รายงานพิเศษขอนแก่นโมเดล : ชาวโคก หนอง นา ต้องรู้??

             โคก หนอง นา เป็นความหวังของพลเมืองไทยได้จริงหรือไม่ !?  การทำเกษตรแนวทางปรัชญาพอเพียงหรือเกษตรทฤษฎีใหม่ตอบโจทย์สังคมไทยในห้วงเวลที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับโรคโควิดได้หรือไม่ ?? หรือแม้คำถามที่ว่า การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา นำไปสู่ความ มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนของชีวิตและครอบครัวได้หรือไม่ ?? หรือแม้กระทั้งคำถามที่ว่าเงินกู้ทำโคก หนอง นา ของกรมพัฒนาชุมชน สามารถตอบโจทย์ผู้ประสบภัยจากโควิด ได้จริงหรือไม่!?  หลากหลายคำถามเหล่านี้ เป็นคำถามที่ค้าคาใจใครหลาย ๆ คน

             สำหรับโครงการโคก หนอง นา มีชื่อเต็มว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”

            “นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน บอกว่าโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” ถือเป็นโครงการที่ทำให้หลายคนรู้จักกรมการพัฒนาชุมชนมากขึ้นจากการน้อมนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 และน้อมนำเอาพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  “สืบสาน รักษา ต่อยอด”  มาใช้ในการพัฒนาคนช่วงปีงบประมาณ 2563 ที่รัฐบาลมีเงินกู้มาฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของโรคโควิดโดยให้ส่วนราชการต่าง ๆ จัดทำโครงการของบประมาณกรมการพัฒนาชุมชน จึงได้เสนอโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล

             โดยโครงการโคก หนอง นา โมเดล ได้รับความเห็นชอบและได้รับอนุมัติงบประมาณ 4,787 ล้านบาท เพื่อมาพัฒนาครัวเรือนต้นแบบกว่า 25,000 ครัวเรือนเป็นโครงการแรกและโครงการเดียวที่รัฐบาลอนุมัติให้ใช้งบฯเงินกู้ก้อนนี้ในรอบแรกซึ่งเป็นมิติใหม่ของระบบราชการ

             หลักสำคัญของโคก หนอง นา โมเดล คือการพัฒนาคนให้เป็นคนที่สามารถบริหารจัดการชีวิตได้ ให้พึ่งพาตนเองได้ ไม่ต้องเป็นหนี้ ไม่ต้องกลัวราคาพืชผลตกต่ำที่สำคัญที่สุดสามารถช่วยประชาชนเจ้าของโฉนด น.ส.3 หรือมีพื้นที่อยู่ในที่ดิน ส.ป.ก. ป่าไม้ กรมธนารักษ์ หรือที่ดินประเภทอื่น ๆ   ให้สามารถทำกินได้โดยมีการประสานกับหน่วยงานผู้ดูแลเรื่องนี้เพื่อดำเนินการร่วมกัน

           โครงการนี้ได้เปิดรับสมัครบุคคลมาเข้าร่วมโครงการ จำนวน 9,188 อัตรา ปฏิบัติงานในพื้นที่ 73 จังหวัดทั่วประเทศ และจะดำเนินโครงการต่อไปจนสิ้นสุดในวันที่ 1 ตุลาคม  2564 งบประมาณในโครงการบางส่วนจะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการจ้างงานคนในพื้นที่ประจำศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบล ในตำแหน่งที่เรียกว่า “นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ” ด้วยสัญญาจ้าง 1 ปี 9,000 บาท/คน/เดือน รวมกว่า  992,304,000 ล้านบาท เป็นครั้งแรกที่จ้างงานคนว่างงานให้เป็นเกษตรกรโดยไม่จำกัดคุณวุฒิ ไม่จำกัดสายอาชีพ ไม่ดูประวัติอาชญากรรม ช่วยให้คนที่อยากพัฒนาตัวเองสามารถดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้

            “เป้าหมายเราคือสร้างงานให้คนในพื้นที่โดยไม่ต้องข้ามถิ่นไปทำงานที่อื่น ปัจจุบันบางจังหวัดอบรมเรียบร้อยแล้ว บางจังหวัดก็กำลังดำเนินการอยู่ ฝึกอบรมเป็นรุ่นตามขั้นตอน ขั้นแรกเป็นการฝึกอบรม คนที่จบการฝึกอบรมจะสามารถออกแบบพื้นที่และดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ทำการเกษตรได้เลย แบ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบระดับครัวเรือน และเมื่อจบโครงการไปแล้ว คนเหล่านี้ สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพได้อีกด้วย..”

