เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2564 นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า จากวานนี้ (20 เม.ย.) ได้มีการประชุมมหาเถรสมาคม ซึ่งมีเรื่องประเด็นร้อนในสังคมเกี่ยวกับพุทธศาสนามากมาย ตนขอชื่นชมการทำงานของสำนักพระพุทธศาสนาที่ทำงานอย่างรวดเร็วและแก้ปัญหาถูกจุดไม่ว่าจะเป็นกรณี อดีตพระตัดคอตนเองด้วยเครื่องกิโยติน , ปู่พุทธะเทพสุริยะจักรวาล และโดยเฉพาะที่กระทบกับวงการสงฆ์มากที่สุดก็เห็นจะเป็น “อดีตพระเถระคดีเงินทอนวัด 5 รูป” ของวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ที่อธิษฐานครองผ้าไตรจีวรรับเข้าหมู่สงฆ์กลับมาห่มจีวรใหม่ สำนักพุทธฯ ก็เสนอเรื่องให้กับมหาเถรสมาคมเพื่อพิจารณาได้อย่างรวดเร็ว ตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะให้คณะสงฆ์โดยมหาเถระสมาคมเป็นผู้ตัดสินว่าควรจะดำเนินการอย่างไร ในเบื้องต้นทราบมาว่า มหาเถรสมาคมได้มอบให้เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ซึ่งท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถจะนำเรื่องนี้ไปพิจารณาและนำกลับมานำเสนอกับมหาเถรสมาคมอีกครั้ง
นายเพชรวรรต ยังกล่าวต่ออีกว่า เรื่องอดีตพระเถระคดีเงินทอนวัด 5 รูป ทางคณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งวานนี้ นายสุชาติ อุสาหะ ประธาน กมธ. ด้วยช่วงนี้มีเหตุการณ์โควิด-19 ก็ได้โทรศัพท์หารือกันในระหว่างคณะ กมธ. ด้วยกัน โดยมีความเห็นว่าจะต้องเร่งคลี่คลายปัญหาเหล่านี้ด้วยข้อมูลซึ่ง กมธ.ได้สรุปเป็นรูปเล่มแล้ว ทั้งนี้เพื่อข้อมูลที่สมบูรณ์และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย กมธ.มีความเห็นว่าจะสัมภาษณ์อดีตพระเถระคดีเงินทอนวัด 5 รูปและผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยเพิ่มเติม เพื่อนำยื่นต่อนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับสำนักพุทธศาสนา
สำหรับการวินิจฉัยของ กมธ. ในฐานะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ผ่านมาได้ร่างกฎหมายมาหลายฉบับและมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายในคณะ ประกอบกับเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้มีความเห็นของ อ.จำนง ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต,ปธ.9 ท่านเป็นปราชญ์ของไทย ได้ให้ความเห็นในแง่ข้อกฎหมายซึ่งตรงกับทาง กมธ. คือ พระสงฆ์ที่ต้องฝากขัง ต้องสละสมณะเพศ ถือว่า “ไม่ได้สึก” เพราะตามหลักพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ในมาตรา 26-28 ได้ตราไว้ชัดเจนเกี่ยวกับผลของคำว่า “สึก” ส่วนมาตรา 29-30 กล่าวถึงการ “สละสมณะเพศ” ก็แปลว่าการเอาจีวรออกก่อนที่จะฝากขังเพื่อให้ความเคารพต่อจีวรที่เป็นของสูง ไม่ได้แปลว่า สึก หรือ ลาสิขาแต่อย่างใด ตนอยากแสดงให้เห็นให้ชัดว่า หากตำรวจหรือทหารต้องเข้าห้องขังก็ต้องสวมชุดห้องขัง หากออกมาแล้วไม่ผิดก็สามารถสวมชุดตำรวจหรือทหารดังเดิมได้ ดังนั้นผู้เขียนกฎหมายที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติได้เขียนไว้ชัดเจน เกี่ยวกับการ “สึก” กับการ “สละสมณะเพศ” ที่มีความต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นขอให้คณะสงฆ์สบายใจว่าหากใครอ้างว่า เมื่อต้องนำไปฝากขังแล้วแปลว่า “สึก” นั้นไม่เป็นความจริง เพราะการจะพ้นจากความเป็นพระในทางพระพุทธศาสนา จะทำได้สองกรณีคือ 1.ปาราชิก 2.ผู้บวชประกาศตนว่าลาสิกขาแล้ว
“สำหรับประเด็นอาจเข้าข่ายความผิดประมวลกฎหมายอาญาตามมาตรา 208 ของอดีตพระเถระทั้ง 5 รูป ที่ทำพิธีกลับมาห่มจีวรนั้น ที่ผ่านมาในอดีต พระสงฆ์กับฆราวาส อยู่ด้วยกันอย่างกลมเกลียว ตนโตมาก็เพิ่งจะเห็นโยมฟ้องพระแล้วเกิดเป็นคดีวุ่นวายในสังคมทำให้พุทธศาสนาเสื่อมเสีย ในอดีตหากพระมีความผิดก็จะมีผู้ใหญ่เข้ามาไกล่เกลี่ย แล้วดำเนินเรื่องให้จบไปอย่างรวดเร็ว เราอย่าลืมว่า พุทธศาสนาเป็น 1 ใน 3 เสาหลักของประเทศ เป็น 1 ใน 3 ของสถาบันที่ค้ำยันกันอยู่ หากเสาใดเสาหนึ่งเสียหายก็จะกระทบกับเสาอื่นๆ เรื่องนี้ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต่างทราบดีและควรเข้ามาช่วยกันประคอง ตนยังมองต่อไปอีกว่าหากมีคนฟ้องอดีตพระเถระ ด้วยมาตรา 208 จริง แต่มาภายหลังปรากฏว่ายังเป็นพระสงฆ์อยู่ ตนไม่รู้ว่าผู้ฟ้องจะผิดตาม มาตรา 137 หรือไม่ โดยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ระบุว่า “ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” หากพระสงฆ์มาฟ้องโยมอีก ตนคงไม่รู้ว่าแผ่นดินไทยยังคงเป็นแผ่นดินไทยตามอดีตพระมหาบูรพกษัตริย์ไทยวางมาเป็นอย่างดีหรือไม่” นายเพชรวรรต กล่าว
Leave a Reply