“วงใน” เผย “สมเด็จธงชัย” สั่งฟัน “อดีตพระเถระวัดสระเกศ” เจ้าคุณประสาร โดน “หางเลข”

เมื่อวานนี้ (20 เม.ย.64) ที่พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร มีการประชุมมหาเถรสมาคม โดยสมเด็จพระสังฆราชทรงลาการประชุม มอบหมายให้ “สมเด็จพระวันรัต” เป็นประธานการประชุม

ทั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอของสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรณี ของอดีตพระพรหมสิทธิ อดีตพระราชกิจจาภรณ์ อดีตพระราชอุปเสนาภรณ์  อดีตพระศรีคุณาภรณ์ และอดีตพระศรูสิริวิหาร ซึ่งทั้ง 5 รูป ได้ทำการครองผ้าไตรจีวรเมื่อเร็ว ๆ นี้ ต่อหน้าคณะสงฆ์วัดสระเกศ และทั้ง 5 รูป อยู่ในช่วงที่ศาลพิพากษาให้รอลงอาญากรณีเงินทอนวัด

และทั้งอดีตพระเถระทั้ง 5 รูป ได้ถูกดำเนินการให้พ้นจากสมณเพศ ตามมาตรา 30 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2535 ที่ระบุ เมื่อจะต้องจำคุก กักขัง หรือขังพระภิกษุรูปใดตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลมีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ และให้รายงานให้ศาลทราบถึงการสละสมณเพศนั้น

 แหล่งข่าว “วงใน” เปิดเผยว่า ที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้มีการถกกันอย่างกว้างขวาง มีกรรมการมหาเถรสมาคมบางรูปเสนอว่า ให้ฟังรอบด้าน มิใช่นำข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมาพิจารณาฝ่ายเดียว และเรื่องนี้ มันเป็นประเด็นระหว่าง พระธรรมวินัย และ กฎหมาย

 “สุดท้ายสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ท่านตัดบทว่า เมื่อเรื่องนี้เกิดขึ้นในหนกลาง ก็ควรมอบอำนาจให้เจ้าคณะใหญ่หนกลางคือ สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (สมเด็จธงชัย) ไปดำเนินการ เมื่อถึงเวลานั้นสมเด็จธงชัยก็ฟันธงเลยว่า ผิด ทุกรูปก็นิ่งเฉย ไม่รู้จะพูดอะไรต่อ เสียดายว่าเมื่อวานสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดไตรมิตร ท่านมิใด้เข้าร่วมประชุมด้วย เพราะหากร่วมประชุมอาจมีความคิดเห็นเสนอแนะทางออกที่ดีกว่านี้ได้..”  แหล่งข่าววงในระบุ

เมื่อวานนี้ “พระเมธีธรรมาจารย์” หรือเจ้าคุณประสาร ก็โดนหางเลขไปด้วยเนื่องจากไปตั้งคำถามเชิงวิจารณ์รัฐบาลเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 กรณีไปตั้งคำถามว่า “ประเทศไทยเรายังมีรัฐบาลอยู่ไหม” โดยมอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติประสานพระสังฆาธิการทำความเข้าใจกับเจ้าคุณประสารต่อไป

 ทางด้าน อาจารย์สุระพงษ์ สีหมอก      ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยกรณีนี้ว่า

กรณีเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แถลง ว่าพระสงฆ์ที่ถูกคุมขังได้ขาดจากความเป็นพระภิกษุไปแล้ว ตามผลของกฎหมายมาตรา 29 และมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๒พ.ศ. 2535  นั่น

ในทางกฎหมายแล้วมหาเถรสมาคมจะมีอำนาจเพื่อออกมติของมหาเถรสมาคมให้อดีตพระพรหมดิลก อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา หรือพระรูปใด รูปหนึ่ง พ้นจากความเป็นพระภิกษุ โดยไม่ผ่านกระบวนการตามนิคหกรรมที่กฎหมายกำหนดไว้ได้หรือไม่ เพราะการจะลงนิคหกรรม ให้พ้นจากความเป็นพระภิกษุได้ ต้องดำเนินการตามมาตรา 24 และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ประกอบกับ กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2521 ว่าด้วยการลงนิคหกรรม ที่เสมือนเป็นศาลสงฆ์มีชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ และชั้นฎีกา เพื่อให้องค์คณะพระวินัยธร เป็นผู้พิจารณาไต่สวนมูลฟ้อง และพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม คือ พิพากษาตัดสินพระภิกษุที่ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และลงโทษตามพระธรรมวินัย

“ดังนั้นถ้าปรากฎว่ามีการออกมติมหาเถรสมาคมตามที่เป็นข่าวจริง จะถือว่ามหาเถรสมาคมและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ เพราะเป็นการดำเนินการข้ามขั้นตอนของกฎหมาย เมื่ออดีตพระพรหมดิลก ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาไต่สวนมูลฟ้อง และพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรม ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2521 เพื่อให้คณะสงฆ์ดำเนินการตามขั้นตอนของพระธรรมวินัยตามเจตนารมณ์ที่ได้บันทึกหลักการไว้ในชั้นกรรมาธิการในขณะยกร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แต่ก็ตัดสินประหารชีวิต…”

กรณีอดีตพระเถระหลายรูปที่กลับมาครองจีวรกำลังกลายปม “ขัดแย้ง” อย่างขนานใหญ่ในวงการคณะสงฆ์และสังคมชาวพุทธ เนื่องจากเรื่องนี้หลายฝ่ายมองว่า มหาเถรสมาคม ควรออกมาปกป้อง “พระธรรมวินัย” มากกว่าใช้กฎหมายของ “บ้านเมือง” ฝ่ายเดียว

 ในขณะที่อีกหลายคนก็มองว่า สิ่งที่มหาเถรสมาคม ดำเนินการอยู่นัั้น ชอบด้วยกฎหมาย แล้ว เพราะประเทศไทยปกครองด้วยกฎหมาย มิใช่ พระธรรมวินัย..

ขอบคุณภาพ..สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

 

 

 

 

Leave a Reply