เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2563 สถาบันภาษา ได้จัดการสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษ สำหรับผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากร นิสิตและบุคคลทั่วไป ได้รับเปิดเผยว่า ในจำนวนผู้เข้าสอบได้มีพระนักสื่อสารสังคมชื่อดัง! คือ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ เข้าร่วมสอบภาษาอังกฤษ MCU-GET ด้วย
สำหรับ พระมหาไพรวัลย์ ได้สมัครเข้าศึกษาต่อหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสันติศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มจร ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ว่าด้วยเกณฑ์การวัดระดับความรู้ภาษาอังกฤษสำหรับผู้เข้าศึกษาต่อหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต พ.ศ.2559 กำหนดให้ (ข้อ 5 ) ผู้สมัครเข้าศึกษาต่อต้องมีผลทดสอบความรู้ภาษาอังกฤษอย่างใดอย่างหนึ่งที่สถาบันภาษาให้การรับรอง (ข้อ 5.1 ) โดยการสอบ MCU-GET ที่ดำเนินการโดย สถาบันภาษา มจร หรือ (ข้อ 5.2 ) ผลทดสอบจากสถาบันที่สถาบันภาษาให้การรับรอง
ก่อนหน้านี้พระมหาไพรวัลย์ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวความต่อกรณีที่ อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่เห็นพระสงฆ์เรียนในระบบปริญญามองเลียนแบบทางโลกไม่ใช่ทางดับทุกข์ว่า “อาตมาขอติงนิดเดียวเท่านั้นเองนะ คืออาตมาคิดว่าโยมยายสุจินต์มองอะไรแคบไป ที่จริงการศึกษามีคุณูปการมาก ต่อให้การศึกษานั้นจะเป็นวิชาการในทางโลกแบบที่โยมยายสุจินต์พูดถึงก็ตาม
อาตมาเห็นว่า ธรรมะ หรือความเป็นพุทธศาสตร์ควรบูรณาการได้ ต่อยอดได้ และก็เป็นการบูรณาการหรือการต่อยอดเพื่อรับใช้ศาสนานั่นแหล่ะ แต่ก่อนที่จะไปถึงการบูรณาการเช่นนั้น เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการซึ่งพระเณรจำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้ในศาสตร์อื่นๆ ด้วย
อาตมามองว่า พระเณรแต่ละรูปในยุคปัจจุบันนี้มีสิทธิ์ที่จะสนใจศึกษาในเรื่องอะไรที่ตนต้องการแสวงหาความรู้ก็ได้ การที่โยมยายสุจินต์อ้างพระอานนท์ หรืออ้างใครในสมัยพุทธกาลมาเปรียบกับพระเณรในยุคนี้ ดูไม่ค่อยเป็นธรรมสักเท่าไหร่
โยมยายสุจินต์อาจลืมไปว่า พระอานนท์มาจากตระกูลกษัตริย์ ท่านได้รับการศึกษามาอย่างดี เช่นเดียวกัน แม้แต่พระพุทธเจ้ายังผ่านการศึกษามาถึง 18 ศาสตร์ ใครจะมองอย่างไรไม่ทราบ แต่อาตมาเห็นว่า ความรู้ 18 ศาสตร์ ที่พระพุทธเจ้าเคยได้เรียนมา เป็นประโยชน์อย่างมาก เกื้อกูลอย่างมาก แม้แต่ในการเผยแผ่ศาสนาของพระองค์ในหนหลัง
