พระ “ขี้เหนียว”

“เปรียญสิบ” คิดว่าผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินวาทกรรมแบบนี้ แม้แต่เปรียญสิบเองก็เคยได้ยินมาแบบนี้และบางครั้งก็..เออใช่ไปด้วย  วันก่อนคุยกับ “เจ้าคณะจังหวัดรูปหนึ่ง” ท่านก็บอกว่า พระเราขี้เหนียว

“เปรียญสิบ” เคยดำรงตำแหน่งรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดหนึ่ง ความจริงเจ้าอาวาสมีค่าใช้จ่ายมากมาย ที่หลายคนไม่รู้ เพราะวัด ก็เปรียบเสมือน “บ้านหลังหนึ่ง” ที่มีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ฟรีเป็นจำนวนมาก ทั้งพระภิกษุสงฆ์ ทั้งสามเณร และเด็กวัด เฉพาะค่าน้ำ ค่าไฟ สำหรับวัดเล็กๆ ก็นับหมื่นบาทแล้ว อันนี้เป็นภาระหน้าที่ของเจ้าอาวาสต้องแสวงหา ยิ่งวัดใหญ่ สำนักเรียนค่าใช้จ่ายยิ่งเพิ่มเป็นเงาตามตัวการตกเป็น “จำเลยสังคม” ว่า พระขี้เหนียว น่าเห็นใจสำหรับเจ้าอาวาสวัดที่ “ไม่มีรายได้” อะไร นอกจากเงินกิจนิมนต์หรือเงินบริจาค

แต่สำหรับวัดใหญ่ๆ ที่มีรายได้ทั้งจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด ทั้งจากการท่องเที่ยว เป็นพระเกจิอาจารย์ หรือแม้กระทั่งเป็นนักโหราจารย์ อันนี้..น่าคิดว่า..ท่านเอาเงินไปทำอะไร

ปกติ “เปรียญสิบ” ไม่ค่อยได้เข้าไปข้องยุ่งเกี่ยวกับพระภิกษุสงฆ์เท่าไร หากจะเข้าไปนับครั้งได้ เช่น เมื่อปีที่แล้วตาม “เจ้าคุณ” รูปหนึ่งไปงานทอดผ้าป่ากองทุนเล่าเรียนหลวง ตอนนั้นมีพระร่วมบริจาคเยอะ เพราะต้องการยอดให้ทะลุ 20 ล้านบาท “เจ้าคุณ” รูปดังกล่าวบริจาคไป 1 แสนบาท

หรือล่าสุดประชุมร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้องลงขันการทำงานเพราะงบประมาณไม่มี พระร่วมประชุมเจอไปรายละ 1 หมื่นบ้าง 2 หมื่นบ้าง แบบนี้สังคมจะตราหน้าว่า “พระขี้เหนียว” คงไม่ได้“เปรียญสิบ” เองก็เจอหลายครั้ง ประเภทใช้ให้ขับรถบ้าง ทำงานบ้าง เงินไม่ได้สักบาท ทั้งที่วัดหรืองานที่เราทำรู้ทั้งรู้ว่าท่านใช้เงินวัด เงินบริจาค การจัดงานเสียเงินมากมาย แต่ในขณะที่เราคนทำงาน “ค่าน้ำมัน” ไม่ได้สักบาท แบบนี้ไม่รู้ว่าเราจะไปว่า “พระขี้เหนียว” ได้หรือไม่ หรือจะด่าตัวเองว่า “เสือก” ทำเอง

สรุปแล้ว..คำว่า “พระขี้เหนียว” กับ “พระรู้จักใช้เงิน” และ “พระไม่มีเงิน” อันไหน “ควร” ใช้ตราหน้ามากกว่ากัน

“เปรียญสิบ” คิดว่าชาวพุทธต้องแยกแยะให้ออก ต้องดูให้เป็นว่า พระรูปไหนมีเงิน พระรูปไหนไม่มีเงิน พระรูปไหนอยู่ในสถานะอะไร บางรูปเป็นเจ้าอาวาสวัดที่ขาดรายได้..อันนี้ควรขี้เหนียว

แต่บางรูปวัดมีรายได้ ตนเองก็มีรายได้ เพราะมีสมณศักดิ์สูง มีตำแหน่งสูง  ไม่มีภาระอะไร ประเภท “สะสม” อย่างเดียว หรือบางรูป “ขี้เหนียว” ไม่ว่า แต่ดันไป “เลี้ยงสีกา” ทะลึ่งเอาเงินวัดไป “สร้างรีสอร์ท” หรือแม้กระทั่งส่ง “ลูกหลาน” เรียนหนังสือ หรือให้ไป “เปิดกิจการค้าขาย” แบบนี้ ชาวพุทธนอกจากต่อว่า “ขี้เหนียว” แล้ว ต้องลงทัณฑ์ประจานโทษความเป็น “อลัชชี” ใช้ผ้าเหลืองหากินให้สังคมรับรู้ด้วยเป็นการดี

เพื่อมิให้พระรูปอื่นเอาแบบเยี่ยงอย่างในความเป็น “เหลือบไร” เกาะกินศาสนา

แต่ก็มีหลายรูป..เท่าที่รู้จัก ส่งพระเณรเรียนหนังสือ สร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน หรือสร้างสาธารณประโยชน์อื่นๆ  อันนี้..น่ายกย่อง

เพราะฉะนั้นวาทกรรมว่า “พระขี้เหนียว” คงอยู่ที่ใครเจอพระแบบไหนมา

มีคนขับรถวัดแถวอีสานมาเล่าให้ฟังว่า แม้กระทั่ง “สมเด็จบางรูป” ไปงาน อย่าว่าแต่ “ทิป” ตบรางวัลคนขับรถเลย..ไปงานฉลองพัดยศหรืองานศพพระเถระผู้ใหญ่..จีวรสักไตร ยังไม่เคยถวายเจ้าภาพแบบนี้ก็มี

สังคมเจอประสบการณ์แบบนี้มั้งวาทกกรรมว่า “พระขี้เหนียว” จึงดังมากขึ้นทุกวัน!!

………………………

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย…“เปรียญสิบ”

Leave a Reply