วันที่ 20 พ.ค.2563 ตามที่มีการเผยแพร่ภาพสตรีมุสลิมชาวจอร์แดนสอนสมาธิโดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนศาสนาทางสื่อออไนลน์ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Hansa Dhammahaso ความว่า
ชาวพุทธ มักจะพากันกล่าวว่า “สมาธิเป็นหลักวิชาของชาวพุทธ” ในขณะที่กลุ่มคนที่นับถือศาสนาอื่นๆ มักจะพากันรังเกียจเดียดฉันท์ว่า “สมาธิเป็นชุดฝึกของพระพุทธเจ้า” การฝึกสมาธิจึงนับเป็นการฝักไฝ่และเปลี่ยนตัวเองไปนับถือพระพุทธศาสนา
ความจริงคืออะไร?!? ผู้ที่สามารถยืนยันความจริงข้อนี้ได้ดีที่สุดจะเป็นใครมิได้ถ้ามิใช่พระพุทธเจ้า พระองค์ย้ำเอาไว้ในธรรมนิยามสูตรอย่างหนักแน่นว่า “ไม่ว่าตถาคตจะเกิดหรือไม่ก็ตาม ธรรมะเป็นสิ่งที่ปรากฏมีอยู่ และเป็นอยู่แล้วในธรรมชาติ”
ตามนัยนี้ ธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นสติ สมาธิ และปัญญา เป็นสมบัติกลางของธรรมชาติ ผู้ใดก็ตามปฏิบัติให้สอดรับกับกฏธรรมชาติ ผู้นั้นก็จะค้นพบความลับที่ซ่อนตัวอยู่ในธรรม แบบอย่างที่พิสูจน์และสามารถอ้างอิงได้ คือ “พระพุทธเจ้า” ที่ใช้สมาธิเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงคุณค่าภายในจากมนุษย์ธรรมดาให้เป็นเข้าถึงความสุขที่แท้จริง
เมื่อพระองค์ได้รับประโยชน์จากสมาธิ พระองค์ไม่เคยผูดขาดธรรมะ โดยการจดลิขสิทธิ์สิ่งที่ค้นพบว่า “สมาธิเป็นทรัพย์สินทางปัญญา” ยิ่งกว่า พระองค์กลับกวักมือเรียกให้มนุษย์มาร่วมกันพิสูจน์ทราบธรรมะที่พระองค์ค้นพบ (เอหิปัสสิโก) ผ่านการปฏิบัติและรู้จักด้วยตัวเอง (ปีจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ)
จากแนวทางที่พุทธองค์ย้ำเตือน จึงเป็นที่ประจักษ์แจ้งว่า “สติ สมาธิ และปัญญา” เป็นสมบัติกลางของมนุษย์ทุกคน ทุกคนมีสิทธิ์โดยสมบูรณ์ที่จะเข้าถึงพลังแห่งสมาธิ มนุษย์ทุกคนที่กำลังเผชิญหน้ากับความทุกข์และถวิลหาความสุขแท้ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพ ในการสมาธิเป็นเครื่องมือหยิบยื่นสันติสุขภายในให้แก่ตัวเอง และส่งต่อพลังดังกล่าวเพื่อเสริมสร้างสังคมสู่สันติสุข
“สมาธิจึงไร้เชื้อชาติ ไร้ศาสนา และไร้พรมแดนสำหรับมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม สมาธิจึงเป็นสมบัติของโลกและจักรวาล ปรากฏมีตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และจะยังคงมีปรากฏต่อไปในธรรมชาติ เพือให้มนุษย์ได้ร่วมกันศึกษา เรียนรู้ และปฏิบัติ เพื่อใช้สอยประโยชน์ร่วมกันเพื่อเข้าถึงความสุขแบบไร้ขีดจำกัด ไร้เงื่อนไข และไร้ตัวแปรใดๆ ทั้งสิ้น” พระมหาหรรษา ระบุ
Leave a Reply