            สรุปเป้าหมายของโครงการโคก หนอง นาโมเดล ภายใต้ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินกู้ 4,787 ล้าน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสู่ชุมชนให้ครอบคลุม 79 จังหวัด 575 อำเภอ 3,246 ตำบล 25,179 ครัวเรือน พร้อมจ้างผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดอีก 9,188 คน และผลพลอยได้คือ เกิดป่า,มีแหล่งน้ำและสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับพลเมืองของประเทศชาติ

            เพื่อแสวงหาข้อมูลจากพื้นที่จริงในการทำโครงการโคกหนองนา ทีมเราจึงได้ไปเก็บข้อมูลในภาคอีสานโดยเลือกจังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดแรก เนื่องจากข้อมูลที่ได้รับจากกรมการพัฒนาชุมชน คาดหวังต้องการตั้งจังหวัดขอนแก่นเป็น “ขอนแก่นโมเดล” ในการทำโคก หนอง นา

         จังหวัดขอนแก่น เป็นจังหวัดขนาดใหญ่จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน มี 26 อำเภอ 198 ตำบล 2,331 หมู่บ้าน และ389 ชุมชนมีครัวเรือนประมาณ 534,715 ครอบครัว

           นายจำเริญ แหวนเพ็ชร พัฒนาการจังหวัดขอนแก่น ได้ให้ข้อมูล เกี่ยวกับประชาชนที่เข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา ในภาพรวมว่า จังหวัดขอนแก่นตอนนี้มีครัวเรือนที่เข้าร่วมโคก หนอง นาทั้งหมด 516 ครัวเรือน อบรมไปแล้วจำนวน 5 รุ่นจากทั้งหมด 11 รุ่น และสามารถจ้างเกษตร บัณฑิตจบใหม่ ผู้ว่างงาน กลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิดถูกเลิกจ้างอีก 312 คน ซึ่งคนเหล่านี้ทำสัญญาจ้างไปเรียบร้อยแล้ว

            “จังหวัดขอนแก่น ไม่มีปัญหาเรื่องช่างเหมือนกับจังหวัดอื่น ๆ  เพราะที่จังหวัดเรามีพัฒนาการอำเภอแวงใหญ่ คุณปลวัชร วรรณจงคำ ท่านเป็นช่างรางวัดมาก่อน เขียนแบบ ดูแบบได้ และซ้ำท่านก็ให้น้อง  ๆ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบหรือ นพต. ที่กรมพัฒนาชุมชนจ้างไว้ ก็ให้ช่วยออกไปสำรวจ วัด ร่วมกับช่างในท้องถิ่นด้วย ตอนนี้ในทีมจังหวัดขอนแก่นเป็นกันเกือบทุกราย จังหวัดขอนแก่นเรื่องปัญหาช่าง ไม่มีปัญหา..”

            ปัญหานอกนั้นอาจมีบ้างส่วนใหญ่เกิดจากผู้เข้าร่วมโครงการ เช่น ผู้สมัครอบรมติดปัญหาเรื่องเข้าร่วมอบรมในโครงการ 4 คืน 5 วันบ้าง มีปัญหาแบบแปลนในพื้นที่ ปัญหาการขุด หรือแม้กระทั้งปัญหาที่ดิน บางครอบครัวตอนเข้าร่วมโครงการยังไม่ได้แบ่งที่ดิน เมื่อเราเข้าไปสำรวจแล้ว มีการแบ่งที่ดินลดน้อยลงจากที่แจ้งกับทางเราเอาไว้ ตรงนี้ก็เป็นปัญหาแต่เราก็สามารถแก้ได้

           นอกจากนี้ นายจำเริญ แหวนเพ็ชร ได้ชวนให้ไปดูแปลงผักปลอดภัยไร้สารเคมี ณ บ้านท่าแร่ ต.ดอนหัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ตั้งอยู่ริมบึงขนาดใหญ่บนที่ดินสาธารณะประโยชน์ที่กรมการพัฒนาชุมชนร่วมเข้าไปสนับสนุน

           จากการสอบถาม นายนิรันต์ หล้าสีดา ผู้ใหญ่บ้านท่านบอก ว่า ผักที่นี้เป็นผักปลอดสารพิษ ปลอดสารเคมีร้อยเปอร์เซ็นต์กรมการพัฒนาชุมชนได้เข้ามาร่วมสนับสนุนในเรื่องเมล็ดพันธุ์และประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาสัมพันธ์แปลงผักแห่งนี้ให้พวกเรา

         “ที่นี่เหมือนวิสาหกิจชุมชนเรารวมกลุ่มกันทำประมาณ 30 คน ทำผักแบบผสมผสานบนเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ ปลอดสารเคมี ขายในตลาด และทำ MOU กับห้างโลตัส เร็ว ๆ นี้จะทำ MOU กับโรงพยาบาลใกล้เคียงนี้อีก บอกตรง ๆว่า ไม่พอขาย ผลิตไม่ทัน เพราะเราเป็นผักปลอดสารพิษ ตลาดต้องการมาก..”

