
เช่นเดียวกับเงาดำปรากฏ เวลาดวงจันทร์เจ้า
กลีบเมฆ จากนั้นอารมณ์ชักหงุดหงิด
ส่งผลให้ใครทำอะไรก็กลายเป็นสิ่งไม่สบอารมณ์
รอยยิ้มหวานดูเป็นรอยยิ้มเยาะ และเสียงสดใสฟัง
เป็นเสียงกวนประสาท เหล่านี้เป็นลักษณะอาหาร
ทั่วไปของความเซ็ง

ความเซ็งนั้นมีความเข้มข้นและเจือจางต่างกันไป
นั่นก็คือเหตุผลว่า ทำไมบางคน เซ็งมากแต่บางคน
เซ็งน้อย ทั้งนี้ เพราะเหตุที่ก่อให้เกิดความเซ็ง
มีความหนักเบาต่างกัน เมื่อวิเคราะห์แยกแยะถึง
สาเหตุเหล่านั้น เราจะพบความเซ็ง ๓ ระดับ
คือ ความเซ็งธรรมดา ความเบื่อ และความเอียน
แต่ละระดับก็จัดเป็นความเซ็งทั้งนั้น

ระดับแรก คือ ความเซ็งชั่วขณะ
เพราะมีเวลาว่างมาก และไม่มีสิ่งถูกใจ
ให้จับทำ เวลาคนอยู่ว่าง เขามักจะคิดฟุ้งซ่าน
คิดหนักเข้าก็เกิดอาการเซ็งตัวเอง
บางทีเวลาว่างนั้นเกิดขึ้นโดยสถานการณ์บังคับ
เช่น ต้องรอรถเมล์ นานเป็นชั่วโมงสองชั่วโมง
เราจะหยิบอะไรขึ้นมาทำระหว่างรอก็ไม่ได้
ยิ่งรอก็ยิ่งเซ็ง บางคนไม่ได้พิศวาสกับการนั่งใต้
เพิงหมาแหงนกลางทุ่งสักหน่อย แต่ก็ต้องทนนั่งจับเจ่า
อยู่ที่นั่นนับเป็นชั่วโมง เพราะฝนเทลงมาอย่างกะฟ้ารั่ว
กลับบ้านก็ไม่ได้ ถ้าเราเจอสภาพนี้เข้าจะเซ็งขนาดไหน ?
หรือบางรายตกไปอยู่ต่างถิ่นต่างแดน พบแต่คนแปลกหน้า
ถ้าปรับตัวเข้ากับคนถิ่นนั้นไม่ได้ ก็มีแต่เซ็งกับเซ็ง
ซึ่งข้อนี้คนไทยในต่างประเทศรู้ดี สองสามวันแรก
ในต่างแดนผ่านไปอย่างเชื่องช้า ความไม่คุ้นเคย
กับสถานที่ และความไม่สันทัด ในภาษาต่างประเทศ
บังคับให้ต้องนอนเฝ้าบ้านเขา ใช้เวลาส่วนใหญ่
หมดไปกับการคิดถึงเมืองไทย และคนไทยที่แสนดี
ช่วงนี้เป็นระยะที่โรคคิดถึงบ้านออกฤทธิ์
นี่เป็นสภาพที่พูดได้คำเดียวว่า “เซ็งระเบิด”

ใครที่รำคาญตัวเอง หรือมีความเซ็งระดับแรกนี้
ก็ควรหาอะไรทำแก้เซ็ง ไม่ว่าจะเป็น การอ่านหนังสือ
ฟังวิทยุ ชมโทรทัศน์ หรือสนทนากับคนถูกคอ
การไม่ปล่อยตัวเองให้มีเวลาว่าง นอกจากจะแก้เซ็ง
แล้วยังกำจัดความวิตกกังวล และกิเลสอีกหลายประการ
คนเรายิ่งมีเวลาว่างมากก็ยิ่งคิดมาก
และตามปกติก็มักคิดถึงอารมณ์ที่เพิ่มพูนกิเลสของตัว
การจับอะไรขึ้นมาทำจึงช่วยลดกิเลสได้มาก
บางคนกล่าวไว้น่าฟังว่า

