การปฏิบัติธรรมของนิสิต ม.มจร.คือโอกาสของ “การทำความดี เพื่อสร้างความสุขให้กับชีวิต” ?

@ ช่วงนี้ที่มหาวิทยาลัยของผม โดยเฉพาะคณะพุทธศาสตร์มีการเข้าปฏิบัติธรรมกันที่อาคาร มวก. วังน้อย อยุธยา ซึ่งเป็นการปฏิบัติในวันนี้เป็นวันแรก คือ ตี ๔ วันนี้ก็คงต้องพากันตื่นขึ้นมาสวดมนต์ ไหว้พระและปฏิบัติธรรมกัน เพื่อค้นหาความสงบหรือสร้างความสงบให้เกิดกับชีวิตในช่วงที่กำลังเรียนหรือกำลังศึกษาอยู่ โดยมหาวิทยลัยมหาจุฬาฯ เน้นย้ำในเรื่องของการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับพันธกิจของพระพุทธศาสนา หรือสอดคล้องกับอุดมการณ์ในทางพระพุทธศาสนาตามหลักโอวาทปาติโมกข์ (ที.ม. (ไทย) ๑๐/๙๐/๕๐.)คือ

(๑) เน้นการละเว้นความชั่วทุกชนิด (สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง) ซึ่งเป็นหลักการข้อแรกที่จำต้องเน้น ส่วนจะทำได้มากน้อยก็ขึ้นกับแต่ละบุคคล เพราะความสามารถของแต่ละคนนั้น “แตกต่างกัน” แต่สิ่งที่ไม่แตกต่างคือทุกคนมีสิทธิในการที่จะตัดสินใจทำหรือไม่ทำเท่านั้นเอง “อักขาตาโร ตะถาคะตา = ตถาคตเป็นเพียงผู้บอกส่วนว่าเธอทั้งหลายจะทำหรือไม่ทำนั้น “Up to you” แปลว่า แล้วแต่เอง…จะทำ

(๒) เน้นการสร้างความดีในทุกมิติ หรือทุกแนวทาง(กุสะลัสสู ปะสัมปะทา) ความดี แปลว่าอะไรไม่ต้องไปถาม แต่ถ้าขึ้นชื่อว่าความดีล้วนเป็นสิ่งที่จะต้องทำ หรือควรทำ ถ้าไม่ทำก็ยังไม่ถือว่าเป็นคนดี ดังนั้น การที่จะเป็นคนดีหรือขึ้นชื่อว่าคนดี ต้องทำความดีเท่านั้น พวกอยู่เฉยๆไม่ซ้ายไม่ขวา ประเภทความชั่วไม่มีความดีไมาปรากฏ มหาวิทยาลัยของผมท่านว่า เป็นพวกไม่พึงประสงค์ ที่ประสงค์คือท่านต้องการให้ทำความดี คือ (๑) คิดดี (๒) ทำดี และ(๓) พูดดี)

นอกนั้นความดียังพิจารณาได้จากการแสดงออกในเชิงพฤติกรรมอีกด้วย คือ (๑)ดีทางกาย เรียก กายสุจริต (๒)ดีทางวาจากเรียกว่า วจิีสุจริต และ(๓)ดีทางใจเรียกว่า มโนสุจริต (ที.ปา.ไทย)๑๑/๓๐๕/๒๖๐.)ซึ่งความดีนี้จะต้องมีพื้นฐานตั้งอยู่บนสิ่งที่เรียกว่า

(๑) ศีล คือความมีระเบียบวินัย เคารพกฏเกณฑ์ของสังคม ตื่นแต่ตี ๔ ก็ต้องตื่นตามกันว่าตามกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย อันนี้เรียกว่าคนมีศีล คือมีระเบียบวินัย

(๒) สมาธิ ได้แก่ การทำจิตใจให้โปรดโปร่งเข้มแข็ง และมั่นคงตั้งมั่น กล่าวสั้นๆคือทำจิตให้เกิดมีสติและสมาธิ

(๓) ปัญญา คือ การรักษษศีลก่อให้เกิดสมาธิได้ง่าย เมื่อจิตเป็นสมาธิก็จะก่อให้เกิดปัญญา (ม.มู.(ไทย)๑๒/๕๐๘/๕๔๙.)

