‘แผนที่กรุงธนบุรีจากพม่า’

          บทความนี้ปรากฏในเพจเฟซบุ๊กสยามเทศะ โดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2562 เนื้อหาสาระน่าติดตามกรุงธนบุรีในหลักฐานพม่า เป็นแผนที่ชนาดใหญ่ที่แสดงชัดเจนถึงเขตตัวเมืองสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยา(พม่าเรียกว่ามหานที)และให้ความสำคัญที่ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นวังหลวงมากกว่าฝั่งตะวันออก

         แผนที่เมืองธนบุรีซึ่ง คุณนิรมล เมธีสุวกุล ได้รับอนุญาตจากนักวิชาการในย่างกุ้ง อาจารย์หม่อง หม่อง ทิน [Prof. Muang Muang Tin] อนุญาตให้ถ่ายภาพแผนที่ชิ้นนี้ที่เขียนลงบนแผ่นกระดาษขนาดใหญ่ราว ๓x๖ ฟุต เขียนด้วยสีฝุ่นสีสันสวยงาม ตัวหนังสือในแผนที่เป็นภาษาพม่า อาจารย์สุเนตร ชุตินธรานนท์ แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย จึงจัดแปลเป็นภาษาอังกฤษตามที่ปรากฎ เขียนข้อมูลสันนิษฐานไว้อย่างน่าสนใจใน “กรุงธนบุรีในหลักฐานพม่า” ว่า

        แผนที่แสดงไว้ชัดเจนว่าเขตตัวเมืองครอบคลุมพื้นที่ทั้งสองฟากเจ้าพระยา (คำพม่าเรียกแม่น้ำเจ้าพระยาว่ามหานที) ฝั่งตะวันตกเป็นวังหลวงคงให้ความสำคัญมากกว่าเพราะมีรายละเอียดมากกว่าฝั่งตะวันออก

      ริมเจ้าพระยาตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยลงไปถึงปากคลองบางหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่ คือเขตเมืองฟากตะวันตกจะเห็นว่ามีกำแพงล้อมเมืองอยู่ทั้งสี่ด้าน มีประตูเข้าทั้งหมด ๒๑ ประตู ตรงมุมด้านใต้ตรงปากคลองบางหลวงซึ่งมีรูปปืนใหญ่น่าจะเป็น ป้อมวิชัยประสิทธิ์ พื้นที่ในกำแพงเมืองจะเห็นว่ามีทางเชื่อมถึงกันหมด โดยมีคลองเชื่อมจากแม่น้ำตัดขวางออกคลองคูเมืองเพียงเส้นเดียว ซึ่งน่าจะเป็นคลองบางหว้าใหญ่ข้างวัดระฆัง ส่วนคลองมอญและคลองนครบาลไม่ปรากฏในแผนที่นี้

      จะเห็นว่าแนวคลองและแนวกำแพงวังแบ่งพื้นที่เป็น ๓ ส่วนโดยประมาณ คือ กรอบสี่เหลี่ยมด้านขวาสุดติดกับป้อมปืนคือ เขตพระราชวัง ซึ่งในพงศาวดารระบุว่าถือตามแนวกำแพงเมืองเดิม โดยรวมเอาวัดแจ้งและวัดท้ายตลาดไว้ในเขตวังหลวงด้วย หากยึดข้อมูลนี้กำแพงวังน่าจะกว้างถึงคลองเหนือวัดอรุณฯ เป็นอย่างน้อย

     ภายในกำแพงวังจะเห็นแนวกำแพงอีกชั้นหนึ่ง ผู้เขียนเน้นให้ดูใหญ่และมิดชิดแน่นหนาเป็นพิเศษ น่าจะเป็นที่ประทับของพระเจ้าตากสินหรือเป็นเขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งทั้งพระตำหนักและแนวกำแพงวังไม่เหลือร่องรอยให้เห็นแล้วในปัจจุบัน ท่าน้ำริมเจ้าพระยา ตรงประตูซึ่งเชื่อมถึงตำหนักในได้พม่าระบุไว้ว่าเป็น “ท่าขึ้นวัง” ส่วนประตูเข้าวังที่อยู่ถัดมาทางซ้ายมีชื่อว่า “ประตูถือน้ำพระพิพัฒน์” จึงเป็นไปได้ที่รูปอาคารหลังใหญ่ริมกำแพงวังด้านเหนือจะเป็นท้องพระโรงซึ่งพระเจ้าตากสินเสด็จออกว่าราชการ แต่จะเป็นท้องพระโรงหลังเดียวกับที่อยู่ในวังเดิมหรือไม่คงบอกไม่ได้