“งานเท่านั้นที่จะฆ่ากิเลสทั้งหลายให้ตายไปได้”

การทำงานจึงช่วยลดกิเลสและแก้เซ็งไปในตัว
บางท่านจึงกล่าวว่า “การทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม”
ชาวญี่ปุ่นเป็นชนชาติขยันขันแข็ง ผู้ไม่ยอมให้ตัวเอง
อยู่นิ่งเฉย เขาทำทุกอย่างที่จะนำผลประโยชน์มาให้
ตัวชาวญี่ปุ่นมีคติสอนใจว่า

“ล้มไปแล้วอย่าลุกขึ้นมามือเปล่า
อย่างน้อยให้มีหญ้าสักเส้นติดมือขึ้นมาก็ยังดี”

ดังนั้น ชาวญี่ปุ่นจึงทำงานสร้างชาติแข่งกับเวลา
เขาไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงไปอย่างไร้ประโยชน์
แม้ในขณะที่ยืนรอรถเมล์ ชาวญี่ปุ่นยังมีหนังสือติดมือ
มาเปิดออกอ่าน ในประเด็นนี้คนกรุงเทพ ฯ
สามารถเลียนแบบชาวญี่ปุ่นได้ คือ ผู้โดยสารรถเมล์
แต่ละคนควรถือหนังสือติดมือคนละเล่มสองเล่ม
พอจำเป็นต้องรอรถเมล์นาน ๆ หรือนั่งในรถที่ติดกัน
ยาวเหยียด ก็เปิดหนังสือตอนที่ขำขันออกอ่าน
แล้วหัวเราะคิกคักไปคนเดียว “นัยว่าแก้เซ็ง”

ความเซ็งเพราะไม่รู้จะทำอะไรนี้ ไม่ใช่จะให้โทษ
เสมอไป ความเซ็งอาจให้คุณก็ได้ถ้าเราใช้เป็น
นักศึกษาหลายคนประสบผลสำเร็จงดงามใน
การศึกษา ก็เพราะความเซ็ง นักศึกษาเหล่านี้
ขังตัวเองในห้องที่ไม่มีสิ่งเริงรมย์อื่นใด นอกเหนือ
ไปจากตำรา เมื่อรู้สึกเซ็งหนักเข้าพวกเขาจะ
อ่านตำราแก้เซ็ง ดังนั้น นักศึกษาผู้ไม่สามารถบังคับใจ
ให้จดจ่ออยู่กับตำราเรียน ควรทดลองขังตัวเองอยู่
กับตำราดูบ้าง ความจำเป็นเพราะออกไปไหนไม่ได้
จะบังคับให้เขาอ่านหนังสือแก้เซ็งได้
ถ้าไม่ชิงหลับปุ๋ยไปเสียก่อน นักศีกษาไทย
ในต่างประเทศ ก็อาจใช้ความเซ็งให้เป็นประโยชน์
ต่อการศึกษา การต้องจากบ้านเมืองไปอยู่ในต่างแดน
ที่มีแต่คนแปลกหน้า ทำให้เกิดความเซ็งอย่างมาก
วิธีแก้เซ็งที่ดีก็คือ ต้องตั้งใจเรียน
แต่ต้องระวังไม่ให้กลายเป็นเรียนรัก
ทั้งนี้เนื่องจากนิยายรักในต่างแดนเกิดขึ้นง่าย
เพราะหญิงและชายต่างก็มีความเซ็งในหัวใจ
เหมือนกัน ต่างฝ่ายจึงต่าง “ริรักแก้เซ็ง”

