เมื่อหนังไทยเรื่องไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2 ถูกห้ามฉายเพราะมีฉากพระร้องไห้ กลายเป็นเรื่องที่ถูกนำมาถกกันอย่างกว้างขวาง ผู้ที่อธิบายแนวคิดเกี่ยวกับอาการโศกเศร้าตามหลักพระพุทธศาสนาที่น่าสนใจที่สุด น่าจะเป็นคุณสมคิด แสงจันทร์ ในบทความเรื่อง “พุทธเจ้าในฐานะที่เป็นนักต่อต้านการปิดกั้นความทุกข์” ซึ่งลงในวารสารออนไลน์ TCIJ
คุณสมคิดชี้ให้เห็นว่า ในพระสูตรมีเรื่องพระภิกษุร้องไห้อยู่มาก ที่เด่นๆ ก็คือการร่ำไห้ของพระอานนท์ ซึ่งเป็นพหูสูต เพราะได้ฟังพุทธดำรัสมากกว่าใคร และการร้องไห้ด้วยทุกขเวทนาแสนสาหัสของใครอีกหลายคน กลับนำเขาไปสู่ความหลุดพ้น เพราะง่ายที่พระพุทธเจ้าจะทรงชี้ให้เห็นทุกขอริยสัจ
สรุปก็คือ อาการโศกเศร้าเป็นเรื่องปรกติธรรมดาของคนทั่วไปที่ยังไม่บรรลุธรรมขั้นสูงรวมทั้งพระภิกษุด้วย พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ “สำรวม” อารมณ์ความรู้สึกนี้เหมือนการแสดง แต่สอนให้พยายาม “กำหนดรู้” ความทุกข์ (ก่อนหรือหลังร้องไห้แสดงปริเทวนาการด้วยอาการต่างๆ แล้วก็ได้) จนสามารถมองเห็นอย่างปรุโปร่งว่าความยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งที่ไม่จิรังยั่งยืนต่างๆ นั่นต่างหากคือสาเหตุของความโศกเศร้าเสียใจต่างๆ ถึงตอนนั้นก็จะไม่โศกเศร้าถึงขั้นร้องไห้อีกต่อไป เกิดการ “สำรวม” ที่มาจากจิตใจที่รู้ทันความทุกข์ ไม่ใช่การแสดงตามบทที่ถูกกำหนดขึ้นด้วยผ้าเหลือง
แต่จะหวังให้กองเซ็นเซอร์มีความเข้าใจพุทธธรรมเท่าคุณสมคิดย่อมเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งกองเซ็นเซอร์เป็นหน่วยงานของรัฐ ย่อมมองพุทธศาสนาจากสายตาของรัฐ คือเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์เด่นหรือหน้าตาของรัฐ จึงอยากเสนอหน้าตาส่วนนี้ของรัฐที่ดูงาม เหมือนการแต่งหน้าก่อนออกฉาก
ไม่แต่เพียงบุคลากรทางศาสนาเท่านั้นที่ต้องดูงาม แม้แต่ตัวศาสนาพุทธเองก็ต้องดูงามหมดจดไปด้วย เพราะล้วนเป็นหน้าตาของรัฐทั้งนั้น พุทธศาสนาในสายตาของรัฐไทยจึงเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงหรือนาฏกรรมแห่งชาติ เมื่อไรที่ “ขึ้นเวที” เมื่อนั้นต้องสวย แต่เมื่อลงจากเวทีหรือในความเป็นจริง จะมีลักษณะไม่งดงามอย่างไรก็ไม่เป็นปัญหานัก
พระใบ้หวย, ทำพิธีไสยศาสตร์ และพุทธพาณิชย์อื่นๆ, ทำผิดพระวินัยอย่างเปิดเผย (เช่น รับบาตรเกินกว่าจะใช้ได้หมดในหนึ่งวัน) ฯลฯ เป็นสิ่งที่รัฐรับรู้ตลอดมา แต่ตราบเท่าที่ไม่ปรากฏในหนัง โดยเฉพาะหนังสารคดีที่อาจฉายไปทั่วโลก หรือในสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะในภาษาอังกฤษ (ที่จริงในภาษาจีน, สเปน, ฝรั่งเศส ก็น่าจะเป็นปัญหาพอกัน แต่รัฐไทยไม่ค่อยได้ติดตามข้อมูลในภาษาเหล่านั้นมากเท่าในภาษาอังกฤษ) รัฐก็ยอมรับ เพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ขององค์กรศาสนาต้องแก้ไขเอาเอง
จึงดูแปลกดีที่พระร้องไห้ในหนังไม่ได้ แต่พระกินเหล้าและพนันบอลนอกจอได้ตามสบาย
ทั้งนี้ก็เพราะเราไม่ได้แยกรัฐและศาสนาออกจากกัน (ซึ่งก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดในประเทศเอเชียจำนวนไม่น้อย เพราะสำนึกชาตินิยมของเอเชียไม่ได้แยกขาดจากสำนึกทางศาสนา อันเป็นสำนึกที่สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของผู้คนมาก่อน “ชาติ”) ดังนั้น ศาสนาจึงถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างอำนาจของรัฐ ในสายตาของรัฐ หน้าที่ส่วนนี้ของศาสนามีความสำคัญยิ่งกว่าอื่นใด จึงต้องคอยสอดส่องให้ศาสนาทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดี
