“เจ้าคุณแจ๊ค” ชวน “ปลัดเก่ง” เยี่ยมศูนย์ศึกษาปฏิบัติธรรมเทพสถิต พร้อมพบปะเครือข่าย โคก หนอง นา จังหวัดชัยภูมิ

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2566 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตนได้ พบปะภาคีเครือข่ายโคก หนอง นา จังหวัดชัยภูมิ และประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์พระพุทธนาคปรกนิลกาฬเทพสถิต ที่ศูนย์ศึกษาปฏิบัติธรรมเทพสถิต ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ โดยได้รับเมตตาจาก พระญาณวชิรวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ประธานมูลนิธิพรหมเมศ ประธานศูนย์ปฏิบัติธรรมเทพสถิต ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหาธีราจารย์ พร้อมด้วยคณะสงฆ์ให้การต้อนรับ โดยมี นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นางบุษดี สุวรรณรัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดชัยภูมิ นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสมบัติ ไตรศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายปัญญา จินดาวงศ์ นายอำเภอเทพสถิต หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้นำท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (อช.) และสมาชิกเครือข่ายโคกหนองนาจังหวัดชัยภูมิ รวมกว่า 300 คน ร่วมในกิจกรรม

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ถวายเครื่องสักการะ พระญาณวชิรวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ประธานมูลนิธิพรหมเมศ ประธานศูนย์ปฏิบัติธรรมเทพสถิต ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหาธีราจารย์ แล้วกล่าวพบปะภาคีเครือข่ายโคก หนอง นา จังหวัดชัยภูมิ และมอบถุงพระราชทานให้แก่ประธานผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนทั้ง 16 อำเภอ พร้อมทั้งมอบสื่อการเรียนการสอนทีวี LED ขนาด 55 นิ้ว ให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านช่องสำราญ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ และวางศิลาฤกษ์พระพุทธนาคปรกนิลกาฬเทพสถิต พร้อมไถ่ชีวิตกระบือ จำนวน 9 ตัว แล้วเยี่ยมชมนิทรรศการและแปลงโคก หนอง นา ศูนย์ศึกษาปฏิบัติธรรมเทพสถิตฯ

พระญาณวชิรวงศ์ กล่าวสัมโมทนียกถา ความโดยสังเขปว่า ด้วยบารมีธรรมในเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ผู้อุปถัมภ์ศูนย์ศึกษาปฏิบัติธรรมเทพสถิตแห่งนี้ ขออนุโมทนาในกุศลธรรมและความมุ่งมั่นตั้งใจในการประกอบกิจกรรมอันชอบ ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริอันเป็นพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นแน่วแน่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริทั้งปวงแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จงถึงพร้อมแด่ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนท่านโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ผู้บริหารจังหวัดชัยภูมิ ท่านนายอำเภอเทพสถิต ข้าราชการ ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน และภาคีเครือข่ายโคกหนองนาจังหวัดชัยภูมิ ทุกคน

“หากย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน อาตมภาพมีแนวคิดจะพัฒนาพื้นที่ศูนย์ศึกษาปฏิบัติธรรมเทพสถิตแห่งนี้ ให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ซึ่งได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอด โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการทำโคก หนอง นา เพื่อเสริมสร้างทักษะ องค์ความรู้ “หลักการพึ่งพาตนเอง” ให้กับประชาชน จึงได้หารือกับท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และได้รับคำแนะนำว่า ให้เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” ซึ่งสามารถทำได้ทันที กระทั่งในวันที่ 2 ตุลาคม 2565 ท่านโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ได้เดินทางมา ณ พื้นที่ศูนย์ศึกษาปฏิบัติธรรมเทพสถิตฯ แห่งนี้ จนกระทั่งโคก หนอง นา เกิดขึ้นได้ โดยใช้พื้นที่ส่วนหนึ่ง จำนวน 5 ไร่ ซึ่งพบว่า ผลผลิตของแปลงโคก หนอง นา กินไม่หมด ใช้ไม่หมด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราได้ คือ “การเป็นแหล่งเรียนรู้” ที่ได้ใช้อบรมเป็นประจำ ทั้งเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ครัวไทยครัวโลก ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชนและกรมการปกครอง และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งในวันนี้เราทุกคนได้มาพบกับผู้ริเริ่มแนะนำและเป็นกำลังสำคัญจนทำให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการเพิ่มพูนพัฒนาจนกลายเป็นความเจริญงอกงามทุกวันนี้” พระญาณวชิรวงศ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง และ Happy Family Happy Farmer อันเป็นหลักชัยในการน้อมนำพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยนำหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา มาใช้ให้สมบูรณ์ ด้วยเพราะพระองค์ท่านทรงห่วงใยพวกเราผู้เป็นปวงพสกนิกรชาวไทยของพระองค์ เช่น การออกแบบพื้นที่ที่กำหนดเป็นแหล่งน้ำให้มีลักษณะคล้ายคลึงแหล่งน้ำธรรมชาติมากที่สุด