นักปราชญาชื่อว่า อริสโตเติล
ดูจะเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระว่างความเซ็ง
กับการเรียนรู้นี้ดี อริสโตเติ้ลได้รับเชิญจากพระเจ้าฟิลิป
แห่งนครรัฐมาชิโดเนีย ให้เป็นพระอาจารย์สอนหนังสือ
เจ้าชายอาเล็กซานเดอร์ เจ้าชายพระองค์นี้ต่อมาได้เป็น
อาเล็กซานเดอร์มหาราช ผู้พิชิตโลก เจ้าชายไม่ทรง
สนพระทัยในการศึกษา พระอาจารย์ก่อน ๆ ไม่สามารถ
สอนเจ้าชายได้เลย ดังนั้น หลังจากได้รับ
พระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าฟิลิปแล้ว
อริสโตเติลจึงจับเจ้าชายอาเล็กซานเดอร์ขัง
ในห้องนอน เจ้าชายร้องดิ้นรนเพื่อจะออกจากห้อง
แต่ก็ไม่มีใครเปิดประตู หลังจากสิ้นหวังว่า จะได้ออก
ไปข้างนอกแล้วจึงสำรวจไปรอบ ๆ ห้อง
และได้พบตัวอักษรกรีกที่อริสโตเติ้ลได้เขียนเตรียม
ไว้บนฝาผนัง ความเซ็งเพราะไม่มีอะไรจะทำ
เร่งเร้าให้เกิดความสนใจตัวหนังสือ
เจ้าชายค่อย ๆ ฝึกหัดเขียนตามทีละตัว ๆ
การศึกษาของเจ้าชายอเล็กซานเดอร์เริ่มขึ้นแล้วจาก
“ความเซ็ง” แม้ในกิจกรรมด้านอื่น ความเซ็งก็มี
ส่วนกระตุ้นให้เกิดผลงานเลอเลิศ เล่ากันว่า
“ดิกชันนารี่อังกฤษ – ไทย” ของ “ส.เศรษฐบุตร”
ถูกเขียนขึ้นในคุก เขาคงจะเขียนมันขึ้น
เพื่อผ่านช่วงเวลาที่แสนเซ็ง นี่เรียกว่า “เขียนแก้เซ็ง”

ความเซ็งระดับแรกนี้ยังน่ารัก
เพราะเราพอปรับใช้ประโยชน์ได้ดังกล่าว
แต่เราจะไม่พบส่วนดีในความเบื่อ ซึ่งเป็นความเซ็ง
ระดับที่สองเลย ความเบื่อเกิดมาจากสภาพจำเจ เช่น
ทำงานเดิมทุกวัน เรียนที่เดิมทุกวัน หรือพบคนหน้าเดิม
ทุกวัน เหล่านี้สร้างความเบื่อหน่ายและเซ็งอย่างร้ายกาจ
เพราะขัดกับสภาพในใจ ของเราที่ไม่ชอบความ
ซ้ำซากจำเจ ตามปกติใจของคนเราชอบสิ่งแปลกใหม่
สิ่งใดที่ได้เป็นกรรมสิทธิ์แล้ว ก็แล้วกันไป
เรามองข้ามของเก่าและสอดสายตา หาของใหม่ต่อไป
ด้วยอำนาจตัณหา ไม่มีใครฟังคำเตือนที่ว่า

