นายจงเจริญ ส้มเกิด นักศึกษาชั้นปีที่ 3
โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดอกไม้เงินดอกไม้ทองหรือจะเรียกว่าพุ่มไม้เงินพุ่มไม้ทอง ภาษามลายูเรียกว่า (Bunga Emas Bunga Perak) เป็นเครื่องราชบรรณาการที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรสยามกับประเทศราชที่ขึ้นกับสยาม ที่มีการส่งเครื่องราชบรรณาการทุกๆ ๓ ปี เพื่อแสดงความสวามิภักดิ์ต่อราชอาณาจักรสยาม เช่นเดียวกับ“สี่รัฐมลายูที่เป็นประเทศราชของสยามที่ประกอบด้วยรัฐปาตานี รัฐเคดาห์ รัฐตรังกานูและรัฐกลันตัน เป็นเมืองประเทศราชของสยาม ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์” การส่งเครื่่องราชบรรณาการ ดอกไม้เงินดอกไม้ทองและสิ่งมีค่าอื่นๆนั้น นอกจากจะมีสี่รัฐมลายูที่เป็นเมืองประเทศราชแล้วยังมีอีกหลายประเทศที่เป็นเมืองประเทศราชด้วยเช่นกัน
ความเชื่อเรื่อง “ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง”
ประเพณีการส่งเครื่องราชบรรณาการดอกไม้เงินดอกไม้ทองไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่ แต่ในส่วนของสยามประเทศน่าจะเริ่มตั้งแต่ในสมัยอยุธยายังคงเป็นราชธานีของสยามและยังส่งต่อมาจนถึงช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี ได้ปฎิรูปการปกครองในสยามประเทศ และได้ทำการยกเลิกการปกครองหัวเมืองประเทศราชเป็นมณฑลเทศาภิบาลในปี พุทธศักราช ๒๔๓๕ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ผู้ใดที่ทราบว่าความเชื่อการถวายดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง ซึ่งเป็นประเพณีที่พบในอุษาคเนย์บางประเทศเท่านั้น แต่ในความคิดของผู้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องดอกไม้เงินดอกไม้ทองหลายท่านให้ข้อสันนิษฐานไว้สามประการดังนี้
ประการที่ ๑ ประเพณีการถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองเกิดจากความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ฮินดู ซึ่งสยามได้รับแนวความเชื่อนี้มาจากศาสนาพราหมณ์ฮินดูที่ส่งความเชื่อดังกล่าวผ่านมาสู่วัฒนธรรมเขมรและนำมาสู่ในสมัยอยุธยา ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๔ ซึ่งในวัฒนธรรมดังกล่าวเปรียบองค์พระมหากษัตริย์เหมือนองค์พระศิวะและพระราชบังลังก์เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุหรือเขาไกรลาส ป่าหิมพานต์ล้อมรอบ เปรียบว่าพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระศิวะส่วนประเทศราชนั้นเป็นส่วนต่างๆของป่าหิมพานต์ การที่ประเทศราชถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองนั้นเสมือนเป็นการปลูกต้นไม้นั้นในปาหิมพานต์ให้องค์พระศิวะ ซึ่งในสยามประเทศหรือประเทศในภูมิภาคอุษาคเนย์นั้นเป็นการแสดงไปถึงพระบรมเดชานุภาพขององค์พระมหากษัตริย์ ดังนั้นดอกไม้เงินดอกไม้ทองจึงเป็นส่วนประกอบในชุดเครื่องราชบรรณาการที่ประเทศราชของสยามต้องส่งมา โดยมีคติว่าองค์พระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนสมมุติเทพตามแบบอย่างวัฒนธรรมเขมร
