ปลดเจ้าคณะปทุมฯ สลายเกราะคุ้มภัย ‘ธรรมกาย’ อย่างเดียวหรือมี “นัยอื่น”

                 ปลดเจ้าคณะปทุมฯ สลายเกราะคุ้มภัย  ‘ธรรมกาย’  โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โฟกัสปลดพระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี หน้าด่านสำคัญที่คุ้มภัยวัดพระธรรมกาย ปลุกพระ-ศิษย์เดือดรวมตัวล่าแสนรายชื่อทวงความเป็นธรรม ฆราวาสสายหนุนวัดนี้ ทั้ง กรณ์ มีดี, อุทิส ศิริวรรณ, กรรมาธิการศาสนาซีกเพื่อไทย พร้อมใจออกโรงปกป้อง ท่ามกลางเสียงที่เคยหนุนในมหาเถรสมาคมที่เปลี่ยนไปจากเดิม นักวิชาการพุทธศาสนาชี้ฝ่ายปกครองต้องชัดเจนเรื่องธรรมกายถูกต้องตามพุทธบัญญัติหรือไม่

มติมหาเถรสมาคมเมื่อ 30 กันยายน 2564 แต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัด 30 จังหวัด พร้อมกันนี้สั่งปลดเจ้าคณะจังหวัด 3 จังหวัด (ธรรมยุต 1 มหานิกาย 2) ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ ฉะเชิงเทรา และปทุมธานี กลายเป็นชนวนปลุกให้เรื่องของสงฆ์กลับขึ้นมาอยู่ในความสนใจของคนทั้งประเทศอีกครั้ง หลังจากที่เคยเกิดกรณีกับวัดพระธรรมกาย และเรื่องเงินทอนวัด จนทำให้พระผู้ใหญ่ซึ่งเป็นกรรมการของมหาเถรสมาคมต้องหลุดออกจากตำแหน่งพร้อมกัน 3 รูป

แม้จะเป็นเรื่องใหญ่แต่ครั้งนั้นคณะสงฆ์ต่างเงียบสนิท เทียบกับครั้งนี้ที่เป็นเพียงแค่ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดเท่านั้น แต่กลับเป็นอาการของพระสงฆ์ภายใต้ปกครองของเจ้าคณะจังหวัดรวมตัวกันพร้อมด้วยลูกศิษย์ แสดงอาการไม่เห็นด้วยกับมติของมหาเถรสมาคม และขอให้ชี้แจงสาเหตุการปลดในครั้งนี้

กาฬสินธุ์ ถอดถอน พระเทพสารเมธี (บัวศรี ชุตินธโร) วัดประชานิยม จังหวัดกาฬสินธุ์ ออกจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธรรมยุต) แต่งตั้ง พระครูสุทธิญาณโสภณ (เล็ก สุทธิญาโณ) วัดป่านาขาม จังหวัดหนองคาย ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธรรมยุต)

ฉะเชิงเทรา ถอดถอน พระราชปริยัติสุนทร วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา (อมรภิรักษ์ ปสันโน) ออกจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่งตั้ง พระราชภาวนาพิธาน (ศิริวัฒน์ สิริวัฑฒโน) วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา

ปทุมธานี ถอดถอน พระธรรมรัตนาภรณ์ (สมศักดิ์ โชตินธโร) วัดเขียนเขต จังหวัดปทุมธานี ออกจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี แต่งตั้ง พระราชสุทธิธรรมาจารย์ (สำอาง ตานทินโน) วัดประยูธรรมราม จังหวัดปทุมธานี ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี

กาฬสินธุ์-ปทุมฯ เคลื่อนไหว

กาฬสินธุ์ถือว่ามีการเคลื่อนไหวเป็นลำดับแรกๆ กรณีนี้ถือเป็นเรื่องของสายธรรมยุต ที่ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องลักษณะนี้มากนัก แม้จะเคยเกิดขึ้นบ้างในบางกรณีตั้งเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี มีเสียงคัดค้านในระยะแรก สุดท้ายเรื่องก็เงียบไป แต่รอบนี้พระ และศิษย์จากกาฬสินธุ์ต่างเคลื่อนไหวล่ารายชื่อทวงหาสาเหตุของการสั่งปลด