ผมว่าบ้านเราสอนธรรมะกันเพี้ยนๆ คือเวลาสอนธรรมะชอบสอนเป็น “ข้อๆ” สอนข้อที่ (๑)จบแล้วก็จบไปไม่ต่อข้อที่สอง พอสอนข้อที่สองไปจบก็จบข้อที่(๒)เอาไว้แค่นั้นไม่เชื่อมไปหาข้อที่(๓) พอสอนข้อที่ (๓)เสร็จก็จบกันเลยแบบดื้อๆ คนอื่น คนฟัง “งง”ไปตามๆกัน มันไม่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าท่านสอนสักเท่าไหร่ เวลาพระพุทธเจ้าท่านสอนท่านจะสอนแบบ “ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ” คือ สอนธรรมให้เชื่อมโยงหรือสอดคล้องกันเป็นแบบวงจรหรือลูกโซ่ สอนแบบพระพุทธเจ้านั้นจะทำให้เข้าใจธรรมแบบเป็นเนื้อเดียวกัน แต่นักธรรมกถึก หรือนักวิชาการบ้านเราแยกสอนเป็นข้อๆเลยทำให้คนไม่ค่อยเข้าใจธรรมะสักเท่าไหร่

(๓) เน้นให้มีการฝึกฝนจิตใจให้มีความสงบ (สะจิตตะปะริโยทะปะนัง) เป็นข้อสุดท้ายที่มุ่งให้ผู้เรียนมีหรือมีโอกาสที่จะมีหรือได้มี เพราะเมื่อทางมหาวิทยาลัยเปิดโอกาส หรือเปิดพื้นที่ให้เมื่อไหร่ การลงมือทำก็จะมีเมื่อนั้น ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้นิสิตรั้วสีชมพู “ทุกกระดับชั้น คือตั้งแต่ ป.ตรี โท เอก”เข้าปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั้งหมด ถ้าไม่เข้ากรรมฐานก็ไม่มีสิทธิสำเร็จการศึกษา และนี่คือ “กฏเหล็ก”ของพวกเราในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนาหนึ่งในสองแห่งของประเทศ

ซึ่ง การฝึกจิตนี้ถือว่าเป็น “ภาระหน้าที่ของชาวพุทธทั้งฆราวาสและพระสงฆ์องค์เณร”เพราะสมาธิหรือการฝึกจิตนี้เองที่เป็นช่องทางหนึ่งที่จะนำไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์อันเนื่องมาจากการบรรลุธรรม นั่นเอง ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงมุ่งหวังที่จะให้ผู้เรียนทุกระดับชั้นได้ฝึกฝนตนเองเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้ได้ ส่วนจะได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความพยายามและบุญของแต่ละบุคคลนั่นเอง

@ ในสามข้อตามหลักโอวาทปาติโมกข์นั้นที่ผมว่ามาตั้งแต่ต้น (กรุณาตามให้ทัน) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯเราถือเป็นพันธกิจในการสร้างองค์ความรู้ให้เกิดกับนิสิตทั้งพระและฆราวาสที่มาเรียนให้ครบตามหลักคำสอนที่เป็นอุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา คือสอนให้ผู้เรียนละเว้นความชั่ว สร้างสมความดีและพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ที่มีความมั่นคง ในพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ที่เป็นสรณะอันเกษมสูงสุดของเรา

ดังนั้น การกำหนดให้ทุกปีต้องมีการปฏิบัติธรรมจึงถือว่าเป็น “ประเพณี”ที่สำคัญของมหาวิทยาลัยที่ได้ปฏิบัติมากว่า ๗๐ ปีแล้ว และเราก็จะสืบทอดประเพณีนี้สืบต่อไปเรื่อยๆตราบที่พระพุทธศาสนาจักยังคงอยู่ในแผ่นดินนี้

@ การปฏิบัติธรรม…เพื่อดับทุกข์ ?

