สงกรานต์วิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย” วันเถลิงศก ๑๕ เมษายน ๒๕๖๕

“…ขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านเคารพนับถือ พร้อมด้วยพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จงคุ้มครองรักษาท่าน ให้มีสุขภาพแข็งแรง ปลอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ และภยันตรายทั้งหลายทั้งปวง พร้อมทั้งมีกำลังใจ มีความเข้มแข็ง สมบูรณ์ด้วยสติปัญญา ที่จะดำรงตนในทางที่ดี ที่เจริญ ซึ่งจะนำความสุขมาให้ทั้งตนเองและส่วนรวมตลอดไป…”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพรแก่ประชาชนชาวไทย เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๕ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๔

 

วันที่ ๑๕ เมษายน เรียกว่า “วันเถลิงศก” เป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติตามประเพณีนิยมของไทยแต่โบราณ ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ “วันเถลิงศก” ตรงกับ วันเสาร์ที่ ๑๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ เวลา ๑๓ นาฬิกา ๔๙ นาที ๔๘ วินาที จันทรคติ ตรงกับ วันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๓๘๔ โดยยึดการเปลี่ยนวันตามแบบจันทรคติ คือเปลี่ยนที่เวลารุ่งสาง (๖ นาฬิกา) เสมอ ทางสุริยคติ เป็น ปกติสุรทิน ทางจันทรคติ เป็น ปกติมาส ปกติวาร

“วันสงกรานต์” หรือ “วันขึ้นปีใหม่ไทย” เริ่มตั้งแต่เดิมเป็นวันตามจันทรคติ ตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ หรือประมาณเดือนเมษายน ภายหลังเปลี่ยนแปลงเป็นเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๓ เมษายน ตามสุริยคติ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนวิธีนับเป็นทางสุริยคติ โดยใช้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่

ถัดมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงให้รวมพระราชพิธี ซึ่งจัดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันไว้ในคราวเดียว และเมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ ๑ มกราคม เพื่อให้สอดคล้องกับนานาอารยประเทศ ตั้งแต่ปี ๒๔๘๔ เป็นต้นมา และได้ยึดถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีสงกรานต์ขึ้นใหม่ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๓ – ๑๖ เมษายน ซึ่งมีการบำเพ็ญพระราชกุศล และการพระราชพิธีต่าง ๆ ตามราชประเพณีเดิม พร้อมจัดให้มีเครื่องราชสักการะเพื่อพระราชทานแก่กระทรวงมหาดไทย เชิญไปถวายเป็นพุทธบูชาตามปูชนียสถานสำคัญ

ต่อมาปี ๒๕๑๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการบำเพ็ญพระราชกุศลในวันที่ ๑๕ เมษายน เพียงวันเดียว เรียกว่า “พระราชพิธีสงกรานต์” ได้แก่ สรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระบรมอัฐิและพระอัฐิ สรงน้ำปูชนียวัตถุ เจริญพระพุทธมนต์ เลี้ยงพระ และสดับปกรณ์ผ้าคู่ ภายในพระบรมมหาราชวัง เพื่ออนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม และทำบุญส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของไทย
ซึ่งในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีสงกรานต์ ในวันที่ ๑๕ เมษายน ของทุกปี ตามแบบอย่างในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมชนกนาถ โดยปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับกาลสมัย แต่ยังคงรักษาความสำคัญของราชประเพณีโบราณอันดีงามไว้โดยครบถ้วน ประกอบด้วย

❖ ภาคเช้า เสด็จพระราชดำเนินไปในการสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญ ณ หอพระสุราลัยพิมาน, สรงน้ำพระบรมอัฐิและพระอัฐิ ณ หอพระธาตุมณเฑียร และเจริญพระพุทธมนต์ เลี้ยงพระ สดับปกรณ์ผ้าคู่ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง ในเวลา ๑๐.๓๐ น.
❖ ภาคบ่าย เสด็จพระราชดำเนินไปในการสรงน้ำปูชนียวัตถุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง และสดับปกรณ์ผ้าคู่ ณ หอพระนาก ในพระบรมมหาราชวัง ในเวลา ๑๗.๐๐ น.

อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงาน “เถลิงศกสุขสันต์ มหาสงกรานต์ ตำนานไทย” ขึ้น ระหว่างวันที่ ๖ – ๘ เมษายน ๒๕๖๑ ณ พระลานพระราชวังดุสิตและสนามเสือป่า เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชในมหาจักรีบรมราชวงศ์ และเป็นการส่งเสริมสืบสานศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของชาติ
ซึ่งในโอกาสดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ “พระพุทธกำเนิดกาสาวพัตร์” พระพุทธรูปสำคัญที่หล่อขึ้นเมื่อครั้งทรงผนวช เมื่อปี ๒๕๒๑ มาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการะและสรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและประเทศชาติ ทั้งเพื่อสืบสานพระราชปณิธาน “ธรรมราชินี” ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

 

เพจ เฉลิมพระเกียรติองค์ราชัน เฉลิมพระขวัญองค์ราชินี เรียบเรียงและเผยแพร่

Leave a Reply