ประการที่ ๒ ประเพณีการถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองอาจจะได้รับอิทธิพลจากประเพณีเวณุยัฎฐํ ของลังกา “ยัฎฐํ” นั้น แปลว่า ไม้เท้า หรือพระคฑา เป็นสัญลักษณ์แห่งราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยสันนิษฐานว่ามาจากตำนานมหาวงศ์ของลังกา มีเรื่องอยู่ว่า เมื่อครั้งที่พระเจ้าอโศกครองราชย์ที่อินเดีย พระเจ้าติสสะแห่งลังกาทรงพระกฤษฎาภินิหาร จนเกิดมี “เวณุยัฎฐํ” วิเศษในลังกาขึ้นมา ๓ อัน พระเจ้าติสสะเห็นว่าเวณุยัฎฐํสามอันนี้วิเศษเป็นสำคัญ แต่คณะทูตของพระเจ้าติสสะให้พระองค์นั้นนำเวณุยัฎฐํวิเศษทั้งสามอันถวายแด่พระเจ้าอโศก ณ กรุงปาฏลิบุตร พระเจ้าอโศกก็ทรงรับเวณุยัฎฐํ ๓ อันนั้นไว้ด้วยความโสมนัส จากนั้นก็จัดเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไว้เพื่อจัดอภิเษกพระเจ้าติสสะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไปแบบที่ถูกต้องตามแบบประเพณีของอินเดีย พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ในลังกา จากนั้นพระเจ้าอโศกก็ทรงยกพระนามว่า “เทวนัมปิยะ” ซึ่งต่อมาทรงมีพระนามว่า “พระเจ้าเทวานัมปิยะติสสราช” พระองค์ก็ทรงยกเวณุยัฎฐํวิเศษทั้ง ๓ อันหรือพระคฑาทั้ง ๓ อัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจที่อยู่เหนือดินแดนทั้ง ๓ ของลังกาประกอบด้วย กรุงอนุราชปุระทางตอนเหนือ, มลยรัฐ ที่เป็นดินแดนที่ภูเขาในตอนกลาง และโรหณชนบทที่อยู่ทางตอนใต้ ยกให้เป็นเมืองขึ้นของพระเจ้าอโศกและร้องขอความคุ้มครองจากพระเจ้าอโศก จึงได้กลายเป้นประเพณีเวณุยัฎฐํขึ้นมาและส่งผ่านอิทธิของประเพณีดังกล่าวเข้ามายังภูมิภาคอุษาคเนย์ จากนั้นหลายปีต่อมาเวณุยัฎฐํที่ไม้แต่เดิม ก็กลายเป็น ต้นไม้ ประเทศราชที่รับอิทธิดังกล่าวมา จึงเปลี่ยนจากไม้เป็นต้นไม้ ปักลงกระถางลงรักปิดเงินทองและติดเงินติดทองลงที่ต้นที่ใบที่ดอก จึงกลายเป็นดอกไม้เงินดอกไม้ทองที่ถวายเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่แสดงถึงความจงรักภักดีต่อสยาม
ประการที่ ๓ เรื่องดอกไม้เงินดอกไม้ทองน่าจะเป็นความเชื่อที่สอดคล้องกันกับการนำมาสักการะบูชาสิ่งศักดิ์ สิทธิ์ จึงมีการถวายเพื่อสักการะบูชาต่อๆกันมาพระพุทธศาสนา ซึ่งมีหลักฐานในยุคอินเดียโบราณ ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๓ – ๗ มีการจัดทำดอกไม้เงินดอกไม้ทองและส่วนอื่นของต้นไม้ ไว้ถวายเป็นเครื่องสักการะบูชาในพระพุทธศาสนาพร้อมทั้งจำลองต้นศรีมหาโพธิ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าและยังเป็นสัญลักษณ์ต้นไม้แห่งจักรวาล จึงที่มาที่นิยมนำมาสักการะบูชา จากนั้นมาก็นำมาเป็นส่วนประกอบสิ่งของที่ต้องนำมาเป็นเครื่องราชบรรณาการ ในช่วงแรกลักษณะยังเป็นดอกไม้เงินดอกไม้ทอง เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงความสวาภักดิ์นอบน้อมด้วยความจงรักภักดี ในคราวต่อมาภายหลังก็ปรับจากดอกไม้เงินดอกไม้ทองกลายเป็นต้นไม้เงินต้นไม้ทอง
จึงแสดงให้เห็นว่าการถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองนั้นได้มีหลายแนวความคิดอย่างมากเป็นทั้งประเพณีที่สืบต่อกันอย่างยาวนานจากอินเดียสู่ภูมิภาคอุษาคเนย์รวมทั้งสยามประเทศที่ได้รับอิทธินี้มาด้วยและยังแสดงถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ต่อประเทศราชว่ามีอำนาจเหนือดินแดนที่ขึ้นต่อประเทศของตน
การถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองพร้อมเครื่องราชบรรณาการของทั้ง ๔ รัฐมลายู
การถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองพร้อมเครื่องราชบรรณาการอื่นๆนั้นแสดงให้เห็นถึงความสวามิภักดิ์ของประเทศราชของสยาม ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนช่วงต้นรัตนโกสินทร์ โดยประเทศราชของสยามประกอบด้วย เขมร ลาว กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในแถบทิศตะวันตกเฉียงเหนือรวมถึง “รัฐมลายูทั้ง ๔ รัฐ มีรัฐปาตานี รัฐเคดาห์ รัฐตรังกานูและรัฐกลันตัน” ซึ่งทั้ง ๔ รัฐของมลายูนี้จะจัดส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองพร้อมเครื่องราชบรรณาการอื่นๆมาทุกๆ ๓ ปี แต่เรื่องราวความเป็นมาก่อนจะเป็นประเทศราชและถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองมีหลายเหตุการณ์ และไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าเกิดขึ้นในสมัยใด แต่เราสามารถทราบได้ว่าเกิดเหตุการณ์ใดบางระหว่างทั้ง ๔ รัฐ กับสยาม จึงแบ่งออกเป็น ๔ ข้อตามรัฐทั้ง ๔ ดังนี้
- รัฐปาตานี รัฐแรกที่ส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองเครื่องราชบรรณาการและประวัติความสัมพันธ์
ในสมัยสุลตานมูซัฟฟาร์ทชาร์(Sultan Muzaffar Shah) ทรงครองราชย์ที่อาณาจักรปาตานีในช่วงปี พ.ศ. ๒๐๗๓ – ๒๑๐๗ ซึ่งเป็นสุลต่านต่อมาจากสุลต่านอิสมาเอลชาห์ สุลต่านมูซัฟฟาร์ทชาร์ได้เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเนืองๆ เพราะพระองค์เปรียบพระมหาจักรพรรดิเหมือนพระญาติของพระองค์ พระมหาจักรทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับสุลต่านมูซัฟฟาร์ทชาร์ท พระองค์ท่านจึงทรงพระราชทานของกำนัลให้สุลต่านปาตานีเป็นทาสชาวมอญ และพม่า ๖๐ คน ทาสญวน และชาวลาวจำนวน ๑๐๐ คน ช่วงต่อมาในปี พ.ศ. ๒๑๐๖ กองทัพของพม่าที่นำกองทัพโดย พระเจ้ากรุงหงสาวดี (พระเจ้าบุเรงนอง) ซึ่งสุลต่านมูซัฟฟาร์ทชาร์ ก็ได้นำไพร่พลที่มีทหารประกอบด้วย “ไพร่พลที่ชำนาญเพลงกฤชติดตามไปหนึ่งพันคนและหญิงอีกร้อยคน” และเรืออีก ๒๐๐ ลำ เพื่อไปช่วยทำสงครามกับพม่า แต่เมื่อสุลต่านมูซัฟฟาร์ทชาร์ทได้ยกพลมาถึงก็ทรงตกใจเมื่อพบว่ากองทัพได้ยกทัพกลับไปแล้ว องค์สุลต่านจึงนำไพร่พลพำนักพักแรมอยู่พระนคร และเกิดเหตุการณ์ในช่วงที่กองทัพสุลต่านพักแรมอยู่ทว่า กองทัพของสยามกับกองทัพของมลายูได้เกิดการขัดแย้ง ต่อก็ได้เกิดการสู้รบกันในพระนครขึ้น ซึ่งองค์สุลต่านมูซัฟฟาร์ทชาร์ได้นำกองทัพยึดพระราชวังได้สำเร็จประมาณ ๑ เดือนเศษๆ แต่ทว่าเมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้จัดส่งกำลังพลเข้าสู้รบเพื่อยึดพระราชวังคืนและก็สามารถแย่งพระราชวังคืนมาได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ องค์สุลต่านจึงยกทัพถอยกลับ ในขบวนทัพขององค์สุลต่านยังมีพระอนุชาราชามันซูร์ที่มาด้วย องค์สุลต่านจึงได้ให้ขบวนทัพของพระอนุชายกนำกลับก่อน เพราะในช่วงนั้น โปรตุเกสและกองทัพอาเจะห์จะเข้ายึดปาตานี แต่ในที่สุดองค์สุลต่านมูซัฟฟาร์ทชาร์ก็ได้สิ้นพระชนม์ที่พระนคร พระศพขององค์สุลต่านได้ถูกฝังอยู่ในบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ในสมัยพระชินีอุงงูปกครองช่วง พ.ศ. ๒๑๖๗ – ๒๑๗๘ พระองค์ได้ประกาศตัดความสัมพันธ์กับสยามตรงกับช่วงรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททอง รัฐปาตานีจึงวางเว้นต่อการส่งเครื่องราชบรรณามายังกรุงศรีอยุธยาจึงทำให้รัฐปาตานีมีการรบกับสยามเนียงๆ รวมถึงเมื่อช่วง พ.