“กำลังใจคือสิ่งสำคัญ”  ปลัด มท. ลงพื้นที่ จ.นครสวรรค์ เยี่ยมเยียนให้กำลังใจผู้ติดยาเสพติด ย้ำ กำลังใจคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เลิกยาเสพติดได้อย่างเด็ดขาด

วันที่  21 เม.ย. 2566  เวลา 14.00 น. อาคารอเนกประสงค์ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไร่ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการช่วยเหลือผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดของศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมจังหวัดนครสวรรค์ สาขาอำเภอลาดยาว ประจำปี 2566 พร้อมทั้งเยี่ยมชมนิทรรศการตามโครงการนครสวรรค์ สุขใจ และโครงการครอบครัวมหาดไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และนายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมลงพื้นที่ ซึ่งได้รับความเมตตาจาก พระศรีสุทธิพงศ์ เจ้าคณะอำเภอลาดยาว เจ้าอาวาสวัดศรีสุธรรมาราม และพระครูนิติสุตากร ผู้ช่วยเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ เจ้าอาวาสวัดหนองกระดูกเนื้อ ร่วมพบปะและนำเสนอการบูรณาการภาคีเครือข่ายภาคผู้นำศาสนาร่วมแก้ปัญหา โอกาสนี้ นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ นางสาวชุติพร สีชัง นายจุมพฎ วรรณฉัตรสิริ นางพรเพชร เขมวิรัตน์ นางชุมพิชญ์ เดชะรัฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ นายสุวัฒน์ จันทร์สุข ปลัดจังหวัดนครสวรรค์ ผู้แทนผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอทุกอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วเเน่ที่จะทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งในวันนี้จังหวัดนครสวรรค์ได้มีกิจกรรมฝึกอบรมของศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมจังหวัดนครสวรรค์ ประจำปี 2566 เป็นรุ่นที่ 2 อันเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สนองพระบรมราโชบาย “แก้ไขในสิ่งผิด” โดยนำผู้ป่วยยาเสพติดมาเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาเเละฟื้นฟูสภาพทางสังคมเพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข เป็นการคืนคนดีสู่สังคม ซึ่งเมื่อตนทราบว่ามีการฝึกอบรม 15 วัน และวันนี้เป็นวันที่ 2 จึงตั้งใจเดินทางมาเยี่ยมเยียนเเละมาให้กำลังใจผู้เข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคมทุกคน และขอให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกคนได้ร่วมเป็นกำลังใจมอบให้กับผู้ที่อยู่ระหว่างการบำบัด รักษา และฟื้นฟูทั่วประเทศ ให้มีกำลังกาย กำลังใจที่เข้มแข็ง กลับไปใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนในสังคมด้วยความสุขที่ยั่งยืนต่อไป

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ใช้กลไกในระดับพื้นที่ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อาทิ เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ป.ป.ส. บุคลากรทางการศึกษา และทางด้านสาธารณสุข รวมถึงทุกภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะภาคีเครือข่ายภาคผู้นำศาสนา เพราะหัวใจที่สำคัญของการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน คือ การมีกำลังจิตกำลังใจที่ดีเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันที่เเข็งเเกร่งไม่ให้กลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก” ปลัด มท. กล่าวในช่วงต้น