และถ้าพูดอย่างจริงจังแล้ว แม้แต่หลังที่พระพุทธเจ้าหรือพระสาวกออกบวช ก็ไม่ได้หมายถึงว่า ท่านไม่ต้องเรียนรู้อะไรเลย การที่ท่านพยายามทำความเข้าใจกับสังคมกับวิธีคิดของผู้คนในยุคนั้น ไม่ว่าจะก่อนแสดงธรรมหรือก่อนที่จะประกาศศาสนา สิ่งเหล่านั้น หากมองให้ดีแล้วจะเห็นว่าล้วนเป็นการศึกษาในทางสังคมศาสตร์และในทางมนุษยศาสตร์ทั้งสิ้น (พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุเรียนการนับปักษ์ เพราะชาวบ้านตำหนิว่า ภิกษุไม่รู้อะไรเลย)
อาตมาออกจะรังเกียจคำว่า บวชทำไม บวชทำไม ของโยมยายสุจินต์อยู่มากเหมือนกันนะ เพราะมันฟังดูแล้วเหมือนเป็นคำพูดของคนที่ใจแคบโลกแคบเหลือเกิน
ตามความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กุลบุตรชาวพุทธในสังคมสยาม นับย้อนหลังไปกว่า 100 ปี ล้วนออกบวชด้วยเหตุผลอันหลากหลายมากมายแตกต่างกัน
ที่บวชตามประเพณีก็มี ที่บวชเพราะหนีราชภัยก็มาก ที่บวชเพราะต้องฝึกหัดขัดเกลาตัวเองก่อนการออกเรือนก็ถมเถ ในสมัยก่อนวัดเป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษา และศาสนาก็เปิดกว้างให้กุลบุตร สามารถอาศัยร่มเงาแห่งผ้ากาสาวพัตร์ฝึกหัดอุปนิสัยตลอดจนถึงศึกษาเล่าเรียนในศิลปะวิทยาการต่างๆ ได้
การศึกษามีคุณูปการมาก แม้อย่างน้อยที่สุดมันให้ชีวิตใหม่กับเด็กผู้ชายหลายต่อหลายคนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ศาสนาไม่ได้มีข้อห้ามเลยว่า พระภิกษุสามเณรจะแสวงหาความรู้ไม่ได้ กลับกัน ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ท่านแสวงหาไปเพื่ออะไรต่างหาก หากมองจากมุมนี้ อาตมาเห็นว่า โยมยายสุจินต์ไม่ควรมองโลกเหมารวมหรืออย่างคับแคบเกินไป
ศาสนาไม่มีข้อห้ามว่า พระภิกษุสามเณรที่เข้ามาบรรพชาอุปสมบทแล้วลาสิกขากลับไปครองเรือนไม่ได้ ดังนั้นประโยชน์อย่างน้อยที่สุดของการศึกษา มันอาจช่วยส่งเสริมให้อดีตพระอดีตเณรที่เคยอาศัยผ้ากาสาวพัตร์บวชเรียน ได้ตอบแทนคุณของศาสนาในทางใดทางหนึ่งก็ได้ ได้เป็นพลเมืองที่ดีที่มีคุณภาพของประเทศชาติต่อไป อย่างนี้ก็ได้ บางรูปบวชแล้วสึกไป เป็นถึงพระมหากษัตริย์ที่ปรีชาสามารถก็ได้
แต่ไหนแต่ไรมา วัดกับบ้านล้วนเกื้อกูลอาศัยกัน และศาสนาก็มีคุณกับลูกหลานของชาวบ้าน มากกว่าการให้นิพพานหรือการพ้นทุกข์ อาตมาเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องของอาตมาหรือไม่ใช่เรื่องของโยมยายสุจินต์ที่จะไปจำกัดหรือตีกรอบว่า พระเณรในอุดมคติควรเป็นแบบไหน หรือพระเณรที่บวชเข้ามาแล้ว ควรมุ่งศึกษาปฎิบัติแต่ในทางใดทางหนึ่งเท่านั้น
การศึกษาที่แท้จริง แม้ในเรื่องทางโลกไม่ได้ขัดกับความเป็นพระความเป็นนักบวชหรือขัดกับพระธรรมวินัยอย่างใดเลย อาตมากลับเห็นต่างไปว่า การขัดเกลาตัวเองกับการแสวงหาความรู้ เป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้ และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับศาสนาได้