ศ. ๒๑๑๒ สยามได้เสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่าจึงทำให้รัฐปาตานีเมินต่อการส่งเครื่องราชบรรณาการ จนมาช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งพระองค์ได้ประกาศเอกราชให้แผ่นดินสยามและชื่อเสียงที่เลื่องลือทางการรบจึงทำให้รัฐปาตานีกลับมาจัดถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองพร้อมเครื่องราชบรรณาการอื่นๆให้กับกรุงศรีอยุธยาอีกหน ในช่วงนั้นรัฐปาตานีถือเป็นประเทศราชของสยามจึงทำการส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองพร้องเครื่องราชบรรณาการอื่นๆทุกๆ ๓ ปี โดยมีลักษณะของดอกไม้เงินดอกไม้ทองดังนี้
๑. ลำต้นสูง ๒ ศอก ๔ นิ้ว
๒. กิ่ง ๔ ชั้น รวม ๕ ชั้นทั้งยอด
๓. ใบต้นไม้ทอง ๒๗๐ ใบ
๔. ดอก ๑๗ ดอก เป็นทอง
๕. ใบต้นไม้เงิน ๒๕๘ ใบ
๖.ดอกไม้เงิน ๑๗ ดอก
ในช่วงเวลาต่อมาปาตานีก็ได้หัวเมืองออกเป็น ๗ หัวเมือง ทำให้ขนาดของดอกไม้เงินดอกไม้ทองเปลี่ยนแปลงตามสถานะของการปกครองหัวเมืองนั้นๆ
จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงสามารถบอกได้ว่ารัฐปาตานีกับกรุงศรีอยุธยามีความสัมพันธ์ทั้งความสวามิภักดิ์และการสู้รบแต่ทว่าด้วยความสัมพันธ์นี้จึงทำให้ รัฐปาตานีจึงเป็นรัฐแรกที่จัดถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองหรือภาษามลายูเรียกว่า (Bunga Emas Bunga Perak) และรัฐปาตานีถือเป็นรัฐที่กันชนของสยาม
๒.รัฐเคดาห์กับความสัมพันธ์ดอกไม้เงินดอกไม้ทองเมื่อต้นรัตนโกสินทร์
ตั้งแต่อดีตสมัยกรุงศรีอยุธยา รัฐเคดาห์ก็ได้ส่งจิ้มก้อมเครื่องราชบรรณาการให้สยามพร้อมดอกไม้เงินดอกไม้ทอง แต่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างจะโดดเด่นนั้น น่าจะเกิดขึ้นช่วง สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย คือเหตุการณ์ที่ เจ้าเมืองเคดาห์หรืออีกชื่อนึงคือ เจ้าพระยาไทรบุรี หากสังเกตจากชื่อแล้วจะทราบได้ว่าการใช้คำว่า เจ้าพระยา นั้น แสดงว่ารัฐเคดาห์หรือไทรบุรี ตกเป็นเมืองขึ้นของสยามตั้งนานแล้ว ในช่วงเวลาเกิดเหตุการณ์ที่รัฐเคดาห์ไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการให้สยาม ทำให้ใน พ.ศ. ๒๓๖๔ สยามได้ยกทัพไปปราบ ด้วยสาเหตุดังกล่าวแล้ว ยังมีใจที่จะสวามิภักดิ์กับพม่า ผลปรากฏว่าสยามชนะเคดาห์ จึงทำให้เจ้าพระยาไทรบุรีลี้ภัยไปอยู่ที่เกาะปีนัง สยามได้แทรกแซงการเมืองภายในของรัฐเคดาห์ทำให้ประชาชนในรัฐเคดาห์มีอคติกับสยาม ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวกินระยะว่าเวลาหลายสิบปี ทำให้สยามคิดใหม่เพราะรั่งแต่จะทำให้เสียหายมากกว่าได้ประโยชน์และอาจเกิดเรื่องบาดหมางกับอังกฤษที่ยึดครองเมเลเซียในเวลานั้น พร้อมทั้งให้สุลต่านเคดาห์ร่วมพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
๓.รัฐตรังกานูกับการส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทอง
รัฐตรังกานูสัยก่อนเป็นส่วนหนึ่งของรัฐปาตานี พร้อมทั้งนั้นยังส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองเครื่องราชบรรณาการให้กับสยามตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๒๔ สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีบันทึกว่า รัฐตรังกานูช่วยสยามรบกับเมืองนครศรีธรรมราชและได้รับชัยชนะ พระเจ้าตากสินจึงพระราชทานรางวัลให้กับรัฐตรังกานู สุลต่านแห่งตรังกานูจึงคิดประชุมกับขุนนางว่า จะให้มอบสิ่งใดเป็นของขวัญตอบแทน จนพ่อค้าชาวอินเดียคนหนึ่งชื่อนัสรุดดีน แนะนำให้ถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองเป็นการตอบแทนสยาม จึงทำให้ทุกๆ ๓ ปี รัฐตรังกานูส่งจิ้มก้องดอกไม้เงินดอกไม้ทองให้กับสยามจนถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เกิดเหตุการณ์ที่เกิดการวิวาทระหว่างพระเจ้าตรังกานูกับพระเจ้ากลันตัน ในสมัยนั้นรัฐกลันตันขึ้นตรงกับรัฐตรังกานู จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงทำให้กลันตันขอส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองต่อกรุงเทพฯโดยตรง
๔.รัฐกลันตันกับการส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทอง
การส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองไม่ทราบว่าเริ่มตั้งแต่สมัยใด แต่ได้มีการบอกเล่าจากคนในท้องถิ่นว่าในปี พ.ศ. ๒๓๔๔ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้มีการส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองเพื่อแสดงความสัมพันธ์อันดีกับสยาม พร้อมทั้งยังให้สยามยืนยันการขึ้นเป็นสุลต่านผู้ปกครองรัฐกลันตันและเพื่อยอมรับการเป็นสุลต่านของผู้ปกครองที่ต้องได้การรับรองจากสยาม
จากข้อมูลตัวอย่างของแต่ละเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ระหว่างราชอาณาจักรสยามกับสี่รัฐมลายูแล้ว จะสังเกตได้ว่าราชอาณาจักรสยามเปรียบการผูกมิตรไมตรีเป็นประเทศราชแทน
สรุป ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ความคิด แง่มุม ที่แตกต่าง
จากการที่ข้าพเจ้าศึกษาเรื่อง “ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง เครื่องราชบรรณาการความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรสยามกับสี่รัฐมลายู” ทำให้ข้าพเจ้าสามารถคิดได้ในหลากหลายแง่มุม เพราะการที่รัฐทั้งสี่นั้นได้ส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองให้กับสยามนั้น เป็นการแสดงความสัมพันธ์อันดีที่ต้องการสยามมาผูกมิตรไมตรี แต่กลับเป็นว่าสยามได้มีแนวคิดที่ว่า เป็นประเทศราชของสยาม เป็นรัฐกันชนของสยาม และยึดเพื่อแสวงหาผลประโยน์ชจากรัฐนั้นๆ จึงทำให้ทั้งสี่รัฐดังกล่าวต้องขอการยอมรับจากสยาม แต่สำหรับคนไทยหลายคนอาจจะคิดแล้วภาคภูมิใจกับการเป็นประเทศที่เหนือโดยไม่ได้มองถึงความเจ็บปวดที่ของรัฐทั้งสี่ได้รับ ทำให้ประวัติศาสตร์กลายเป็น “บาดแผล” ที่ลึกเกินเยียวยาจนถึงปัจจุบัน พร้อมทั้งยังคงสร้างสังคมการเหยียดเชื้อชาติและศาสนา ชาวมลายูมาอาศัยหรือชาติพันธุ์อื่นๆ ย่อมถูกพวกที่เรียกตนเองว่า “ไทยแท้ ” เหยียดหยามศักดิ์ศรีชาติพันธุ์ของตน จึงเป็นธรรมดาที่คนชาติพันธุ์อื่นจะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ กับการผูกมิตรไมตรีกับสยามหรือไทยเป็นการลดคุณค่าของผู้ต้องการเป็นมิตรให้ต่ำลง
ข้าพเจ้าขอให้เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ดังกล่าวเป็นเครื่องเตือนสติ เป็นทั้งบทเรียนที่ควรจำ และเครื่องเตือนใจเราทุกคนที่เป็น “ คน ”
//////////////////////////
Leave a Reply