ส่วนในความเป็นจริงที่พระไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยนอกจอ ไม่ใช่ธุระโดยตรงของรัฐ
บนเวทีการแสดง พระคือผู้ชายที่ตั้งใจบวชเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและอบรมบ่มเพาะตนเองให้มีอุปนิสัยในทางธรรม แต่นอกเวทีหรือในชีวิตจริง ผู้ชายไทยบวชเป็นพระเพื่อแสวงหาทางเลือกของชีวิตหลายด้าน
ในสมัยโบราณ การบวชนำไปสู่การเลื่อนสถานะทางสังคม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าได้เลื่อนจากสามัญชนไปเป็นขุนนาง เพราะนั่นมีอยู่น้อยกรณีมาก แต่การบวชของชาวบ้านชาวเมืองทั่วไปก็มีส่วนในการเลื่อนสถานะเหมือนกัน เช่นที่ว่า บวชแล้วเป็น “คนสุก” ไม่เป็น “คนดิบ” อีกต่อไป ก็คือการเลื่อนสถานะทางสังคมอย่างหนึ่ง
ที่จริงการบวชและอยู่ในผ้าเหลืองคือการสร้างเครือข่ายทางสังคมแก่ตนเองอย่างหนึ่ง เช่น หากบวชพรรษาเดียวอย่างน้อยก็ได้เพื่อนนอกวงศาคณาญาติซึ่งบวชเป็นพระอยู่ร่วมวัดเดียวกัน หรือแม้แต่ต่างวัด เพราะวัดสมัยก่อนไม่มีโบสถ์ทุกวัด พระจึงต้องไปทำสังฆกรรมตามวาระ (เช่น ในวันปวารณา) ที่วัดใกล้ๆ ซึ่งมีโบสถ์ ก็ทำให้ได้รู้จักพระจากวัดอื่นด้วย
ยิ่งถ้าบวชนานขึ้น เช่น สามถึงห้าปี ก็จะรู้จักชาวบ้านที่มาทำบุญและมีความสัมพันธ์กันกว้างขวางมากขึ้น ฉะนั้น เมื่อสึกออกมาแล้ว ก็จะเป็นคนที่มีเครือข่ายความสัมพันธ์กว้างขวางกว่าคนไม่เคยบวช กลายเป็นคนซึ่งชาวบ้านสามารถพึ่งพาได้ เครือข่ายที่กว้างทำให้เจ้าเมืองอาจตั้งเป็นนายบ้าน หรือหลังจากสมัยที่เรามีระบบกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านใน ร.5 แล้ว ก็มักได้รับเลือกจากชาวบ้านให้ได้ดำรงตำแหน่ง
ที่ได้รับเลือกไม่ใช่เพราะคุณสมบัติด้านศีลธรรมอย่างที่มักอธิบายกันเพียงอย่างเดียว แต่ที่สำคัญกว่าน่าจะเป็นด้วยมีเครือข่ายแขนขาของตนมากกว่าคนอื่น จึงเป็นกำลังให้ชาวบ้านใช้เป็นตัวกลางระหว่างชุมชนของตนกับรัฐได้ดี พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือการบวชเป็นทางมาของ “อำนาจ” ทางสังคมอย่างหนึ่ง
บวชเพื่อเรียนรู้ทางศาสนาก็ใช่ แต่ไม่ใช่อย่างเดียว และอาจไม่ใช่อย่างที่สำคัญสุดของหลายคนด้วย ชีวิตจริงของมนุษย์ก็อย่างนี้แหละครับ คือไม่อาจแยกประโยชน์ทางโลกย์และประโยชน์ทางธรรมออกจากกันได้เด็ดขาดเหมือนการแสดง
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการบวชไม่ได้เป็นการเลื่อนสถานะทางสังคมอีกแล้ว ไปขอลูกสาวใครบางทียังไม่ถูกถามด้วยซ้ำว่าเคยบวชเรียนมาหรือยัง หากไม่นับการบวชหน้าไฟและบวชฉลองคุณมารดา-บิดาแล้ว คนส่วนใหญ่ก็ยังบวชเพื่อประโยชน์ทางธรรมและทางโลกย์อยู่นั่นเอง เพียงแต่ประโยชน์ทางโลกย์ที่อาจมุ่งหวังได้จากการบวชนั้นเปลี่ยนไป
องค์กรพระสงฆ์ไทยจะประสบความล้มเหลวอย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากก็คือการสร้างช่องทางการศึกษา (ทางโลกย์) ให้แก่คนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนจนซึ่งเข้าไม่ถึงการศึกษาที่รัฐจัดให้ และนับวันโอกาสทางการศึกษาที่องค์กรสงฆ์จัดการก็ยิ่งมีระดับที่สูงขึ้น และเปิดกว้างแก่คนจำนวนมากขึ้น เช่น มหาวิทยาลัยสงฆ์ซึ่งขยายสาขาไปในต่างจังหวัดหลายแห่ง ทำให้คนจนสามารถเข้าถึงการอุดมศึกษาได้มากขึ้น นอกจากนี้ผมเข้าใจว่าคุณภาพของการศึกษาก็สูงขึ้นด้วย