มีพระหลายรูปที่เป็นเครื่องสาธกในเรื่องนี้ได้ดี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ก็เคยผ่านการศึกษาในมหาวิทยาลัยทางโลกมาก่อน และการศึกษานั้นก็ไม่ได้ทำให้ท่านหลงทางหรือออกห่างจากความเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด กลับกันเพราะอาศัยองค์ความรู้อื่นๆ ที่ท่านได้ศึกษาเพิ่มเติม ธรรมะของท่านจึงยิ่งเด่นชัด และเป็นไปเพื่อสันติภาพแก่สังคมอย่างแท้จริง
อาตมาเห็นว่า โยมยายสุจินต์ อายุมากแล้ว และอาจจะถึงแก่มรณกาลในอีกไม่นานนี้ นี่พูดแบบธรรมะนะ ไม่ได้แช่งหรืออะไร พวกเราทุกคนล้วนถูกมรณภัยคุกคามอยู่ตลอดเวลา พระพุทธเจ้าสอนพวกเราเช่นนี้ และเพราะเหตุที่อาตมากล่าวเช่นนี้ อาตมาจึงอยากให้โยมยายสุจินต์มีความใจกว้าง อยากให้โยมยายมองโลกด้วยเมตตาธรรมมากขึ้นอีกหน่อย
ศาสนาเป็นสิ่งที่จะถูกสืบทอดโดยคนยุคต่อไป พระเณรรุ่นต่อไป อุบาสกอุบาสิการุ่นต่อไป อาตมายืนยันว่า นอกจากธรรมะ อันเป็นสรณะอันประเสริฐแล้ว องค์ความรู้อื่นๆ เป็นสิ่งที่พระเณรไม่ควรดูแคลนเลย เป็นสิ่งที่พึงศึกษาได้ (อย่างเป็นเรื่องรองจากการศึกษาพระธรรมวินัยอย่างดีแล้ว)
ยิ่งมีองค์ความรู้มาก มีความแตกฉานในศาสตร์อื่นๆ มาก ธรรมะที่ศึกษามาแล้ว ก็จะเป็นสิ่งที่พระเณรสามารถบูรณาการสามารถปรับใช้อย่างเข้าถึงและเข้าใจในคนกลุ่มอื่นๆ ศาสนาอื่นๆ เป็นธรรมะที่สอดคล้องและไปกันได้กับสังคม กับวิธีคิดกับมุมมองของคนในโลกสมัยใหม่
การศึกษาไม่ใช่เรื่องเสียหาย การแสวงหาความรู้เป็นเรื่องจำเป็น อาตมามองอย่างนี้นะ”
ไม่มีใครแก่เกินเรียน หลวงปู่ วัย 84 ปี เพียรสอบภาษาอังกฤษ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษดังกล่าวได้มีพระสุธีปริยัตยาภรณ์ เป็นหลวงปู่วัย 84 ปี เจ้าอาวาสวัดพลับ จังหวัดจันทบุรี ตามที่ทีมงานสถาบันภาษาเปิดเผยว่า “หลวงปู่ ไม่ได้เป็นอาจารย์หรือเป็นนิสิตของมหาวิทยาลัย แต่หลวงปู่สอบภาษาอังกฤษ MCU-GET มาแล้ว 3 ครั้ง ในแต่ละครั้งหลวงปู่จะดูว่า พัฒนาการและคะแนนภาษาอังกฤษของท่านจะได้เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน”
ในขณะเดียวกัน ทีมงานได้สัมภาษณ์หลวงปู่ว่า หลวงปู่สอบภาษาอังกฤษเอาไปใช้อะไร หลวงปู่ตอบว่า “ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาที่ใช้กันทั่วโลก ผมก็เรียนภาษาอังกฤษทุกวัน ฝึกทุกวัน ใช้ภาษาอังกฤษทุกวัน ไม่ได้พูดก็ฟังข่าว อ่านข่าว ฝึกเขียน มาสอบวันนี้ ก็เพื่อจะวัดความรู้ตัวเองว่าที่เราฝึกทุกวัน วัดเป็นคะแนนการสอบมาตรฐาน จะได้คะแนนเท่าไร ได้มากได้น้อยก็เรียนต่อไปเหมือนเดิม”
น่าชื่นชมอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าหลวงปู่จะอายุถึง 84 ปี แต่หลวงปู่ยังมีสุขภาพแข็งแรง มีโสตประสาทที่ดีเยี่ยมมาก หลวงปู่ไม่ใช้แว่นตา ไม่ใช้เครื่องช่วยฟัง หรืออุปกรณ์ใดๆในการช่วยทำข้อสอบเลย สร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้เข้าร่วมการสอบเป็นอย่างดี
Leave a Reply