“งานไหว้ครูหลวงพ่อเปิ่น” หรือ “พระอุดมประชานาถ” อดีตเจ้าอาวาสวัดบางพระ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม จะจัดขึ้นในวันเสาร์เดือนกุมภาพันธ์ หรือเดือนมีนาคมของทุกปี เหตุผลหนึ่งที่ทำพิธีกันในวันเสาร์ บูรพาจารย์กล่าวไว้ว่า
“วันเสาร์เป็นวันที่แข็งที่สุด พิธีการอันใดที่วัดจัดขึ้นในวันนี้ จะมีกฤตยานุภาพเข้มแข็งมาก วันบูชาครูเป็นวันที่เสมือนหนึ่งเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีน้อมระลึกเคารพนับถือบุญคุณของบูรพาจารย์ ครูบาอาจารย์ คณาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ วิชาไสยเวท คาถาอาคม คัมภีร์ต่างๆ ให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตั้งมั่นกระทำแต่ความดี ”
วันบูชาครูเป็นวันที่เสมือนหนึ่งเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีน้อมระลึกเคารพนับถือบุญคุณของบูรพาจารย์ ครูบาอาจารย์ คณาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ วิชาไสยเวท คาถาอาคม คัมภีร์ต่างๆ ให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตั้งมั่นกระทำแต่ความดี โดยในปี ๒๕๖๒ นี้จัดไปแล้วเมื่อวันเสาร์ ๑๖ มีนาคม เวลา ๐๙.๓๙ น.
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีลูกศิษย์ของหลวงพ่อเปิ่นไปเปิดสำนักสักยันต์ทั่วทุกภูมิภาค เมื่อวัดบางพระจัดงานไหว้ครูตรงกับวันใดลูกศิษย์ในต่างจังหวัดก็จะจัดงานในวันเดียวกันด้วย
พิธีไหว้ครูหรือบูชาครูของหลวงพ่อเปิ่น เป็นพิธีของพระเกจิอาจารย์ที่บูชาบูรพาจารย์ บวงสรวงพรหม เทพยดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ กล่าวกันว่า ระหว่างที่องค์ ท่านบริกรรมพระคาถา วิปัสสนากรรมฐานระลึกถึงครูบาอาจารย์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ องค์ต่างๆ จะเข้าประทับหมุนเวียนกันไปนับเป็นจำนวนพันๆ ภาค อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นองค์พ่อแก่ฤาษี หรือบูรพาจารย์ พระอาจารย์ต่างๆ ตลอดจนเทพเทวดาเบื้องบน ก็มาร่วมพิธีให้เข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามในคืนก่อนวันไหว้ครู พระที่ทำหน้าที่สักยันต์ของวัด รวมทั้งลูกศิษย์ของหลวงพ่อเปิ่นที่ได้รับการครอบครูสักยันต์ ต้องนั่งสักยันต์ตั้งแต่เช้าวันศุกร์ บางรูปบางคนต้องนั่งสักยันต์ไปถึงรุ่งเช้าของวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันไหว้ครู โดยผู้ที่มาสักยันต์อยากได้ลายยันต์ไปเข้าพิธีในวันนี้