“ภายหลังจากเหตุการณ์กราดยิงที่ จ.หนองบัวลำภู ทำให้ภาครัฐและสังคมได้ตระหนักถึงผลกระทบของยาเสพติดที่มีต่อระบบประสาทของผู้เสพที่อาจส่งผลให้เกิดการกระทำที่รุนเเรงทางสังคม และกำหนดเจตจำนงร่วมกันว่าต้องป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีกอย่างเด็ดขาด ดังนั้น กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองจึงได้สั่งการให้นายอำเภอเร่งสำรวจ Re X-ray ผู้ค้า เเละผู้เสพ พร้อมออกเเบบระบบการป้องกันเเละแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างครบวงจร เพื่อให้ผู้ที่เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายเเละกระบวนการบำบัดรักษา เลิกยุ่งกับยาเสพติดอย่างเด็ดขาด โดยพบว่ามีตัวเลขผู้ป่วยยาเสพติด จำนวน 120,000 คน พร้อมทั้งได้รับการอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลในการดำเนินการฝึกอบรมบำบัด รักษา และฟื้นฟู โดยระบบสมัครใจ ทั้งนึ้ เมื่อเปิดรับสมัคร กลับมีผู้ยื่นขอเข้ารับการบำบัดในภาพรวม ทั้งสิ้น 150,000 คน จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นนัยที่สำคัญว่า ผู้ป่วยมีความตั้งใจที่จะเลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด รวมถึงคนสำคัญ คือ ครอบครัว ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้การเเก้ไขปัญหายาเสพติดบรรลุผล คือ “กำลังใจ” เพราะแน่นอนว่าคนเราทุกคนอยากที่จะเป็นคนดีเเละได้รับการยอมรับ บางครั้งอาจมีหลงผิดกันบ้าง เราทุกคนในฐานะเป็นส่วนหนึ่งในสังคม ไม่ว่าจะเป็น เพื่อน ญาติมิตร คนในครอบครัว นายจ้าง หรือไม่ได้เกี่ยวข้อง เราต้องร่วมด้วยช่วยกันให้กำลังใจ เปิดโอกาสให้คนดีที่หลงผิดได้กลับตัว กลับใจ กลับเป็นคนดี คืนสู่สังคม และเป็นกำลังสำคัญของประเทศที่จะเป็นเกราะกำบัง เป็นภูมิคุ้มกันให้สังคมของเราไม่มีที่ยืนสำหรับยาเสพติดอีกต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลาทั้ง 15 วัน ผู้ที่เข้ารับการบำบัดรักษา และฟื้นฟูสภาพทางสังคม จะได้รับการบำบัดรักษาความต้องการเสพยาเสพติดตามที่เเพทย์กำหนดอย่างใกล้ชิด พร้อมกับมีการบรรยายจากวิทยากรและบุคคลสำคัญในพื้นที่ อาทิ พระ ผู้นำทางศาสนา ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ท้องที่ และท้องถิ่น ซึ่งต่างมีความตั้งใจที่จะมาให้กำลังใจ และสร้างความเข้มเเข็งของสัจจะที่จะเลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดภายในจิตใจ ให้สามารถตัดขาดได้ นอกจากนี้ ยังมีการเรียนรู้วิธีการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง ซึ่งเป็นพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้รู้จัก วิถีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง ซึ่งจะต้องทำขั้นพื้นฐานให้ได้ คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ เเละพอร่มเย็น พร้อมกับรักษาความสะอาดภายในบ้านเรือน ชุมชน รู้จักคัดเเยกขยะ และจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อพึ่งพาตนเองให้ได้ เเละต่อยอดยกระดับผ่านเครือข่ายกลุ่มอาชีพที่สนใจต่อไป โดยกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เเละเกิดกระบวนการเรียนรู้ว่าสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง และยังลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และจะทำให้สภาพร่างกายเเละจิตใจของผู้เข้ารับการบำบัดก็จะค่อย ๆ ดี ขึ้นเรื่อย ๆ

“ตนยังได้กำชับให้นายอำเภอทุกอำเภอใส่ใจดูเเล โครงการฝึกอบรมฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และขออนุโมทนาบุญที่ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนตั้งใจสมัครใจมาเข้าร่วมฝึกอบรมได้ประสบความสำเร็จดั่งที่ตั้งใจ เพื่อประโยชน์เเก่ตัวเอง พ่อ เเม่ ครอบครัว และสังคมต่อไป และขอประชาสัมพันธ์ว่าในระหว่างนี้หากต้องการขอรับคำปรึกษาในทุก ๆ เรื่อง สามารถโทรไปขอรับความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ดำรงธรรม ที่สายด่วน 1567 โทรฟรี หรือจะร้องทุกข์ร้องเรียน โดยกระทรวงมหาดไทยพร้อมยินดีจะให้บริการทุกท่านตลอด 24 ชั่วโมง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