การปฏิบัติธรรม ถามว่าเพราะอะไรพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ปฏิบัติธรรม และวิธีการปฏิบัติธรรมนั้นคืออะไร ? เราควรปฏิบัติธรรมกันแบบไหนจึงจะเหมาะสม ? คำถามยาวเลย แต่จะขอตอบเป็นเรื่องๆเอาแบบสั้นๆแต่ได้ความหมายก็แล้วกัน

ก. ความหมาย

คำว่าปฏิบัติธรรมนั้น หมายถึงการปฏฺบัติเพื่อสั่งสมความดี ความงามที่ถูกที่ควร ซึ่งคำว่าปฏิบัติธรรมนั้นหากมุ่งถึงความหมายที่เข้าใจกันชัดเจนก็คือ การปฏิบัติกรรมฐานนั่นเอง โดยกรรรมฐานนั้น หมายถึง ที่ตั้งแห่งการงาน อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ อุบายทางใจ วิธีฝึกอบรมจิต (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต): ๒๕๔๓: ๑๑) โดยกรรมฐานหรือการปฏฺบัติกรรมฐานนี่แหละที่เราเรียกและเข้าใจกันตามเนื้อหาภาษาว่า คือ “การปฏฺบัติธรรม”

ข.วิธีปฏฺบัติธรรมนั้นทำอย่างไร ?

การปฏิบัติธรรมหรือการปฏิบัติกรรมฐานนั้น ถามว่าทำอย่างไร คำตอบก็คือการปฏิบัติเพื่อเป็นการฝึกจิตให้สงบ โดยกรรมฐานนั้นแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

(๑) สมถกรรมฐาน หมายถึงการฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบจนตั้งมั่นเป็นสมาธิ สมถะแปลว่าความสงบ ในความหมายโดยทั่วไป สมถกรรมฐานจึงหมายถึงวิธีทำจิตให้สงบ หรือ“ธรรมเป็นเครื่องสงบระงับจิต ธรรมยังจิตให้สงบระงับจากนิวรณูปกิเลสหรือฝึกจิตให้สงบเป็นสมาธิ”(พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต): ๒๕๔๓: ๑๔)

(๒) วิปัสสนากรรมฐาน หมายถึงข้อปฏิบัติในการฝึกฝนอบรมเจริญปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งในรูปนามโดยความเป็นไตรลักษณ์หรือรู้แจ้งต่อสภาวะของรูปนามตามความเป็นจริงพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต): ๒๕๔๓: ๘๑)

ชาวพุทธเราจะเข้าใจกันดีว่า กรรมฐาน ๒ ประการนี้มีความแตกต่างกันในแง่ของการปฏิบัติ แต่ในแง่เป้าหมายั้นถือว่าเป็นสิ่งที่นำไปสู่เป้าหมายเดียวกันก็คือ “การบรรลุธรรม”หรือการเห็นแจ้งในความจริงขั้นสูงสุดตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาก็คือการกำจัดกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง

ค.การปฏฺบัติธรรมมุ่งถึงการกำจัดทุกข์ หรือเพื่อสิ่งใด ?

ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนานั้น “การปฏิบัติธรรม”นั้นมุ่งถึง (๑) ความสงบทางจิต ความตั้งมั่นของจิต (๒) ความที่จิตมีสมาธิทั้งในส่วนของความเป็นเอกัคคตาจิต และการรู้ตัวเองอยู่ทุกขณจิตหรือการมีสติ (๓) มุ่งถึงการชำระจิตให้สะอาด คือการกั้นจิตจากการรับอารมณ์ภายนอกเข้ามาปรุงแต่งจิตจนก่อให้เกิดการกระทำที่ก่อให้เกิดความทุกข์ (๔) มุ่งถึงการชำระกิเลส คือความเศร้าหมองออกไปจาก เมื่อจิตไม่มีกิเลสย่อมก่อให้เกิดความสุข หรือสามารถกำจัดความทุกข์ได้

จะเห็นว่าที่อธิบายหรือแจกแจงมาทั้งหมดนั้น การปฏฺบัติธรรมไม่ได้มุ่งถึงการกำจัดความทุกข์เพื่อหมดกิเลสาวะอย่างเดียวแต่เป็นการมุ่งหวังความสงบทางจิตด้วย ซึ่งการปฏิบัติธรรมนั้นไมใช่ว่าจะปฏฺบัติแล้วกำจัดกิเลสได้เลย แต่เป็น “อุบายสำหรับทำให้จิตสงบและเมื่อจิตสงบก็จะมองเห็นปัญหา หรือความทุกข์ เมือเรามองเห็นปัญหาหรือความทุกข์แล้ว ย่อมสามารถที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้

อนึ่ง พระพุทธศาสนาเห็นว่า โลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์และทุกข์เท่านั้นที่เกิดและที่ดับนอกจากนั้นไม่มีสิ่งใดเลย ดังปรากฎในข้อความที่ว่า

อนึ่ง ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น
ทุกข์เท่านั้นดำรงอยู่และแปรผันไป
นอกจากทุกข์ ไม่มีสิ่งอื่นเกิดขึ้น
นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรอื่นดับไป(สํ.ม.(ไทย)๑๕/๑๑๗)

โดยที่มูลเหตุของทุกข์นั้นก็มาจากมนุษย์ถูกครอบงำด้วยกิเลสทำให้เกิดความไม่รู้หรืออวิชชา ตามความเป็นจริงว่า อะไรคือทุกข์ อะไรคือสาเหตุแห่งทุกข์ อะไรคือผลการดับทุกข์ และอะไรคือมรรคหรือหนทางที่จะเดินไปสู่การดับทุกข์ได้(วิ.ม. (ไทย) ๔/๑๔/๒๑.)

ดังนั้น การปฏฺบัติธรรม ในความมุ่งหมายหลักๆก็คือการหาวิธีการที่จะสามารถเข้าไปดับทุกข์ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับต้นจนถึงระดับที่ยากแก่การแก้ไข

ซึ่งในการมาปฏิบัติธรรมของนิสิตมหาวิทยาลัยของผมที่วังน้อยนี้ เบื้องต้นไม่ได้มุ่งหวังให้นิสิตดับทุกข์ในวัฏฏะได้ เอาแค่ว่าเป็นการหาอุบายเพื่อที่จะให้เขาเหล่านั้นสามารถทำจิตให้สงบ มีสติและสามารถแก้ไขปัญหาชีวิตในเบื้องต้นให้ได้ก่อน พอเ็นแนวทางในการแสวงหาความสุขและแก้ไขความทุกข์ก่อนที่พวกเขาจะเรียนศึกษาจนจบครบกระบวนการตามหลักสูตรที่มีอยู่เท่านั้นเอง แต่ก็อย่างว่า ๑๐ วันนี้นิสิตโดยมากจะรู้สึกว่าตนเองถูกขังคุกบ้าง อาจจะมีปฺกิริยาบ้างก็ถือว่าเป็นปกติธรรมดาของการแก้ไขปัญหาชีวิตหรือปัญหาทางจิต ที่จำต้องกักขังและปล่อยวางจิตใจของตนเองให้ได้ เพราะจิตเป็นสิ่งที่ฝึกได้ยาก แต่เมื่อฝึกได้แล้วจิตย่อมนำความสุขมาให้เราได้ครับ

ขอบคุณครับ

Cr.FB-Naga King

Leave a Reply