สายมหานิกายอย่างที่ฉะเชิงเทรากับวัดใหญ่อย่างวัดโสธรวรารามวรวิหาร ยังไม่มีแรงกระเพื่อมในเรื่องนี้ เพราะทั้งพระที่ถูกถอดกับพระที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่อยู่วัดเดียวกัน และเคยมีเรื่องในลักษณะนี้มาก่อนหน้า ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ วัดโสธรฯ ถือว่าอยู่ในสายการบังคับบัญชาของวัดสระเกศ ที่มีเรื่องคดีเงินทอนวัด และช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาอดีตเจ้าอาวาสได้ทำพิธีครองผ้าเหลืองอีกครั้ง แต่ถูกมหาเถรสมาคมสั่งเบรก

แต่ที่หลายฝ่ายจับตามองมากเป็นพิเศษนั่นคือเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี คือ พระธรรมรัตนาภรณ์ (สมศักดิ์ โชตินธโร) วัดเขียนเขต เนื่องจากเป็นพระปกครองวัดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อย่างวัดพระธรรมกาย ที่เจ้าอาวาสอย่างพระธัมมชโย ถูกกล่าวหาเกี่ยวข้องกับการทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เมื่อปี 2559

คดีธรรมกายตัวช่วยเยอะ

วัดใหญ่มากบารมีอย่างวัดพระธรรมกายกับความเกี่ยวข้องกับคดีทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มีเงินจำนวนหนึ่งไหลเข้ามาที่วัดพระธรรมกาย ภาครัฐจึงดำเนินคดีกับพระธัมมชโย เจ้าอาวาสในขณะนั้นทั้งทางโลกและทางธรรม

แม้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในเวลานั้นจะส่งเรื่องเพื่อให้สึกพระธัมมชโย แต่เรื่องนี้ใช้เวลาเดินทางนานหลายเดือน เมื่อเรื่องของสงฆ์ควรเป็นเรื่องของสงฆ์จัดการกันเอง สุดท้ายคดีของวัดพระธรรมกาย จึงทำได้แค่ถอดสมณศักดิ์จากพระเทพญาณมหามุนี เหลือเพียงพระธัมมชโย และแต่งตั้งพระลูกวัดขึ้นทำหน้าที่เจ้าอาวาสรูปใหม่ขึ้นมาแทน

ปฏิบัติการยื้อจนพระธัมมชโยไม่ได้ขาดจากความเป็นสงฆ์ตามข้อเสนอของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ล้วนแล้วเป็นผลพวงจากสายสัมพันธ์ของพระผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคมชุดเดิม ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ช่วง) วัดปากน้ำ เคยเอ่ยปากความเป็นวัดพี่วัดน้องกับวัดพระธรรมกาย และเสียงส่วนใหญ่ในมหาเถรสมาคมในเวลานั้นอยู่ที่วัดปากน้ำ สายบังคับบัญชาตรงคือเจ้าคณะใหญ่หนกลาง สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์) วัดพิชยญาติการาม ส่วนเจ้าคณะภาค 1 ขณะนั้นพระมหาสายชล ที่ไม่กล้าหืออือกับพระผู้ใหญ่ และลำดับถัดไปคือ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี วัดเขียนเขต

ขั้วเก่าหลุดอำนาจ

แต่ในช่วงที่เกิดคดีความกับวัดพระธรรมกาย มีการแก้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์เปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง ผลคือกรรมการมหาเถรสมาคมในยุคก่อนไม่ได้กลับเข้ามาทำหน้าที่ในชุดปัจจุบัน และระหว่างนั้นมีคดีเงินทอนวัด กรรมการมหาเถรสมาคมชุดนั้นต้องหลุดออกจากตำแหน่งอีก 3 รูป ประกอบด้วย อดีตพระพรหมเมธี วัดสัมพันธวงศ์ อดีตพระพรหมสิทธิ วัดสระเกศ และอดีตพระพรหมดิลก วัดสามพระยา