             พื้นที่ ไฮไลท์” โคก หนอง นา ใน จังหวัดขอนแก่น ที่เราต้องไปเยือนและดูงานคือ อ.แวงใหญ่ ซึ่งที่นี่กำลังจะถูกสถาปนาให้เป็น “พื้นที่โมเดล” ในการทำโคก หนอง นา ของกรมพัฒนาชุมชนทั่วประเทศ แปลว่าต้องมีอะไรดี ??

             อันดับแรกเลย ผมทำงานเป็นทีม ไม่ทำงานหน่วยเดียว คือ จะสร้างการรับรู้ทุกภาคส่วน ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม โครงการโคก หนอง นา อำเภอแวงใหญ่ มีผู้เข้าร่วมเยอะกว่าอำเภออื่น ๆ ในจังหวัดขอนแก่น

            เฟส 1 ในในอำเภอแวงใหญ่ มี 50 แปลง และก็มีงบเศรษฐกิจพอเพียงอีก 18 แปลง รวมแล้ว 68 แปลง ที่นี่เฟส 2 กำลังจะตามมาอีกประมาณ 40 ครัวเรือน รวมแล้วก็ประมาณ 108 ครัวเรือน

            เหตุที่คนเข้าร่วมโครงการเยอะ อย่างที่ผมบอกตั้งแต่ต้น คือ ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม สื่อสารหลาย ๆ ช่องทาง

            “การทำงานมันต้องมีส่วนร่วมทุกฝ่าย ทำให้เป็นสาธารณะให้ได้ มิใช่ให้ประชาชนทำอยู่ฝ่ายเดียว คือ ต้องตั้งคณะทำงาน การขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล เป็นการสั่งการโดย กรมการพัฒนาชุมชนอยู่แล้ว ให้ทุกอำเภอทำ  ในโครงสร้างคณะทำงาน มันก็มีนายอำเภอ มีส่วนราชการต่าง ๆ ผู้นำองค์ท้องถิ่น มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  รวมทั้งภาคประชาชนเข้ามาร่วมด้วย ทุกอย่างมันต้องมีส่วนร่วมงานมันจึงจะประสบความสำเร็จ..”

            นายปลวัชร   วรรณจงคำ   พัฒนาการอำเภอแวงใหญ่ จ.ขอนแก่น บอกเล่าวิธีทำงานในพื้นที่ให้ฟัง ซึ่งนอกจากนี้ปัญหาอีกส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นทั่วประเทศสำหรับการดำเนินงานโคก หนอง นา คือ ปัญหาเรื่องแบบ และการขุด สำหรับอำเภอแวงใหญ่ ไม่มีปัญหา เมื่อถามถึงจุดเด่นของอำเภอแวงใหญ่ จ.ขอนแก่น ที่ตอนนี้หลายหน่วยงานมาดูงานการขุด หลายหน่วยงานส่งคนมาอบรม  พัฒนาการอำเภอแวงใหญ่บอกต่อว่า

            “ผมจบช่างมาโดยตรง ปัญหาที่เกิดทั่วประเทศเกี่ยวกับช่าง ที่นี่ไม่มีปัญหา  ที่นี่น้อง ๆ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบหรือ นพต.ของเรามี 10 คน  ตอนนี้ก็ เป็นช่างไปแล้วในตัว เพราะออกงานกับผมเกือบทุกวัน บางพื้นที่ช่างท้องถิ่นของ อบต.เทศบาล ที่เรายืมตัวให้มาช่วย เวลาเจอแบบผิด หรือ เป็นแบบที่ชาวบ้านเขาไม่ต้องการ ช่างท้องถิ่นมาถามคน พช. เราก็ตอบเขาไม่ได้ เพราะงานขุด งานโคก หนอง นา นี้เป็นงานใหม่สำหรับคนของกรมพัฒนาชุมชน

           บางแห่งช่างกับคน พช.ต้องทำความเข้าใจกันมากขึ้น และควรจัดสรรค่าตอบแทนให้กับช่างที่มาช่วยงาน เรื่องนี้อาจต้องแก้ไข ซึ่งตอนนี้ทราบว่า ท่านอธิบดีสุทธิพงษ์ จุลเจริญ  ท่านรับรู้แล้ว..”