ทั้งนี้  เพื่อให้สัตว์น้ำมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม เป็นแหล่งอาหาร แหล่งหลบภัย และทำให้เกิดทัศนศิลป์ที่ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกที่สุนทรีย์ และป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกป่า 3 อย่าง คือ ป่าไม้ใช้สอย ได้แก่ ไม้โตเร็วสำหรับใช้ในครัวเรือน ป่าไม้กินได้ คือ ไม้ผล และป่าไม้เศรษฐกิจ คือ ไม้ที่ปลูกไว้ขาย และได้ประโยชน์อย่างที่ 4 คือ ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ

“เวลาปลูกต้นไม้ให้กด ๆ หน้าดินลึกสักครึ่งเมตรหรือ 1 เมตร แล้วอย่าเพิ่งเอาดินไปกองไว้ที่พื้น ให้แยกไว้ก่อน ที่เหลือให้นำมาถมทำเป็นคัน ทำเป็นโคก แล้วค่อยเอาหน้าดินไปวางไว้ด้านบน ซึ่งเราเรียกว่า TOP Soil คืนชีวิตให้กับดินด้วยการเลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช ใช้พืชมาเลี้ยงดิน โดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิได้ประสานกรมพัฒนาที่ดินเพื่อนำเมล็ดปอเทืองมาให้พี่น้องภาคีเครือข่ายได้ขับเคลื่อน เพราะหลักการของปอเทืองเมื่อออกดอกต้องไถกลบเลย ควบคู่กับการปลูกพืชเลื้อย ฟักทอง บวบ ซึ่งตระกูลนี้มีรากผิวดิน และใบใหญ่คลุมดินให้ดินร่มเย็น ซึ่งจะทำให้สภาพพื้นดินมีอุณหภูมิเหมาะสมที่ฮิวมัส ไส้เดือน จุลินทรีย์ต่าง ๆ อยู่อาศัย ทั้งนี้ สำหรับไม้ยืนต้นบนโคกบนดอนปลูกได้ไม่ต้องเว้นระยะ ปลูกให้ถี่ เพราะจะทำให้ต้นโตเร็ว สูงชะลูด และทำให้เรามีพันธุ์กล้าไม้สามารถใช้เพาะชำได้ และขอฝากพวกเราทุกคน ผู้มีความรู้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ด้วยการน้อมนำเอาแนวหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่มีลักษณะคล้ายกับโคก หนอง นา คือ 30 30 30 10 และเราก็มาใช้ทฤษฎีเลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช อธรรมปราบอธรรม การนำพลังงานแสงอาทิตย์ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน การบริหารจัดการน้ำด้วยการทำฝายน้ำล้น ทำหลุมขนมครก การใช้หญ้าแฝกปลูกเพื่อไม่ให้หน้าดินพังทลาย เป็นต้น” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

 ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องสำคัญที่สุด คือ เราต้องทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จในการไปพัฒนาพื้นที่ของตัวเองก่อน เปรียบประดุจเรากำลังเสาะแสวงหามรรคผลของการหลุดพ้นของการสิ้นทุกข์สิ้นโศกเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เฉกเช่นที่พระพุทธเจ้าทรงหาองค์ความรู้ในการตัดกิเลส ตอนนี้เรามีองค์ความรู้ในการทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่ง

เราต้องทำตัวเราให้เป็นครัวเรือนต้นแบบ ทำให้สมบูรณ์ ทำให้ดี ทำในพื้นที่เรา และไปเอาแรงเอามื้อสามัคคีกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน และสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอยากให้เกิดขึ้นมากที่สุด คือ พระองค์ทรงอยากเห็นพวกเรามีความสุข ดัง Happy Family Happy Farmer และพระองค์ทรงอยากเห็นคนไทยช่วยทำให้คนอื่น ๆ มีความสุขด้วย จึงพระราชทานโครงการจิตอาสาพระราชทาน เพื่อให้เกิดการทำประโยชน์ให้ส่วนรวมไม่ใช่ส่วนตัว ช่วยทำให้ส่วนรวมซึ่งมีนัยหมายถึงคนอื่น ๆ ในสังคมด้วย ได้ลดความเดือดร้อน หมดความเดือดร้อน และมีความสุขเพิ่มพูนขึ้น และขอให้ทุกคนในฐานะคนที่ใฝ่ดี ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากด้วยการเป็นจิตอาสา เพื่อทำให้สังคมไทยมีความสุขอย่างยั่งยืน

Leave a Reply