เมื่อตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไม่ใช่สมเด็จช่วง ตามที่คณะสงฆ์เคยเรียกร้อง และท่านไม่ได้กลับเข้ามาในมหาเถรสมาคมอีก กรรมการอีก 3 รูปเดิมถูกดำเนินคดีพ้นจากตำแหน่ง เจ้าคณะใหญ่หนกลาง สมเด็จสมศักดิ์ ท่านมรณภาพ และได้สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย) วัดไตรมิตร รับตำแหน่งนี้แทน และได้พระเทพปริยัติมุนี (มีชัย) วัดหงส์รัตนาราม เป็นเจ้าคณะภาค 1 รูปใหม่แทนพระมหาสายชล วัดชนะสงคราม

แม้ว่าวัดพระธรรมกายผ่านพ้นเหตุการณ์ล้อมวัดมา 4 ปี แต่เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ไม่เปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาได้เลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้นจากพระเทพรัตนสุธี เป็นพระธรรมรัตนาภรณ์

หน้าด่านสุดท้ายหายไป

เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ถือเป็นพระปกครองสายตรงของวัดพระธรรมกาย พระในวัดพระธรรมกายมักให้เกียรติเจ้าคณะจังหวัดไปร่วมงานด้วยเสมอ และพร้อมสนับสนุนกิจกรรมของวัดเขียนเขตเสมอมา ทั้งความช่วยเหลือจากเหตุการณ์น้ำท่วมและสถานการณ์โควิด-19 สายสัมพันธ์จึงแนบแน่นกันมาโดยตลอด

หลังจากผ่านเหตุการณ์ปิดวัดหาพระธัมมชโย ทางวัดพระธรรมกายสามารถทำกิจกรรมงานบุญได้ตามปกติ เพียงแต่ลดงานบุญที่แหวกแนวลงไป บางครั้งแม้จะมีความพยายามในการจัดงานครบรอบวันเกิดให้พระธัมมชโยท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ฝืนคำสั่งทั้งรัฐและคณะสงฆ์ปกครอง แต่เรื่องก็ผ่านไปได้ด้วยเหตุผลว่าทางวัดทำเรื่องขออนุญาตต่อเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีแล้ว

ในทางสงฆ์นับได้ว่าพระผู้ใหญ่ที่เคยอุ้มชูวัดพระธรรมกายนั้น เสียงในมหาเถรสมาคมหายไปไม่น้อย ทั้งจากพระราชบัญญัติสงฆ์ที่แก้ไขใหม่ หลายท่านไม่ได้กลับเข้ามา บางท่านมรณภาพ อย่าง สมเด็จสมศักดิ์ อดีตเจ้าคณะใหญ่หนกลาง วัดพิชัยญาต และ พระวิสุทธิวงศาจารย์ (วิเชียร) วัดปากน้ำ อดีตเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ส่วนกรรมการมหาเถรสมาคมที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่หลายรูปไม่ได้อยู่ในสายของปากน้ำ ดังนั้น โครงสร้างใหม่ของมหาเถรสมาคมจึงไม่ใช่ทางสะดวกสำหรับวัดพระธรรมกายอีกต่อไป

ยิ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เท่าที่ทราบเจ้าคณะรูปใหม่ไม่ได้มาทางสายของธรรมกาย จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามว่าจากนี้ไปจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

เหมือนถูกประหาร

คำสั่งปลดเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เกิดจากความไม่ชัดเจนถึงสาเหตุในการปลด ส่งผลให้ลูกศิษย์และพระภายใต้สังกัดปทุมธานีรวมตัวกันเพื่อให้กำลังใจเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี และล่า 1 แสนรายชื่อเพื่อคัดค้านมติของมหาเถรสมาคม นับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักสำหรับวงการสงฆ์ไทย

ทั้งนี้ พระธรรมรัตนาภรณ์ ได้ออกมาแถลงข่าวหลังจากมีคำสั่งปลด “เรื่องถอดถอนกับปลด มันอันตรายมาก สำหรับพระเหมือนถูกตัดคอ เหมือนถูกตัดหัวประหารชีวิต”

เฉพาะที่ปทุมธานี สายธรรมกายโฟกัสไปที่เจ้าคณะใหญ่หนกลางเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นสมเด็จองค์ใหม่และดูแลพื้นที่ภาคกลางโดยตรง โดยมีข่าวว่าอดีตเจ้าคณะปทุมฯ มีการเข้าพบสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน) เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช แต่ไม่ได้เข้าพบเจ้าคณะใหญ่หนกลางซึ่งเป็นสายบังคับบัญชาโดยตรง

เรื่องธรรมกายต้องชัดเจน

แหล่งข่าวจากวงการพระพุทธศาสนา มองถึงกรณีที่เกิดขึ้นนี้ว่า ปัญหาคือ ฝ่ายปกครองทั้งจากคณะสงฆ์และฝ่ายบ้านเมืองมองเรื่องของธรรมกายอย่างไร เพราะที่ผ่านมา มีการปล่อยให้ความไม่ชัดเจนในเรื่องนี้เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ไม่มีพูดคุยการหารือเรื่องของธรรมกายอย่างจริงจังว่ามีในพุทธบัญญัติหรือไม่ อนุญาตให้ธรรมกายดำเนินกิจกรรมตามความเชื่อของทางวัดหรือไม่ ไม่มีหน่วยงานใดมาหาข้อสรุปเรื่องนี้อย่างจริงจัง ปล่อยให้เกิดการครอบงำพระผู้ใหญ่จนเกิดปัญหากับคณะสงฆ์มาจนถึงปัจจุบัน

สายการเมืองก็มองเฉพาะเรื่องของชัยชนะของการเลือกตั้ง ด้วยฐานลูกศิษย์ที่มีราว 10 ล้านคนในยุครุ่งเรือง กลายเป็นเกราะปกป้องวัดพระธรรมกายไปอีกทางหนึ่ง ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์กับเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี จึงไม่แปลกที่ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ลูกศิษย์ของวัดพระธรรมกาย จะเดือดร้อนจากคำสั่งปลดในครั้งนี้

หากเจ้าคณะรูปใหม่เดินไปในแนวทางเดียวกับเจ้าคณะรูปเดิมคงไม่เกิดปัญหา แต่ถ้าเดินคนละทางย่อมไม่เป็นผลดีกับวัดพระธรรมกาย

สายการเมืองพร้อมปกป้อง

หลังจากเกิดคดีกับพระธัมมชโย และวัดพระธรรมกาย บรรดาศิษย์วัดต่างออกมาปกป้องชัดเจนคือสายของพรรคเพื่อไทยที่มาทั้งในนามอดีต ส.ส.และแกนนำคนสำคัญ ส่วนลูกศิษย์หรือผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ใช้โอกาสนี้ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาลงสนามเลือกตั้ง 2562

ที่สำเร็จจนได้รับหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมี 1 พรรคประชาภิวัฒน์ ของ นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ส่วนพรรคแผ่นดินธรรม ที่มี นายกรณ์ มีดี เป็นหัวหน้าพรรค ไม่ได้รับการเลือกตั้ง

พรรคการเมืองอย่างเพื่อไทย แม้จะกวาดที่นั่งมาได้มากแต่ต้องอยู่ในสภาพฝ่ายค้าน แต่ยังคงมีน้ำหนักในทางการเมือง เนื่องจากกุมเสียงส่วนใหญ่ในกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เช่น นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานคณะกรรมาธิการศาสนาฯ นางพรเพ็ญ บุญศิริวัฒนกูล ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย รองประธานคนที่ 1 ซึ่งนามสกุลเดียวกับ พระถวัลย์ศักดิ์ ยติสักโก รองผู้อำนวยการสำนักทรัพยากร วัดพระธรรมกาย นางสมหญิง บัวบุตร ส.ส.อำนาจเจริญ