              โครงการโคกหนองนาโมเดล ของกรมพัฒนาชุมชน เป็นโครงการที่เป็นกระแสทั่วประเทศแล้วตอนนี้ บางคนก็เข้าร่วมโครงการกับกรมพัฒนาชุมชน บางคนก็ใช้งบส่วนตัวในการทำ  ก็เป็นกระแสที่มาแรงมากใคร ๆ ก็ติดหูเรื่องโคกหนองนาไปแล้ว  เพราะมันตอบโจทย์ชีวิตเขาได้  คนที่มีที่ดินอยู่บ้าง แต่ไม่เคยคิดจะต้องทำอะไร ก็หันสนใจที่จะทำโคกหนองนา เมื่อเป็นโคกหนองนาแล้วก็จะทำให้เรามีที่พักผ่อนหย่อนใจอย่างน้อยเลยนะครับคนที่มีตังค์มีอะไรอยู่แล้วเนี่ย…เดี๋ยวก็จะมีที่พักผ่อนที่ตัวเองไป วันหยุดบ้างอะไรบ้างก็จะไปที่โคกหนองนาเป็นที่ตัวเอง พอไปที่โคกหนองนาก็จะเดินไปดูน้ำดูหนองเดินดูต้นไม้ ปลูกต้นไม้ก็จะได้ออกกำลังกาย แทนที่จะเอาเวลาไปทำอย่างอื่น แล้วก็จะมีผลผลิตที่เกิดจากโคกหนองนา กินแล้วสุขภาพก็ดี เพราะพวกเราทำโดยหลักเกษตรธรรมชาติ ปลูกผัก ปลอดสารพิษ   นายปลวัชร   วรรณจงคำ   กล่าวทิ้งท้าย

              เป้าหมายหลักประการหนึ่งของงบประมาณเงินกู้ที่กรมพัฒนาชุมชนได้รับจัดสรรมา คือ เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านการสร้างรายได้ สร้างงานให้กับกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร พนักงานบริษัท หรือนักศึกษาจบใหม่

            นางธนชพร สินเธาว์  เดิมเป็นวิทยากรอบรมคนมาดูงานหน่วยงานแห่งหนึ่ง ได้รับผลกระทบจากโควิดช่วงแรก เพราะไม่มีคนมาอบรมในศูนย์ การรวมตัวกันเกิน 5 คนไม่ได้ กระทบกับรายได้เต็ม ๆ

            “ พี่กระทบเต็ม ๆ เลยครอบครัวขาดรายได้ จึงมาสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นลูกจ้างของโคก หนอง นา โมเดล  ได้เงินจ้าง 9 พันบาทต่อเดือน อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว เงินเดือน 9 พันบาท บ้านก็ไม่ต้องเช่า ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ อยู่ได้สบาย

            ตอนนี้ชาวบ้านบางครัวเรือน ไม่เข้าใจ คิดว่า เมื่อเข้าร่วมโครงการ โคก หนอง นา แล้ว ผักที่ปลูกไว้ คิดว่าเป็นของส่วนรวมบ้าง คิดว่าสัญญาที่ทำร่วมกับโครงการ 5 ปี กลัวโดนยึดที่ดินบ้าง เราก็ต้องไปทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ระยะยาวโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก สร้างงาน สร้างอาชีพและช่วยชาวบ้านได้จริง ๆ..”

            นายชราวุฒิ แสงไพร เคยทำงานเป็นพนักงานบริษัท ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด จึงถูกเลิกจ้าง หันกลับมาดูแลพ่อแม่ที่อายุมากแล้ว โดยเลี้ยงวัว ปลูกผัก ปลูกข้าว

            “ ทำงานตรงนี้แม้จะได้เงินเพียง 9 พันบาท แต่ในต่างจังหวัดอยู่ได้สบาย ไม่เครียดด้วย มีเงินเก็บอีกต่างหาก เพราะที่นี่บ้านก็ไม่ต้องเช่า ข้าว กับข้าว ก็ทำกินเอง ไม่เหมือนเมืองใหญ่ ๆ  ทุกอย่างเป็นเงินไปหมด อยู่ที่นี่อากาศดี สภาพแวดล้อมดี  ได้มาดูแลพ่อกับแม่ที่อายุมากแล้วด้วย ตอนนี้เลี้ยงวัว ปลูกผักเสริมด้วย  หวังว่าโครงการนี้จะมีต่อเนื่อง  มันช่วยชาวบ้านได้จริง ๆ..”

            การทำโคก หนอง นา  แม้จะเป็นสิ่งที่หลายคนใฝ่ฝันอยากจะทำ อยากจะมีชีวิตที่ดีแบบพอกิน พอใช้ พออยู่ แต่หากไม่ลงมือทำ ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จได้

            ในตอนต่อไปเราจะเดินทางไปดูโคก หนอง นา จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งที่นี่มีผู้ทำเกษตรทฤษฎีใหม่สามารถส่งลูกสองคนจนจบระดับปริญญาตรีได้ การทำเศรษฐกิจแนวนี้ ภาครัฐก็หันมาสนใจมาสร้างถนน นำไฟฟ้าเข้าชุมชน ขุดบ่อบาดาลให้  ตอนต่อไป โปรดติดตาม!!

 

 

 

 

Leave a Reply