“นกตัวเดียวในกำมือ ดีกว่านกสองตัวบนต้นไม้”
น้อยคนจะสนใจสิ่งใกล้มือ ส่วนมากมักพยายาม
ไขว่คว้าสิ่งไกลเกินเอื้อม สิ่งใดที่หามาได้โดยง่าย
สิ่งนั้นดูจะมีค่าน้อย ดอกฟ้าที่ยังเกี่ยวอยู่บนกิ่งฟ้า
จึงเป็นสุดที่รักสุดบูชา แต่วันใดที่ดอกฟ้าถูกเด็ด
ลงมาปักแจกัน นับตั้งแต่วันนั้นดอกฟ้าก็ลดค่า
ลงมาเทียมดอกหญ้า และภาวะจำเจนั่นเองอาจ
ก่อให้เกิดความเซ็งในอดีตดอกฟ้า บางคนพอ
รู้สึกเบื่อสิ่งใดก็อยากหนีสิ่งนั้น นั่นก็เป็นวิธีแก้เซ็ง
ที่ได้ผลชะงัด แต่ในทางปฏิบัติ เราทำได้ยาก
ถึงเราจะเบื่อแสนเบื่อกับงานที่ซ้ำซากจำเจ
เราก็ต้องทนทำเพื่อเงินเดือน หรือเพื่อเพิ่มพูน
ประสบการณ์ในงาน บางคนถึงจะเบื่อหน้าคนที่บ้าน
ก็ทิ้งเขาไปไม่ได้เพราะมีพันธะผูกพัน คือ ลูกตาดำ ๆ
เสียแล้ว บางท่านแม้จะเซ็งกับชีวิตนักบวชเพียงใด
ก็ต้องทนบวช เพราะเป็นถึงเจ้าฟ้าเจ้าคุณ
การที่เราต้องทนกับภาวะจำเจต่อไป
ก็เพราะมีภาวะจำยอม บีบบังคับเรา
ดังนั้น แม้จะเบื่อต่อสภาพจำเจเราก็ดิ้นไม่หลุด
ทุกคนมีหัวโขนประจำตัว ใครสวมหัวโขนไปแล้ว
ก็ถอดยาก และจะไม่เต้นไปตามบทบาทก็ไม่ได้
เหมือนอย่างเช็คสเปียร์กล่าวว่า

“โลกนี้คือโรงละครใหญ่ ชายหญิงไซร้คือตัวละครนั่น”

เมื่อหนีความจะเจไปไม่ได้ เราก็ไม่ควรทน
อยู่ด้วยความเบื่อ แต่ควรจะอยู่ด้วยไม่รู้สึกเบื่อหรือเซ็ง
วิธีการก็คือ ขั้นแรกเราปรับใจให้ยอมรับและ
พอใจกับสิ่งจำเจนั้น มองหาเสน่ห์ในความจืดชืด
คิดเสียว่า “เมื่อไม่มีสิ่งที่เราชอบ ก็ต้องชอบสิ่งที่เรามี”
จากนั้นจึงหาวิธีเพิ่มเสน่ห์ให้กับสิ่งที่เรามี
เช่น ถ้าเบื่องานประจำเราก็หาทางปรับปรุง
ขยับขยายงานนั้น เปิดแผนกใหม่ขึ้นมาบ้าง
ไม่ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม และที่สำคัญคือ
ไม่กลัวการเสี่ยง ยึดติดว่า

“ล้มแล้วก้าวไปข้างหน้า ดีกว่ายืนเต๊ะท่าอยู่กับที่”

หรือถ้าทำงานประจำจนเครียด ควรหางานอดิเรก
ทำสลับฉาก บางคนเขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก
จนกลายเป็นนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่
และบางท่านแม้จะมีงานประจำทำอยู่แล้ว
ก็ยังรับตำเหน่งรัฐมนตรีเป็นงานอดิเรก
เหตุนั้นการปรับปรุง กิจการภายในจึงเป็นวิธีแก้ความเบื่อ
ได้ดี คนเบื่อบ้านก็อาจตกแต่งห้องใหม่อย่างมีศีลป์
โยกย้ายฟอร์นิเจอร์เสียบ้างบ้านจะได้ดูน่าอยู่ขึ้น
หรือสำหรับผู้ที่เบื่อแฟน ก็อาจใช้วิธีเปลี่ยนบรรยากาศ
ชวนกันไปทานอาหารนอกบ้าน ไปตากอากาศด้วยกันบ้าง
หรือเซ็งหนักเข้าก็ชวนกันไปปิดทองลูกนิมิต
แล้วอธิษฐานว่า