ฉะนั้น จำนวนหนึ่งของพระที่บวชเรียนในปัจจุบันคือการได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ซึ่งหากปราศจากสถาบันการศึกษาขององค์กรสงฆ์ ตั้งแต่ระดับเด็กขึ้นมาจนถึงอุดมศึกษาดังที่เป็นอยู่ ผู้ชายไทยอีกมากจะไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาเลย (ทำให้ยิ่งน่าคิดถึงอีกครึ่งหนึ่งของคนจนคือผู้หญิงด้วย)
อีกส่วนหนึ่งของพระในปัจจุบันที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ บวชเป็นการดำรงชีพ ทั้งนี้ มิได้หมายถึงเหล่ามิจฉาชีพที่ห่มเหลืองเพื่อทำทุจริตต่างๆ แต่มีพระอีกจำนวนไม่น้อยซึ่ง “บวชๆ ไปก่อน เพราะยังไม่รู้จะทำอะไร” ในแง่นี้การบวชจึงเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตตามปรกติของผู้คน และเป็นชีวิตทางโลกย์นี่แหละครับ ไม่ใช่ชีวิตทางธรรมอย่างในหนัง
กล่าวโดยสรุปก็คือ ไม่ว่าจะเป็นสมัยโบราณหรือปัจจุบัน คนไม่ได้บวชเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยเพียงอย่างเดียว และด้วยเหตุดังนั้น จึงยังมีพฤติกรรมเหมือนคนที่ใช้ชีวิตนอกวัดอีกหลายอย่าง ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดวินัยบัญญัติ เช่น ร้องไห้ปิ่มว่าจะขาดใจเมื่อสูญเสียคนรัก แน่นอนเป็นอาการที่ขาดสติ ซึ่งขัดกับอุดมคติของการใช้ชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนา แต่ความพากเพียรในการปฏิบัติธรรมเป็นเพียงส่วนเดียวของการบวชในความเป็นจริง ไม่ใช่ทั้งหมด
ข้าราชการและระบบราชการมีภาระหน้าที่ต้องปฏิบัติเพียงอย่างเดียว อย่างน้อยก็ในระหว่างเวลาราชการ จึงเคยชินที่จะมองเห็นพระต้องทำภาระหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวเหมือนราชการ ยิ่งเราไม่แยกศาสนาออกจากรัฐ การบริหารจัดการองค์กรทางศาสนาของเราจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการไปด้วย อันที่จริงจะมองพระเป็นข้าราชการของกระทรวงหนึ่งที่มีเครื่องแบบต่างจากข้าราชการกระทรวงทบวงกรมอื่นก็ได้
พระที่ล้มเหลวในการปฏิบัติภาระหน้าที่ของราชการ เช่นไม่รักษาสติให้รู้ทันการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก จึงเป็นภาพของความล้มเหลวในระบบของรัฐ กระเทือนไปถึงความน่าเชื่อถือต่อรัฐไปด้วย เป็นภาพที่ควรถูกเซ็นเซอร์ ไม่เผยแพร่แก่สาธารณชน
หลายทศวรรษมาแล้วที่มีผู้แสดงความวิตกห่วงใยว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดในโลกสมัยใหม่ พุทธศาสนาไทยไม่ปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อตัณหาใหม่, ทุกข์ใหม่, พญามารตัวใหม่ ฯลฯ ได้อย่างทันท่วงที จนทำให้พุทธศาสนาไทยไม่เป็นคำตอบแก่ชีวิตของผู้คนในยุคสมัยใหม่นี้อีกแล้ว นอกจากด้านพิธีกรรม
ส่วนหนึ่งของความเฉื่อยล้าของวงการพุทธศาสนาไทยน่าจะมาจากการที่ไม่ได้แยกศาสนาออกจากรัฐ และฐานะที่องค์กรศาสนากลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ
ในขณะที่ศาสนาต้องตอบปัญหาของบุคคลซึ่งเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ระบบราชการตอบสนองต่อปัญหาของรัฐ ซึ่งเป็นธรรมดาที่ต้องรักษาจังหวะก้าวของความเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปอย่างช้าๆ เพื่อไม่ให้ช่วงชั้นทางอำนาจพังทลายลง ศาสนาจึงไม่อาจปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเกินหน้ารัฐไปได้
ในทางตรงกันข้าม ถ้าศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ ศาสนาย่อมสำนึกในความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อตอบสนองต่อบุคคล โดยไม่ต้องเกรงว่าจะกระทบต่อรัฐ
/////////////////////////////
ขอบคุณภาพ/ข้อมูล : https://www.matichonweekly.com/
Leave a Reply