นอกจากนี้ ยังมี นางสาวลีลาวดี วัชโรบล อดีต ส.ส.และศิษย์วัดพระธรรมกาย พระเมธีธรรมาจารย์ (เจ้าคุณประสาร) ทนายความของพระธัมมชโย เข้ามาร่วมงานกับกรรมาธิการชุดนี้

หน้าที่ในการตั้งกระทู้ถามรัฐบาลถึงเหตุการณ์ต่างๆ ทางด้านพุทธศาสนาของพรรคเพื่อไทย หัวหอกคนสำคัญคือ นายนิยม เวชกามา จากสกลนคร ที่อดีตเคยช่วยเหลือเรื่องของธรรมกายกรณีที่หนองหาร

การปลดเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เสมือนเป็นการรวมตัวกันของศิษย์ธรรมกายและสายที่หนุนธรรมกายทั้งในนามของนักการเมือง นักวิชาการ หรือฆราวาสคนสำคัญ เช่น นายกรณ์ มีดี หัวหน้าพรรคพลังแผ่นดิน นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาอย่าง ดร.อุทิส ศิริวรรณ ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว

ใกล้เลือกตั้ง

จะเห็นได้ว่าการออกมาขับเคลื่อนในครั้งนี้ แม้การปลดตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดไม่ใช่ตำแหน่งใหญ่ในวงการสงฆ์ แต่มีมิติด้านอื่นประกอบด้วย ทั้งเรื่องความมั่นคงของวัดพระธรรมกาย และสถานการณ์ทางการเมือง

ที่หลายฝ่ายประเมินตรงกันว่าอีกไม่นานอาจมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ จากหลายเหตุการณ์รุมเร้า ทั้งม็อบ 3 นิ้ว การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อรายได้ของผู้คนที่หายไป บางรายตกงาน มีปัญหาหนี้สินตามมาอีกมาก แถมมาเจอน้ำท่วมในหลายจังหวัด ขณะที่เกิดปัญหาภายในของพรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนนำรัฐบาล

การรวมตัวกันเพื่อกดดันมหาเถรสมาคมถือเป็นการกดดันรัฐบาลไปในตัว หากการขับเคลื่อนในครั้งนี้จุดติด ขยายฐานออกไปได้มาก ย่อมเป็นผลดีกับฝ่ายการเมืองที่ยืนกันคนละฝั่งกับรัฐบาล..

เว็บไซต์ “Thebuddh” ขอวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า การปลดพระธรรมรัตนาภรณ์ นอกจากสิ่งที่ผู้จัดการออนไลน์วิเคราะห์แล้ว อาจเป็นไปได้ว่า “เจ้าคณะใหญ่หนกลาง” ต้องการตบหน้า “เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช” ในฐานะ “พระธรรมรัตนาภรณ์” เป็นพระสายมหานิกาย แต่ “ฝักใฝ่ธรรมยุต” เนื่องจากสนองงาน “สมเด็จชิน” เลขานุการสมเด็จพระสังฆราชมากกว่า “เจ้าคณะใหญ่หนกลาง”  ในฐานะผู้บังคับบัญชาซ้ำเป็นพระมหานิกายด้วยกัน

 มีกระแสข่าวว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์ปลดนี้  มีรองเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีรูปหนึ่ง ถูกเรียกเข้าพบเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจอคำพูดว่า “ในฐานะท่านเป็นคนบ้านเดียวกับผม” จะมอบตำแหน่ง “เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีให้ท่าน” สุดท้ายรองเจ้าคณะจังหวัดรูปดังกล่าว ตกอยู่ในสถานการณ์  “ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ” จึงปฎิเสธไป และทำให้กินไม่ได้นอนไม่กลับ ?? 

ศึกนี้จึงสรุปไม่ได้ว่ามาจาก “ธรรมกาย” อย่างเดียว??.. ซ้ำบางกระแสข่าวว่า มีการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดปทุมธานีผสมโรงอีกต่างหาก!!

Leave a Reply