“ชาติหน้าชาติไหน จงอย่าได้เจอะได้เจอกันอีกเลย”
จะได้สิ้นเรื่องสิ้นราวไปเลย

“ความเซ็งประการสุดท้าย” คือ
ความเซ็งระดับสุดยอดที่เรียกกันว่า “ความเอียน”
นั่นคือความเบื่อโลก หรือเอียนชีวิต ตรงกับคำว่า
นิพพิทาหรือความหน่ายโลก
ใครที่เอียนชีวิตจะมีความเซ็งชนิดถาวร
มองเห็นโลกไม่น่าอภิรมย์เอาเสียเลย
ถ้าไม่ออกบวชหรือฆ่าตัวตาย ก็มีชีวิตอย่างหมดชีวิตชีวา
ความเอียนชีวิตเกิดมาจากสาเหตุที่ว่า
เป้าหมายในชีวิตได้พังทะลายลงอย่างกระทันหัน

บางครั้งเป้าหมายหรืออุดมคติในชีวิต
ได้พังทะลายลงเพราะว่านิยมของเราเปลี่ยนแปลง
ไปเอง เป้าหมายที่เราเคยตั้งไว้กลายเป็นสิ่ง
ที่ไร้คุณค่า ตัวอย่างคือ เจ้าชายสิทธัตถะ
เคยมองตำแหน่ง จักรพรรดิว่าเป็นสิ่งชวนไขว่คว้า
ต่อมาเมื่อทรงพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของชีวิต
พระองค์ทรงมองไม่เห็นคุณค่า ของความเป็น
พระเจ้าจักรพรรดิอีกต่อไป เป้าหมายชีวตเดิม
ได้พังทะลายลง ความเอียนชีวิตได้ครอบงำ
พระทัยของพระองค์ ดังนั้น จึงทรงหาเป้าหมาย
ใหม่ให้กับชีวิต คือ “ทรงปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า”

เป้าหมายชีวิตของคนธรรมดา อาจถูกทำลายได้
เพราะเห็นระบบสังคมที่ฟอนเฟะ หรือผู้นำที่ไม่เอาไหน
ซึ่งทำให้คนอยู่ในสังคมอย่างหมดหวัง
บางคนจึงทำตัวเป็นฮิปปี้ ผู้สูบกัญชายาเสพติด
บางคนหมดศรัทธาในพ่อแม่ของตัวเอง
ก็หันเข้าหายาเสพติด เขามียาเสพติดไว้จุดประกาย
ชีวิตชีวาในหัวใจ ผู้หวังดีต่อเขาอาจให้การบำบัด
ทางกาย จนเขาพ้นอิทธิพลของยาเสพติด
แต่ใครจะรับประกันได้ว่าเขาไม่หวนกลับไปหามันอีก
เพราะนั่นเท่ากับฉุดเขาออกจากโลกฝันอันบรรเจิด
เมื่อเขาเลิกใช้ยาเสพติด แล้วชีวิตเขาอาจจะเซ็งมาก
จนเขาต้องกลับไปหายาเสพติดอีก
ดังนั้น เขาควรได้รับการบำบัดทางใจอย่างรีบด่วน
ด้วยการหาเป้าหมายเป็นหลัก ยึดในชีวิตของเขา

คนเอียนชีวิตอีกประเภทหนึ่ง คือ คนผิดหวังอย่างแรง
เพราะเป้าหมายชีวิต ถูกสาเหตุภายนอกทำลาย
เช่น นักเรียนผู้ทุ่มเทกับการเรียนอย่างมาก
แต่ก็สอบตกอย่างพลิกล็อค นักธุรกิจผู้ประสบกับ
สภาพล้มละลายอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว
นายกรัฐมนตรีถูกคณะปฏิวัติจี้ให้สละเก้าอี้
อย่างกระทันหัน คนเหล่านี้เป็นผู้ผิดหวัง
อย่างแรงจนเกือบหมดอาลัยตายอยากในชีวิต
มีสภาพเหมือนกับคนอกหัก คนผู้กำลังตกอยู่ในห้วงรัก
ย่อมวาดวิมานในอากาศเขาสู้ถากถาง
สร้างอนาคตรอใครคนหนึ่ง
หยาดเหงื่อแรงงานทุกหยดหยาดหลั่งแล้ว
เพื่อสร้างรังรักสำหรับใครคนนั้น

