“พุทธะอิสระ”ออกโรงย้ำปลด 3 เจ้าคณะจังหวัด “ในหลวงไม่เกี่ยวข้อง”  ให้ช่วยกันค้นหา “ใครเป็นผู้เสนอปลด”

 วันที่ 10 ต.ค. 64 เมื่อวันที่ 8 ที่ผ่านมา นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือเดิมคือ  “พุทธะอิสระ”  วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ได้โพสต์เฟชบุ๊ค “หลวงปู่พุทธะอิสระ”  ตอบคำถามของ   Phuthipong Kongphaung: ที่ตั้งคำถามว่า

      “ตอนนี้ เขาไม่ได้ด่าแค่มหาเถรสมาคมหรอกครับ เขาด่าไปถึงในหลวง และสมเด็จพระสังฆราช เนื่องจากมีจดหมายเสนอความเห็น ตั้ง/ปลด ส่งไปยังในหลวง มันก็เลยทำให้คนมองว่า เหตุใด พระสังฆราชที่เป็นเสมือนผู้นำสูงสุดทางศาสนจักร ถึงยังต้องไปถามความเห็นพระเจ้าอยู่หัว ที่เป็นประมุขของรัฐทางโลกอีก แบบนี้เท่ากับ พระมหากษัตริย์ แทรกแซง ล้วงลูก หรือ พระสังฆราช ท่านได้ทำการไม่เหมาะสมหรือไม่ ประหนึ่งว่า เหมือนโยนเผือกร้อนให้พระมหากษัตริย์ร่วมรับผิดชอบด้วย..ตอนนี้มันก็เลยเป็นแบบนี้ ถ้าไม่รีบทำให้ชัดเจน ศรัทธาระหว่างทั้งศาสนาและพระมหากษัตริย์ จะพังลง ในหมู่ศาสนิก ที่รักความเป็นธรรม.”

 ขออนุญาตอธิบายความคุณผู้โพสต์ และผู้อ่านทั้งหลาย ให้ได้เข้าใจ

หากอะไรที่เราไม่รู้จริง ก็อย่าได้พูด อย่าได้โพสต์ส่งเดชไป ไม่เช่นนั้นจะตกเป็นเครื่องมือของขบวนการยุให้รำ ตำให้รั่ว ที่มันกำลังพยายามสร้างความแตกแยกอยู่ ดูตัวอย่าง 3 ป. สิ ขบวนการนี้ก็พยายามยุให้เขาแตกกัน ทั้งที่พวกเขารักใคร่ปองดองกันมายาวนาน

กรณีมหาเถรมีมติปลด 3 เจ้าคณะนี่ก็เช่นกัน มีขบวนการดึงเอาสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยที่ไม่พิจารณาถึงข้อเท็จจริง เพียงเพื่อต้องการทำลายความสัมพันธ์ของสถาบันกับคณะสงฆ์ โดยหยิบเอาบุคคลที่มีมลทินทั้ง 3ที่ถูกปลดมาเป็นหมาก  หากจะว่ากันจริงๆ แล้ว ผู้ที่ถูกปลดทั้ง 3ล้วนมีมลทินในด้านพระธรรมวินัย และด้านจริยพระสังฆาธิการ มาด้วยกันทั้งนั้น

เช่น  กรณี เจ้าคณะจังหวัดปทุม เป็นที่รู้จักกันว่า ชอบอุ้มพวกธรรมกายจนสุดลิ่มทิ่มประตู โดยไม่แยกแยะถูกผิด

กรณี เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ก็มีปัญหาตอนได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งกฎของมหาเถรสมาคมระบุไว้ว่า ต้องเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดมาก่อนไม่น้อยกว่า 2 ปี ซึ่งไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว เพราะไม่เคยปฎิบัติหน้าที่นี้มาก่อน และยังมีอธิกรณ์ การผิดจรรยาพระสังฆาธิการอย่างร้ายแรง แต่ทางมหาเถรสมาคมชุดเก่า มีคำสั่งแค่ตำหนิโทษเท่านั้น

กรณี  เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ ก็ออกมาปกป้องภิกษุเสพเมถุนรูปหนึ่ง จนเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาล เรื่องนี้เคยมีผู้หญิงคนหนึ่งนำหลักฐานมาให้ฉันดูด้วย ต่อมาภิกษุรูปดังกล่าวได้แจ้งความจับต่อผู้เสียหาย และบีบบังคับให้ผู้เสียหายไปขอขมา แล้วอ้างว่าจะยินยอมถอนแจ้งความเอาผิด

พอผู้เสียหายมาขอขมา ก็ทำการถ่ายภาพส่งให้เจ้าคณะจังหวัดที่ถูกปลดดู เจ้าคณะแทนที่จะเรียกผู้เสียหายและภิกษุผู้ถูกกล่าวหาสอบ กลับยุติเรื่องโดยมิได้มีการดำเนินการทางการปกครองใดๆ ตามที่ผู้เสียหายร้องเรียนเลย  ส่วนเรื่องคดีความเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นลูกศิษย์ของภิกษุผู้เสพเมถุน ก็ไม่ได้ยุติตามที่รับปากต่อผู้เสียหาย กลับดำเนินคดีต่อ ผลคือศาลอุทธรณ์ยกฟ้องบางข้อหา แต่ศาลฎีกายกฟ้องทั้งหมด

หากมหาเถรอธิบายความจริงดังกล่าวมานี้ให้สังคมรับรู้อย่างชัดเจน เรื่องมันก็จบ

แต่กลับเลือกที่จะเงียบ แถมคนในมหาเถรออกมาพูดว่าไม่รู้เรื่อง

นี่ก็ยิ่งเหมือนกับโยนเผือกร้อนไปให้สถาบัน ทั้งที่แท้จริงแล้วพระองค์ท่านไม่ได้เข้ามามีบทบาทใดๆ กับเรื่องการปกครองคณะสงฆ์เลย    สิ่งที่มหาเถรทำอยู่ เป็นอยู่ คือการปฏิเสธ นั้นก็เท่ากับการทำให้สังคมเข้าใจว่า เป็นการกระทำของเบื้องสูง ทั้งที่มันไม่เป็นจริงอย่างที่ทุกคนคิดเลย  ประเด็นที่ทุกคนควรจะค้นหา คือ

           – ใครเป็นผู้ตั้งเรื่องปลดนี้

          – ใครเป็นผู้ชงเรื่องให้มหาเถรพิจารณา

          – มหาเถรใช้หลักคิดอะไร จึงได้มีมติลงโทษ

         – การลงโทษผู้ใต้ปกครอง เป็นไปโดยชอบต่อหลักพระธรรมวินัยและหลักกฎหมายคณะสงฆ์หรือไม่

          – เมื่อสอบ ตรวจทานแล้ว ทำไมไม่แจ้งให้ศาสนจักรได้รับรู้ตามหลักพระธรรมวินัย

ย้ำ! เรื่องนี้ พระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงมาเกี่ยวข้องด้วยเลย อย่ามายุให้แตกแยก..

Leave a Reply