เมื่อถึงวันไหว้ครู ยิ่งใกล้เวลา ๐๙.๓๙ น. บริเวณลานโล่งด้านหน้ารูปหล่อหลวงพ่อเปิ่น ลูกศิษย์พากันนำพานดอกไม้มาบูชาครู ส่วนภายในวงสายสิญจน์ ผู้คนนั่งเบียดเสียดแออัดกันเต็มสนามรอบสายสิญจน์ที่ดูแคบไปถนัดใจ ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่น่าสนใจในวันไหว้ครู คือ ศิษย์คนใดสักยันต์รูปสัตว์ชนิดใดก็จะแสดงอาการของสัตว์ชนิดนั้นๆ ตลอดช่วงพิธีไหว้ครู ซึ่งเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจของผู้ที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อนเป็นอย่างยิ่ง โดยมีคติความเชื่อว่า “คนที่มีอาการของขึ้น” ส่วนใหญ่มักเกิดกับคนที่มีความเลื่อมใส จิตใจตั้งมั่นยึดมั่นในครูบาอาจารย์ อ่อนไหวง่าย
เมื่อหลับตาระลึกถึงครูบาอาจารย์ท่าน พวกที่สักอักขระที่เป็นรูปลักษณ์ต่างๆ เช่น ผู้ที่สักรูปเสือเผ่น ก็กางเล็บกระโดดโจนทะยานวิ่งเข้าหาหลวงพ่อหน้าปะรำพิธี ผู้ที่สักเป็นรูปหนุมานก็กระโดดโลดเต้นตีลังกาเข้าหา ส่วนสักหมูป่าก็แผดเสียงร้องก้อง วิ่งเข้าหาหลวงพ่อ ในขณะที่ผู้สักปลาไหล บนพื้นดินก็มีคนคลานเลื้อยเหมือนปลาไหล บางคนของขึ้น ก็ทำท่าทางยกมือเหมือนถือไม้เท้าเดินกระย่องกระแย่ง ลักษณะเหมือนฤาษี
ครั้นได้ฤกษ์ พิธีเริ่มขึ้นเวลา ๐๙.๓๙ น. พระครูอนุกูลพิศาลกิจ หรือ หลวงพ่อสำอาง เจ้าอาวาสวัดบางพระ ได้เดินผ่านหมู่ลูกศิษย์ที่พนมมือกราบไหว้ตลอดระยะทาง จนขึ้นสู่ปะรำพิธี หมู่ลูกศิษย์ที่อยู่ในวงสายสิญจน์บางคนก็เกิดอาการที่เรียกว่า “ของขึ้น” เมื่อแต่ละคนมีอาการของขึ้นก็จะวิ่งมาที่หน้าพิธีแต่ทางวัดได้เตรียมเจ้าหน้าที่ไว้คอยดูแลจำนวนมากและช่วยแก้พวกที่ของขึ้น
วิธีแก้ของขึ้นก็โดยการใช้ ๒ มือ ตบที่หูเบาๆ หรือใช้มือลูบหน้าตรงจมูก หรือยกขาให้สูงกว่าตัว การไม่ให้ของขึ้นจะเตือนสติให้หายใจลึกๆ ให้ลืมตาไม่ให้หลับตา ซึ่งบางคนไม่รู้สึกตัวว่าตัวเองทำอะไรไปบ้าง
หลังจากนั้นก็มีการปะพรมน้ำพระพุทธมนต์ โดยหลวงพ่อสำอางค์ และพระเกจิที่อยู่บนปรัมพิธีเป็นผู้ปะพรมโดยใช้ปั้มน้ำในการฉีดน้ำมนต์เนื่องจากมีคนจำนวนมาก เมื่อเริ่มพรมน้ำมนต์บรรดาลูกศิษย์ได้กรูกันเข้ามาที่หน้าพิธี ซึ่งหลายๆคนเมื่อโดนน้ำมนต์ก็มีอาการของขึ้นกันต่างส่งเสียงร้องคำรามจนลั่นวัด ซึ่งต้องใช้เวลากว่า ๑ ชั่วโมงในการประพรมน้ำมนต์ให้บรรดาลูกศิษย์จนหมด
หลังเสร็จสิ้น พิธีบูชาครู บูรพาจารย์สิ้นสุดลงแล้ว ลูกศิษย์บางคนก็เข้ามาขอเครื่องบายศรี ผลไม้ต่างๆ อาหารคาวหวานมากินเพื่อเป็นสิริมงคล เมื่อหลวงพ่อลงมาจากปะรำพิธีกลับมาที่กุฏิ เครื่องบูชาเซ่นสังเวยบนปะรำพิธีก็หายวับไปกับตาไม่มีอะไรเหลือ แม้แต่โอ่งน้ำมนต์ที่มีน้ำมนต์เต็มโอ่งก็แห้งขอด
