นิกายมหาเย็น : ทายาทคณะธรรมยุต.??

“เปรียญสิบ” รู้จักคำว่า “นิกายมหาเย็น” ของมอญ เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง โดยผ่านการดูรายการ “ประวัติศาสตร์นอกตำรา” ของคุณอดิศักดิ์ ศรีสม  หลังจากดูแล้ว จึงสนใจแบบไม่ได้ลึกซึ้งอะไรมากนัก รู้แต่ว่า พระมหาเย็น หรือ พระไตรสรณธัช (เย็น พุทฺธวํโส)” เป็นคนไทยเชื้อสายมอญ จากจังหวัดสมุทรสาคร บวชวัดบวรนิเวศ ได้เปรียญ 5 ประโยค  ตอนหลังถูกส่งตัวไปเผยแพร่รูปแบบปฎิบัติของ “คณะธรรมยุต” ที่รัฐมอญ ประเทศเมียนมา มีการจัดตั้งโรงพิมพ์ภาษามอญภายใต้การสนับสนุนของคณะสงฆ์ธรรมยุตมอญ และชนชั้นสูง  มีการตั้งโรงเรียนพระปริยัติสามัญ ชื่อ “สุนทรปัญญาลัย”  เพื่อเป็นสาขาให้กับมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร) ด้วย อยู่จนคณะธรรมยุตเป็นปึกแผ่นแล้ว จึงกลับมาเป็น เจ้าอาวาสวัดบวรมงคลราชวรวิหาร (วัดลิงขบ) แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร

“เปรียญสิบ” เคยพาคณะสงฆ์มอญและชาวพุทธจากรัฐมอญ ประเทศเมียนมา เข้าเฝ้า “สมเด็จพระสังฆราช”อองค์ปัจจุบัน พระองค์ทรงเล่าด้วยภาษามอญว่า  เคยไปรัฐมอญประมาณปี 2493 เดินทางโดยรถไฟไปเยี่ยมเยียนคณะสงฆ์มหาเย็น ในรัฐมอญ และหลังจากนั้นก็ไปต่อเนื่องหลายครั้ง ยุคก่อน ๆ คณะสงฆ์ธรรมยุตกับคณะสงฆ์มหาเย็นหรือรามัญธรรมยุตในรัฐมอญ เขาไปมาหาสู่กันเป็นประจำทุกปี

ในขณะที่ประเทศไทย ในคณะสงฆ์ธรรมยุตเองก็มี “รามัญธรรมยุต” แฝงอยู่ ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 30 กว่าวัด อยู่แถวปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาครและลพบุรี แต่ไม่ได้รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น ความสัมพันธ์ระหว่างคณะธรรมยุตประเทศไทยกับคณะสงฆ์รามัญธรรมยุต จากรัฐมอญ  ก็ขาดการเชื่อมต่อ เนื่องจากคณะธรรมยุตรุ่นหลัง  ๆ ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างสบาย ไม่ค่อยคิดเรื่อง “ความสัมพันธ์” ไม่คิด “ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน”  เหมือนรุ่นครูบาอาจารย์

“เปรียญสิบ” เคยได้ยินพระสงฆ์มหาเย็น พูดกันว่า สมัยก่อนเวลาคณะสงฆ์มหาเย็นมาประเทศไทยจะเข้าพบ “เจ้าคุณสนิท”  พระธรรมเมธาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดจันทร์กะพ้อ จ.ปทุมธานี หรือไม่ก็ “เจ้าคุณโนรี” พระเทพกิตติเมธี อดีตเจ้าอาวาสวัดอาษาสงคราม จ.สมุทรปราการ เพื่อพักวัดท่านบ้าง ปรึกษาหารือการศาสนากันบ้าง

“เปรียญสิบ” หลังจากดูรายการประวัติศาสตร์นอกตำราแล้ว จึงพยายาม “รื้อฟื้น” ความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์ธรรมยุตทั้ง 2 ประเทศ พยายามเชื่อมไปที่ “มมร” บ้าง “มจร” บ้าง สุดท้ายปีนี้โชคดีคือ “สภา มจร” อนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ให้กับคณะสงฆ์มอญ 2 รูป คือ รองประธานคณะสงฆ์มหาเย็น และ รองประธานคณะสงฆ์รามัญนิกาย พร้อมมอบเข็มเกียรติคุณให้กับฆราวาสอีก 1 ท่าน  ซึ่งจะเดินทางมายังประเทศไทยคณะใหญ่ร่วม 80 ชีวิต ระหว่างวันที่ 8-14 ธันวาคม 2566 นี้ ทราบว่าหลังจากรับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แล้วคณะมหาเย็น จะพักอยู่วัดราษฎร์ศรัทธากะยาม (วัดมอญ) อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ของ “พระรามัญมุนี” เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร ฝ่ายธรรมยุต