    พื้นที่สี่เหลี่ยมถัดมาซึ่งอยู่ตรงกลางพระนครนั้น มีรูปอาคารเด่นสะดุดตาอยู่หลังหนึ่งแวดล้อมด้วยรูปเรือนเล็กๆ เป็นจำนวนมากบรรยายว่าเป็น “บ้านพระยาจักรี” ซึ่งน่าจะหมายถึงที่ประทับเดิมของรัชกาลที่ ๑ น่าสังเกตว่าในพงศาวดารและในบันทึกเก่าๆ เช่น ในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนริทรเทวีนั้น กล่าวถึงบ้านขุนนางผู้ใหญ่ในสมัยพระเจ้าตากสินฯ ว่าอยู่ในเขตกำแพงฟากตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ และมีอย่างน้อยสองท่านซึ่งพำนักอยู่ที่เดิมทั้งสองแผ่นดินคือ “เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์” หรือ “พระยาสุริยอภัย” ในแผ่นดินพระเจ้าตากสินบ้านอยู่ที่ชุมชนบ้านปูน (แถวศิริราช) มาแต่เดิม ต่อมาในรัชกาลที่ ๑ จึงสถาปนาเป็นกรมพระราชวังหลัง ส่วนอีกท่านคือ “เจ้าพระยาธรรมธิกรณ์” ซึ่งเป็นเจ้ากรมวังครั้งกรุงธนบุรี บ้านของท่านอยู่ใกล้ปากคลองมอญบริเวณเดียวกับบ้านพระยาจักรี

     พื้นที่กรอบซ้ายสุดอยู่ติดคลองบางกอกน้อย น่าจะป็นโรงช้างต้นแน่ ในพระราชพงศาวดารกล่าวถึงช้างทรงของพระเจ้ากรุงธนบุรีว่ามีทั้งหมด ๔ เชือก จึงเป็นเรื่องบังเอิญมากที่รูปช้างในแผนที่นี้ก็มีอยู่ ๔ เชือกเช่นเดียวกัน (อีกเชือกหนึ่งอยู่ฟากตะวันออก)

    บริเวณปากคลองตรงมุมขวาควรจะเป็นวัดบางว้าใหญ่หรือวัดระฆัง เพราะพม่าเขียนว่า “ท่าขึ้นวัด” ถัดมาทางซ้ายมือน่าจะเป็นฉางเกลือและชุมชนบ้านปูน ตรงคลองคูเมืองด้านตะวันตกซึ่งติดมาให้เห็นเพียงบางส่วนนั้น มีเครื่องหมายชี้ไปทางคลองบางกอกน้อยบอกว่าทางไปสุสานและอู่เก็บเรือ ทำให้พอเห็นเค้าว่าอู่เก็บเรือหลวงนั้นอยู่คลองบางกอกน้อยมาแต่เดิม ส่วนสุสานที่ระบุไว้ น่าจะเป็นสุสานแขกริมคลองฝั่งใต้ซึ่งทางรถไฟได้ผ่านทับไปหมดแล้ว

   ข้ามฟากมาด้านตะวันออกเขตกำแพงชั้นในระบุว่าเป็น “วังลูกเจ้าเมืองบางกอก” ซึ่งน่าจะหมายถึงพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์ ในแผ่นดินพระเจ้าตากสิน ตรงมุมซ้ายในกำแพงเมืองมีรูปเรือนอยู่หลังหนึ่งเขียนว่าเป็น “บ้านหัวหน้าชาวจีน” ในที่นี้น่าจะหมายถึงบ้านพระยาราชาเศรษฐี ผู้ดูแลชาวจีนซึ่งอยู่กันอย่างหนาแน่นตามริมน้ำฟากตะวันออก เรือนแพที่เห็นเรียงเป็นแถวในแม่น้ำคือชุมชนชาวจีน…..

Leave a Reply