เห็นด้วยหรือไม่สถาบันสงฆ์ควรมี “ศาลสงฆ์” และแก้ไข พรบ.สงฆ์มาตรา 29

วันที่ 2 มิถุนายน 2568 หลังจากเพจ “Thebuddh” โพสต์คอลัมน์ “ริ้วผ้าเหลือง” เขียนโดย “เปรียญสิบ”  ว่าด้วย การกลับมาของอดีตพระพรหมเมธี ที่ลี้ภัยอยู่ประเทศเยอรมนี มีแฟนเพจได้แสดงความคิดเห็นหลากหลาย โดยเฉพาะ “ปนัดดา นิยมศิริวนิช” ได้เสนอแนวคิดที่น่าสนใจที่คนในแวดวงคณะสงฆ์พูดกันหนาหูมากยิ่งขึ้นคือ “ศาลสงฆ์” โดย ปนัดดา นิยมศิริวนิช ได้แสดงความเห็นประเด็นสาธารณะดังกล่าวว่า

“ปัจจุบันพระดีที่ถูกกล่าวหาก็มีมาก พระไม่ดีที่ต้องจัดการก็มีอยู่ไม่น้อย ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ควรมีการจัดตั้ง “ศาลสงฆ์” เพื่อธำรงรักษาพระพุทธศาสนาและศรัทธาของพุทธศาสนิกชนไว้ไม่ให้เสื่อมทรุด

อย่างไรก็ตาม ปัญหามาตรา 29 พรบ.สงฆ์ การให้อำนาจกับเจ้าพนักงานสอบสวน สามารถใช้ดุลยพินิจไม่ให้ประกันตัวทำให้พระต้องสละสมณเพศเข้าเรือนจำ ก็สมควรต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ เพราะอย่างไรก็มีความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 29 วรรคสอง ที่ว่า ตราบใดที่ยังไม่พิสูจน์ให้สิ้นสงสัยว่ามีความผิด ก็ต้องถือว่าท่านยังเป็นผู้บริสุทธิ์ และจะปฏิบัติกับท่านเสมือนว่ากระทำความผิดแล้วไม่ได้นะ..”

ประเด็นเรื่อง “ศาลสงฆ์”  ศาสตราจารย์ (พิเศษ)  วิชา มหาคุณ ได้เคยแสดงทัศนะไว้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2568  ในคราว มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้มีการจัดเสวนาทางวิชาการว่าด้วย “ศาลสงฆ์ โอกาสและความท้าทางของพระพุทธศาสนาและกระบวนการยุติธรรมไทย”  จัดโดยนิสิตปริญญาเอก หลักสูตรสตินวัตกรรมและสันติศึกษาว่า คณะสงฆ์ไทยควรยกโมเดลศาล”ศาสนาคริสต์คาทอลิก” สร้างความมั่นคงและยั่งยืน ในการรักษาหลักคำสอนและความศรัทธา มาเป็นแบบอย่าง พร้อมกับกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“เราจะเห็นได้ว่าพระพุทธศาสนาบ้านเรา ปัจจุบันเกิดขึ้นหลายสำนัก ตีคำสอนของพระพุทธเจ้าไปต่าง ๆ นา ๆ ลูกศิษย์แต่ละสำนักก็เกิดความแตกแยก บางคนใส่ร้ายพระภิกษุ เจ้าสำนักตนไม่ชอบว่า ขาดจากความเป็นพระก็มี เรื่องความศรัทธาและศีลธรรม หลักคำสอนผิดหรือถูก บ้านเราไม่ค่อยให้ความสนใจเลย แนวทางของคริสต์ศาสนา เขาต้องการให้ศาสนาเขามีความมั่นคง เราจะเห็นว่าศาสนาเขาผ่านร้อนผ่านหนาวมาตั้งแต่ยุคโรมัน แต่ระบบสันตะปาปาของเขาไม่เคยเปลี่ยนเลย กระบวนการคัดเลือกคัดครองเขาก็มั่นคง องค์สันตะปาปา คัดเลือกใครมา ต้องผ่านสภาศรัทธาและศีลธรรมนี้เท่านั้น และ เหตุสำคัญที่ศริสต์ศาสนาจำเป็นต้องมีศาลศาสนานี้ เนื่องด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ ประการที่หนึ่ง ตัดสินหรือวินิจฉัยคดีเฉพาะเรื่องวินัยของนักบวช เท่านั้น ประการที่สอง คดีที่เกี่ยวข้องกับความศรัทธาของผู้คน และประการที่สาม คดีปกครอง จะให้มันมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง กันไม่ได้เป็นอันขาด มันต้องจบโดยเร็ว ติดสินและวินิจฉัยโดยผู้มีความมั่นคงในด้านของศีล ด้านวินัย และระเบียบปฎิบัติ กระบวนการลงโทษของเขาใช้ การไกล่เกลี่ยเป็นหลัก และแก้ไขก่อน เป็นอันดับแรก โทษสูงสุดของศาสนาคริสต์ คือ การถอดถอนออกจากตำแหน่ง มิใช่การลงโทษทางอาญาตามกฎหมายทั่วไป ซึ่งเมื่อพ้นจากนักบวชแล้ว หากเป็นคดีอาญาทางโลกก็จะดำเนินการต่อไป..”

ขณะที่หลายท่านแสดงไปในทำนองเดียวกันว่า คณะสงฆ์ไทยควรจะมี ศาลสงฆ์  โดยตั้งศาลสงฆ์แยกออกมาต่างหาก เช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลทหาร และศาลยุติธรรม หรือจะให้อยู่ในศาลยุติธรรม ดังเช่น ศาลเยาวชน ศาลทรัพย์สินทางปัญญา ศาลแรงงาน เป็นต้น   ส่วนหากพระภิกษุต้องคดี วินิจฉัยยังไม่สิ้นสุด ควร จำกัดบริเวณไว้ที่ไหนที่หนึ่งโดยเฉพาะ เช่น พุทธมณฑล เป็นต้น

Leave a Reply