“เปรียญสิบ” ปรึกษากับคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายบ้าง ธรรมยุตบ้าง ที่คุ้นเคยกัน ทำนอง ในฐานะเป็นคนมอญในประเทศไทย นึกถึงสภาพตอนที่ “มหาเย็น” ท่านเดินทางไปรัฐมอญในยุคสมัย ร.5 คงยากลำบากน่าดู รถก็ไม่มี เกวียนก็ไม่รู้ว่ามีหรือเปล่า คงผ่านไปทางด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี กว่าจะบรรลุเป้าหมายคือตั้ง “นิกายมหาเย็น” หรือ “รามัญธรรมยุต” ได้ นอกจากลำบากในการเดินทางแล้ว คงเจอกระแสต่อต้านทั้งจากทหารพม่า พระมอญในท้องถิ่นชุดใหญ่  ไย!! เราไม่แสดงความ “กตัญญูกตเวที” รำลึกถึงความดีท่านด้วยการทำ “พิพิธภัณฑ์มหาเย็น” พร้อมกับทำหุ่นขี้ผึ้งเหมือนรูป “มหาเย็น” สักองค์ จัดนิทรรศการเขียนประวัติ เก็บอัฐบริขารไว้ให้เป็นที่เป็นทางแล้วไปตั้งไว้ในกุฎิที่ท่านจำวัดอยู่หลังแรกที่เดินทางไปจากประเทศไทยเพื่อให้คณะสงฆ์และประชาชนได้กราบไว้สักการะ อันนี้คือ “แนวคิด” เพราะเงินไม่มีหรอก!!

แต่ก็รอจากผู้มีจิตศรัทธาทั้งจากคณะสงฆ์และประชาชนทั่วไป ที่มีจิตคิดอยากทำแบบนี้เหมือนกัน ซึ่งหากทำก็จะทำในนาม “มูลนิธิรามัญรักษ์”

อันนี้เขียนแบบเล่าสู่กันฟัง ด้านหนึ่ง เพื่อให้คณะสงฆ์และชาวพุทธให้รู้ว่ามีเรื่องแบบนี้  สอง ก็เพื่อบอกให้รู้ว่าในวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2566 นี้จะมีคณะสงฆ์ “มหาเย็น” มารับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จาก มจร โดยมี “สมเด็จพระสังฆราช” เป็นผู้ประทานให้  และสาม ก็คือ “เปรียญสิบ” แม้บวชเรียนอยู่กับมหานิกาย เพิ่งรู้จักนิกายมหาเย็นไม่นาน แต่อยากทำพิพิธภัณฑ์พร้อมรูปเหมือนมหาเย็น เพื่อไปตั้งไว้ ณ กุฎิที่ท่านเคยจำวัดครั้งแรก ณ เมืองเมาะละแหม่ง รัฐมอญ ประเทศเมียนมา พร้อมกับเชิญชวนเผือเจอคนมีกุศลจิตเหมือนกัน

“เปรียญสิบ” ทุกครั้งเวลาไปกราบพระธาตุชะเวดากอง พระเจ้าโอกกกลาปะ ปฐมกษัตริย์มอญผู้สร้างเจดีย์พระธาตุชะเวดากอง ซุ้มพระนางมิจาวุ ซุ้มพระธรรมเจดีย์ หรือแม้กระทั้งตรงลาน “ชัยชนะ” ที่คนไทยนิยมไปนั่งขอพร กล้าพูดว่า ไม่เคยขออะไรเพื่อให้ตัวเองมีความสุขหรือสำเร็จอะไรมากมาย  ทุกครั้งจะอธิษฐานว่า ในฐานะลูกหลานมอญ หากข้าพเจ้าคิดดี ทำดี ทุกเรื่องที่ข้าพเจ้าทำเพื่อส่วนรวมของมอญ ขอ ให้สำเร็จทุกครั้งเทอญ

การสร้างพิพิธภัณฑ์ให้กับ “มหาเย็น” ถือว่าเป็นเครื่องพิสูจน์..และก็หวังว่าจะสำเร็จ!!

 

Leave a Reply