งานบูชาครูก็เป็นอันจบสิ้นพิธี ท่ามกลางความยินดีปรีดาของเหล่าลูกศิษย์ที่อิ่มเอิบไปด้วยแรงบุญอันเป็นสิ่งที่เป็นมงคลสูงสุดที่เขาเหล่านั้นได้รับ เหลือไว้แต่ตำนานพิธีบูชาครูอันเข้มขลัง
พระอาจารย์อภิญญา คนุตฺตโม หรือ หลวงพี่ญา ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบางพระ บอกว่า อาการของขึ้นมากที่สุดน่าจะเป็นเสือเผ่น รองลงมาเป็นฤาษี (พ่อแก่) หนุมาน ลิงลม หมูทองแดง และปลาไหล ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีคนสักยันต์รูปเสือเผ่นมากกว่าสัตว์อื่นๆ ส่วนจำนวนลูกศิษย์ที่มาสักยันต์เพิ่มขึ้น หลวงพี่ญา บอกว่า มาจาก ๓ เหตุผล คือ
๑.คำเล่าขานของคนรุ่นก่อนๆ ๒.การคมนาคมที่สะดวกขึ้น และ ๓.การเสนอข่าวของสื่อมวลชน บางวันมีคนมาตั้งแต่ ๖ โมงเช้า สักยันต์ไปจนถึงมืดค่ำก็มี ถ้าเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ อาจจะเป็นร้อยคน “เหตุที่คนสักมากขึ้น เพราะสภาพสังคมขาดที่พึ่งทางใจ สักแล้วจะทำให้ชีวิตดีขึ้น คุ้มครองให้เกิดความปลอดภัย ส่วนอาการของขึ้น มีทั้งขึ้นจริงและขึ้นตามเพื่อน รายที่ขึ้นตามเพื่อน เพราะถ้าไม่ขึ้นอาจจะคิดไปเองว่าไม่ขลัง จึงต้องทำแกล้งบ้าง รายที่แกล้งขึ้นจะสังเกตได้ง่ายๆ คือ ขึ้นบ่อยครั้งมากเกินไป” หลวงพี่ญากล่าว
ทั้งนี้ หลวงพี่ญา พูดไว้อย่างน่าคิดว่า “ใครที่สักยันต์จากสำนักวัดบางพระ ใช่ว่าสักไปแล้วจะขลัง มีพุทธคุณเข้มขลังเสมอไป” ทั้งนี้ ต้องยึดหลักปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ ๑.ศีล ๕ อย่าให้ขาด โดยเฉพาะข้อ ๓ ห้ามผิดลูกเขาเมียเขา เที่ยวซ่องโสเภณี ใครผิดข้อนี้ข้อเดียว พุทธคุณของยันต์ไม่แสดงปาฏิหาริย์
นอกจากนี้แล้ว ยังมีข้อห้ามสำหรับคนสักยันต์อีก คือ ๑.ห้ามผิดลูกเมียเขา ๒.ห้ามด่าบุพการี ๓.ห้ามกินน้ำเต้า มะเฟือง และ ๔.ห้ามลอดไม้ค้ำกล้วย ตะพานหัวเดียว
สำหรับประวัติของ พระอุดมพระชานาถ หรือ หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ นามเดิม เปิ่น นามสกุล ภู่ระหงษ์ เกิดวันอาทิตย์ที่ ๑๒สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๖ เดือน ๙ ปีกุน กระทั่งวันที่ ๓๐ มิ.ย. ๒๕๔๕ เวลา ๑๐.๕๕ น. หลวงพ่อเปิ่น ได้ละสังขารด้วยอาการสงบที่โรงพยาบาลศิริราช รวมสิริอายุ ๗๙ ปี พรรษาที่ ๕๔ พรรษา.
#ไหว้ครูหลวงพ่อเปิ่น
#หลวงพ่อเปิ่นวัดบางพระ
#หลวงพ่อเปิ่น
#วัดบางพระ
#ของขึ้น
#เสือเผ่น
Leave a Reply