ด้านนายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า จังหวัดนครสวรรค์ มีนโยบายเน้นหนักในด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติด ในปี พ.ศ. 2566 ประกอบด้วย 5 นโยบาย คือ 1) การเสริมสร้างหมู่บ้าน/ชุมชนเข้มแข็ง เอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืน และการขับเคลื่อนกิจกรรมในหมู่บ้าน/ชุมชนกองทุนแม่ของแผ่นดินเดิม  และการจัดตั้งหมู่บ้านชุมชนกองทุนแม่ของแผ่นดินใหม่ 2) การขับเคลื่อนโครงการ TO BE NUMBER ONE ทุกประเภทซึ่งจะมีการดำเนินการทั้งใน หมู่บ้าน ชุมชน สถานศึกษา สถานประกอบการ หน่วยงาน อำเภอและจังหวัด TO BE NUMBER ONE เพื่อเป็นการเน้นการป้องกันในกลุ่มประชาชน เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ให้ห่างไกลจากยาเสพติด เป็นการป้องกันไม่ให้มีผู้ค้าผู้เสพผู้ติดยาเสพติดรายใหม่ 3) การจัดระเบียบสังคมแบบบูรณาการเพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอาชญากรรมเยาวชนกลุ่มเสี่ยงและอบายมุขไม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ 4) โครงการแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติดศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (ศูนย์ขวัญแผ่นดินจังหวัดนครสวรรค์) และการติดตามดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัด ฟื้นฟูสมรรถภาพแบบครบวงจร เพื่อคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมีงานอาชีพทำหาเลี้ยงครอบครัวได้ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุข และ 5) การสืบสวนสอบสวนจับกุมปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดและเครือข่ายรายย่อยและรายสำคัญ รวมถึงการขยายผลด้านทรัพย์สินของผู้ต้องหาในคดียาเสพติด ทั้งนี้รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ได้กำชับให้ดำเนินการอย่างเข้มข้น เเละจริงจังมาโดยตลอด เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของยาเสพติดและไม่ให้ยาเสพติดกลับมาแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในชุมชน นอกจากนี้ ในส่วนด้านการดำเนินงานการยึดเป้าหมายพื้นที่หมู่บ้านชุมชนและเป้าหมายบุคคลเป็นตัวตั้งในการดำเนินงานซึ่งทำให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่กำหนดรวมทั้งยังเน้นด้านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเข้ามามีบทบาทในการร่วมป้องกันแก้ไขเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดอีกด้วย

จากนั้น ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยคณะฯ ได้ร่วมกันปลูกต้นรวงผึ้ง ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องด้วยดอกรวงผึ้งมีสีเหลือง เป็นสีประจำวันเฉลิมพระชนมพรรษา และผลิดอกช่วงดังกล่าวพอดี และเมื่อพระองค์เสด็จฯ ประกอบพระราชกรณียกิจตามสถานที่ต่าง ๆ จะทรงปลูกต้นรวงผึ้งพระราชทานไว้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนแห่งพระองค์ท่านและเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาณาประชาราษฎร โดยต้นรวงผึ่งมีชื่อพื้นเมือง เรียกว่า ต้นน้ำผึ้ง เป็นไม้หอมถิ่นกำเนิดในประเทศไทย พบมากในป่าทางภาคเหนือสูง เป็นพันธุ์ไม้ประเภทเดียวกับปอ กระเจา และตะขบฝรั่ง คนภาคเหนือเรียกว่า ต้นสายน้ำผึ้ง ดอกน้ำผึ้ง มีดอกสีเหลืองเข้ม กลิ่นหอมตลอดทั้งวัน นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ดอกสวยงามออกเต็มต้น มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ให้ร่มเงา ปลูกเลี้ยงง่าย และทนแล้ง

Leave a Reply