แต่แล้ววันที่ฝ้าไม่ปราณีก็มาถึง
เมื่อรังรักถูกฟ้าผ่าเพราะใครคนนั้นตีจากไป
เขาหยุดการสร้างตัวทันที ถ้ากำลังเรียนก็เลิกเรียน
ถ้ากำลังทำงานก็ทิ้งงาน เขาไม่รู้จะสร้างอนาคตต่อไป
ทำไมหรือเพื่อใคร เขาคงอยากหลับฝันถึงความหลัง
ครั้งก่อนเก่าดีกว่าลืมตาตื่นมาพบชีวิตจริงที่เลื่อนลอย
คนอกหักจึงมีทั้งอดีตอันขมขื่น และปัจจุบันที่สุดเซ็ง
ความเอียนไม่ว่าจะเป็นของคนประเภทใด
ล้วนเนื่องมาจากการพังทะลายของเป้าหมายในชีวิต

ถ้าเราประสบกับความเอียนเช่นนี้จะทำอย่างไร ?
ชีวิตอันหมดที่หมาย มีสภาพไม่ผิดกับว่าวหลุดจากสายป่าน
ดังนั้น ต้องประคองตัวให้ดีอย่าให้ความผิดหวัง
หรือความเอียนทำลายอนาคตหรือดับชีวิตของเรา

ปลอบตัวเองด้วยคำของโบวีที่ว่า

“แม้ทุกสิ่งทุกอย่างจะเสียไปแล้ว อนาคตก็ยังอยู่
และสถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายที่สุดอย่างที่เราคาดคิดในวันอารมณ์เสีย ทั้งสถานการณ์ก็ไม่ได้ดีที่สุดอย่าง
ที่เราคาดคิดในวันอารมณ์ดี”

จากนั้นจึงสร้างเป้าหมายใหม่ให้กับชีวิต
อย่างแช่มช้าแต่มั่นคง ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ว่า
เราไม่ปล่อยชีวิตให้ล่องลอยไปตามยถากรรม
เพราะถ้าขืนปล่อยไปเช่นนั้น สถานการณ์มีแต่
จะเลวร้ายลงเรื่อย ๆ เราต้องรีบสร้างเป้าหมายใหม่
ของชีวิต มาทดแทนสิ่งที่พังทะลายไป
เหมือนอย่างพระพุทธองค์ ทรงเลือกโพธิบัลลังค์
แทนราชบัลลังค์

ส่วนมากคนเราไม่กล้าเลือกแนวทางชีวิตใหม่
อย่างที่พระพุทธองค์ทรงกระทำ
เรากลัวว่าทางใหม่จะเลวร้ายกว่าทางเก่า
แล้วผิดหนักกว่าเก่า ความจริงนั้นเรามีเสรีภาพ
ในการตัดสินใจเลือก ฌองปอล ชาตร์ ยืนยันว่า

“มนุษย์ถูกสาปให้มีเสรีภาพ”

ดังนั้น เราต้องใช้เสรีภาพในการเลือกแนวทางใหม่
ของชีวิต แม้ภายหลังการณ์จะปรากฎว่า
เราเลือกทางผิด เราก็ไม่เสียใจ คนที่ลังเลไม่ยอมตัดสินใจ
เป็นคนน่าสงสาร เขากลัวความเอียนไม่รู้จบน้อยกว่า
ความรับผิดชอบจากการตัดสินใจ เขามีลักษณะ
เหมือนคนผู้หลงทางกลางป่า แต่ไม่กล้าเลือกเดินไป
ตามทางสายใดสายหนึ่ง เพราะกลัวจะไปพบทางตัน
คนชนิดนี้จะติดอยู่ในป่าจนตาย คนที่ขาดเป้าหมายใหม่
ให้กับตัวเอง ก็จะเซ็งจนตายเช่นกัน.

—————————–
พระเดชพระคุณพระพรหมบัณฑิต
ศาสตรจารย์ ดร. ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ป.ธ. 9
อัคคมหาสัทธัมมโชติกธชะ อัครมหาบัณฑิต

Leave a Reply